กฟผ. เตรียมพร้อมโรงไฟฟ้าอาร์พีเอส 140 เมกะวัตต์ พร้อมอนุมัติแผนตรึงค่าเอฟทีงวดหน้า

ข่าวทั่วไป Monday July 24, 2006 14:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--กฟผ.
คณะกรรมการ กฟผ. อนุมัติแผนโครงการโรงไฟฟ้าอาร์พีเอส 140 เมกะวัตต์ของ กฟผ. ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าท้ายเขื่อน โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวลและขยะ ขณะที่อนุมัติแผนตรึงค่าเอฟทีโดยเร่งนำโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีเข้าระบบและเร่งการส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งภูฮ่อมให้โรงไฟฟ้าน้ำพอง
นายณอคุณ สิทธิพงศ์ กรรมการทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ กฟผ. ประจำเดือนกรกฎาคม 2549 ว่าที่ประชุมคณะกรรมการ กฟผ. อนุมัติแผนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (อาร์พีเอส) 5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 140 เมกะวัตต์ ของโรงไฟฟ้าใหม่ 4 แห่งของ กฟผ. ตามนโยบายรัฐบาล คือ โรงไฟฟ้าท้ายเขื่อนของกรมชลประทาน จำนวน 78 เมกะวัตต์ โดยให้ กฟผ. ลงนามความร่วมมือกับกรมชลประทานในการพัฒนาโรงไฟฟ้า ท้ายเขื่อน 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล (คลองท่าด่าน) เขื่อนนเรศวร เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนแควน้อย และเขื่อนแม่กลอง ใช้เงินลงทุน 4,705 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถผลิตไฟฟ้าด้วยต้นทุนเฉลี่ย 2.20 บาท
นายณอคุณ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้คณะกรรมการ กฟผ. ได้ให้ กฟผ. จัดทำทีโออาร์ในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน จำนวน 60 เมกะวัตต์ โดยแยกเป็นโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ 10 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม 10 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 20 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะ 20 เมกะวัตต์
สำหรับส่วนที่เหลือได้ให้ กฟผ. ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ที่อาคารสำนักงานของ กฟผ. ทั่วประเทศ จำนวน 1 เมกะวัตต์ และสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม อีก 1 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะใช้พื้นที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เนื่องจาก กฟผ. ได้เคยศึกษาไว้แล้ว
กรรมการทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการ กฟผ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนตุลาคม 2549 ถึงเดือน มกราคม 2550 นั้น กฟผ. มีแนวทางในการช่วยตรึงราคาค่าเอฟที เพื่อไม่ให้เพิ่มภาระกับประชาชน ตามนโยบายกระทรวงพลังงานคือ เจรจากับ บีแอลซีพี พาวเวอร์ จำกัด ให้นำโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีหน่วยที่ 1 เข้าสู่ระบบกลางเดือนสิงหาคม ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมคือเดือนตุลาคม 2549 จะทำให้ กฟผ. และหน่วยที่ 2 ที่จะเข้าสู่ระบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ให้เลื่อนมาเข้าสู่ระบบเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลดลงได้รวม 2,500 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในส่วนของโรงไฟฟ้าน้ำพองได้เตรียมการสำหรับรองรับก๊าซธรรมชาติจากแหล่งภูฮ่อม จ.อุดรธานี ซึ่งได้เจรจาให้ส่งก๊าซฯ เร็วขึ้น คือจากเดือนธันวาคมเป็นเดือนตุลาคม 2549 ซึ่งจะช่วยลด ค่าเชื้อเพลิงได้ 665 ล้านบาท ลดการใช้น้ำมันเตาได้ 150 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังมีในส่วนของเขื่อน วชิราลงกรณ ที่ขณะนี้ได้เก็บกักน้ำไว้ในปริมาณมากสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าในงวดเดือนตุลาคม 2549 ถึงเดือนมกราคม 2550 จะไม่มีการปรับค่าเอฟทีแน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ