ก.ล.ต. กล่าวโทษนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน พร้อมทั้งกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ บมจ. ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น

ข่าวทั่วไป Friday March 13, 2009 17:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--ก.ล.ต. ก.ล.ต. กล่าวโทษนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน พร้อมทั้งกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ บมจ. ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น บริษัท สีลมแพลนเนอร์ จำกัด บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด และผู้เกี่ยวข้อง รวม 12 ราย กรณีร่วมกันทุจริต ยักยอกเงิน และหุ้นบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นทรัพย์สินของ บมจ. ปิคนิคฯ สืบเนื่องจากบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“บ.ปิคนิคฯ”) ได้เปิดเผยข้อมูลในการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อขอ SP หุ้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2551 ก่อนขอเข้าฟื้นฟูต่อศาลล้มละลายกลางว่า ได้โอนหุ้นบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด (“WG”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย 100% ของ บ.ปิคนิคฯ ให้เจ้าหนี้ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นเจ้าหนี้รายใด เมื่อไร อย่างไร แต่มีผู้แจ้งเบาะแสว่าเป็นการโอนโดยทุจริต ในราคาต่ำกว่ามูลค่า เพื่อยักยอกหรือถ่ายเททรัพย์สินของ บ.ปิคนิคฯ ให้บุคคลอื่น อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (“พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ”) จากการตรวจสอบ รวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานจากผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการขอหมายศาลอาญา เพื่อเข้าตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้อง สำนักงาน ก.ล.ต. พบพยานหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่า นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน ในฐานะผู้สั่งการ ร่วมกับกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ บ.ปิคนิคฯ 3 ราย คือ นายสุเทพ อัคควุฒิไกร นายภานุวรรษ เลิศวิเศษ และนางสาวศศิธร วุฒิรุ่งเรืองสกุล รวมทั้งบริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด (“AMC”) นางวันดี โตเจริญ (กรรมการ AMC ขณะเกิดเหตุ) นางสาวลักขณา แสวงหา (กรรมการ AMC ขณะเกิดเหตุ) บริษัท สีลมแพลนเนอร์ จำกัด (“บ. สีลมฯ”) นายสนทยา น้อยเจริญ นายธรรมนูญ ทองลือ หม่อมหลวงชัยภัทร ชยางกูร และนายทนงศักดิ์ ศรีทองคำ ทำการทุจริต ยักยอกเงิน และหุ้น WG ซึ่งเป็นทรัพย์สินของ บ.ปิคนิคฯ ทำให้ บ.ปิคนิคฯ เสียหาย โดย 1. ให้ บ.ปิคนิคฯ แต่งตั้งให้ บ. สีลมฯ เป็นที่ปรึกษาในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน และตั้ง AMC ขึ้น เพื่อเป็นตัวกลางในการซื้อลดหนี้ บ.ปิคนิคฯ โดยสามารถเจรจาซื้อหนี้ บ.ปิคนิคฯ จากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ซึ่งมีมูลหนี้ 169 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยค้างชำระ ในราคา 63 ล้านบาท โดยให้ AMC เป็นผู้รับโอนหนี้และสวมสิทธิในหนี้ดังกล่าว 2. ให้ AMC ทำสัญญาลงวันที่ 27 กันยายน 2550 ให้ บ. ปิคนิคฯ ชำระหนี้ที่ AMC ซื้อมา 63 ล้านบาทนั้น แก่ AMC ในจำนวน 150 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 4 งวด แต่ได้มีการเร่งชำระก่อนกำหนด เพื่อให้ AMC นำเงินไปชำระการซื้อหนี้ให้แก่สถาบันการเงินดังกล่าว และส่วนที่เหลือคือส่วนที่ดำเนินการให้ บ.ปิคนิคฯ เป็นหนี้เกินกว่าที่ควรต้องรับภาระ เพื่อเป็นเหตุอำพรางในการยักยอกเงินที่จ่ายชำระหนี้ ในส่วนที่เกินนั้นออกไป 3. หลังจากนั้น ได้ดำเนินการให้ บ.ปิคนิคฯ ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาข้างต้น โดยมีหนี้ที่ยังมิได้ชำระตามสัญญา 75 ล้านบาท และใช้การผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวเป็นเหตุอำพรางให้ บ.ปิคนิคฯ ทำสัญญาอีกฉบับลงวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ปรับปรุงกำหนดเวลาชำระหนี้ 75 ล้านบาทให้แก่ AMC โดยงวดแรก ให้ชำระ 10 ล้านบาทภายในวันที่ 17 ธันวาคม 2550 และให้ บ.ปิคนิคฯ โอนลอยหุ้น WG ทั้งหมด 7.99 ล้านหุ้น (ร้อยละ 99.99 ของทุนชำระแล้วของ WG) ที่ซื้อมาในปี 2547 มูลค่า 1,011 ล้านบาท และมีมูลค่าตามบัญชีตามงบการเงินล่าสุดในขณะนั้น 711 ล้านบาท เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ 75 ล้านบาทดังกล่าว 4. เมื่อถึงกำหนดชำระเงินงวดแรก 10 ล้านบาท ได้ดำเนินการให้ บ.ปิคนิคฯ ผิดนัดชำระหนี้อีกครั้ง เพื่อเป็นเหตุอำพรางให้ AMC ยึดหุ้น WG ที่โอนลอยไว้แล้วดังกล่าวทั้งหมด และให้กรรมการ WG แจ้งเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจาก บ.ปิคนิคฯ เป็น AMC ในวันที่ 25 ธันวาคม 2551 การกระทำข้างต้นทั้งหมดไม่ได้ขออนุมัติจากคณะกรรมการ บ.ปิคนิคฯ แต่อย่างใด 5. คณะกรรมการ บ.ปิคนิคฯ ได้มีมติให้ดำเนินการทางอาญากับผู้บริหารที่กระทำทุจริต และทางแพ่งเพื่อเรียกให้ AMC โอนหุ้น WG คืนให้ บ.ปิคนิคฯ ซึ่งในระหว่างที่ยังฟ้องร้องกันอยู่นั้น ได้มีการยักยอกเงินและทรัพย์สินอื่นออกไปจาก WG ในหลายรูปแบบ เป็นเหตุให้หุ้น WG เสื่อมค่า ซึ่งจะทำให้ บ.ปิคนิคฯ เสียหาย แม้หากจะได้รับโอนหุ้น WG นั้นคืนในที่สุด 6. นอกจากสัญญาทั้ง 2 ฉบับที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังให้ บ.ปิคนิคฯ ทำสัญญากับ AMC อีก 1 ฉบับ เพื่อจ่ายเงินมัดจำจำนวน 50 ล้านบาทในการซื้อหนี้ของ บ.ปิคนิคฯ จากสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่ง แต่กลับยักยอกเงินดังกล่าวแทนที่จะไปซื้อหนี้กับสถาบันการเงินนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่า การกระทำข้างต้นเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 307 308 311 313 314 และ 315 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 84 และ 86 ตามแต่กรณี จึงได้กล่าวโทษบุคคลดังกล่าวข้างต้นต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้น สถาบันการเงิน หรือบุคคลอื่นที่เสียหายจากการกระทำดังกล่าว สามารถร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้ผู้กระทำรับผิดในความเสียหายที่เกี่ยวข้องไปได้ในคราวเดียวกัน อนึ่ง การที่กรรมการ บ.ปิคนิคฯ 3 ราย อยู่ระหว่างถูกสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวโทษ เป็นเหตุให้กรรมการรายดังกล่าวเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 3(3) แห่งประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 5/2548 เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ลงวันที่ 17 มกราคม 2548 สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ถอนการแสดงชื่อบุคคลทั้ง 3 ราย ออกจากระบบข้อมูลรายชื่อผู้บริหารบริษัทที่ออกหลักทรัพย์แล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ