เปิดตัวหนังสือชุดสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ไทย เล่ม 2 “ยอดวิศวกรนักพัฒนา ดร.พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ”

ข่าวเทคโนโลยี Monday January 30, 2006 14:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์(นจวท.) ภายใต้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวเปิดตัวหนังสือชุดสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ไทย เล่ม 2 เผยชีวิต ดร.พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ วิศวกรนักพัฒนา ตัวอย่างแห่งความสำเร็จ
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือชุดสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ไทย เล่ม 2 ยอดวิศวกรนักพัฒนา ดร.พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ ที่มีประวัติน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะมีความรู้ความสามารถระดับแนวหน้าของเมืองไทยแล้วยังมีผลงานในการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ทดแทนการนำเข้าปีละหลายร้อยล้านบาท ติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 20 ปี อาทิ เครื่องชาร์ตแบตเตอรี่อัตโนมัติ เครื่องตรวจสอบรอยร้าวตัวโลหะ รถจักรยานไฟฟ้า เครื่องปรับแรงดันไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง จรวดลาดกระบังและรถไฟฟ้า ที่สำคัญ ดร.พีรศักดิ์ ยังเป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาองค์กรขนาดใหญ่ เช่น เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย นำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง และยังเป็นผู้จุดประกายงานวิจัยเชื้อเพลิงเอทานอล จนกระทั่งตั้งโรงงานต้นแบบ สนับสนุนการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาของนักวิทยาศาสตร์
นอกจากนี้ ดร.พีรศักดิ์ ยังเป็นนักเขียนที่นำเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ ทางปรัชญา และทางการบริหารจัดการออกเผยแพร่สู่สาธารณชนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย จนได้รับความนิยมจากนักอ่านมากมาย รวมทั้งได้รับการยอมรับจากองค์กรทั้งในประเทศและนานาชาติ โดยมีรางวัลต่าง ๆ เป็นเครื่องรับรอง ครั้งหนึ่งท่านเคยทำให้นักวิจัยญี่ปุ่นเซอร์ไพร้ซ์มาแล้ว เมื่อครั้งเดินทางไปเยือนโครงการาแลกเปลี่ยนนักวิจัยเมื่อเข้าไปดูในห้องแลป เห็นผลงานชิ้นหนึ่งดูคุ้นตาจึงถามไปว่าได้ความคิดมาจากไหน ก็ได้รับคำตอบว่าคนนิวซีแลนด์วิจัยไว้จึงนำมาพัฒนาต่อ ดร.พีรศักดิ์ จึงส่งนามบัตรให้แล้วถามว่า นักวิจัยาชื่อนี้ใช่ไหม นักวิจัยญี่ปุ่นถึงกับตกใจวิ่งไปบอกหัวหน้าภาควิชามาจับไม้จับมือทักทายเจ้าของงานตัวจริงเสียงจริงกันใหญ่
สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ไทย ยอดวิศวกรนักพัฒนา เล่มนี้เล่าถึงชีวิต แนวคิด การต่อสู้เพื่อนำผลงานออกสู่ตลาดให้เป็นที่ยอมรับ โดยเริ่มตั้งแต่เยาว์วัย การพัฒนาความสามารถให้เป็นประโยชน์แก่ตน ครอบครัว องค์กรและสังคมประเทศชาติจนถึงประชาคมโลก โดย ดร.พีรศักดิ์ ได้รับเลือกให้อยู่ในรายชื่อผู้นำโลก 500 คนในศตวรรษหน้า จาก The Baron 500 ของสหรัฐอเมริกาในปี 2539 นอกจากนั้น ท่านยังเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจศึกษาด้านการทำสมาธิและพลังจิตอีกด้วย หนังสือมีวางแผงทั่วไป จำนวน 100 หน้า ราคา 120 บาท
ดร.พีรศักดิ์ “ขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยน่าเป็นห่วงมาก ถ้าเทียบกับประเทศเกาหลีเมื่อปี 1960 ประมาณ 45-46 ปีที่แล้ว รายได้ประชาชาติของประเทศเกาหลีต่ำกว่าประเทศไทยประมาณ 4 เท่า ซึ่งประเทศเกาหลีมีรายได้ประชาชาติเพียง 80 เหรียญต่อปีเท่านั้น แต่ในปี 2005 ที่ผ่านมา รายได้ประชาชาติของเกาหลีต่อหัว 1,400 เหรียญ ในขณะที่ประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติ 2,509 เหรียญ เป็นเพราะเกาหลีให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างจริงจังและทำงานทุ่มเทพัฒนาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ออกมาในท้องตลาด บุคลากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเกาหลีมีประมาณ 40 คนต่อประชากรหนึ่งหมื่นคน ขณะที่ประเทศไทยมีบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3.8 คนต่อประชากรหมื่นคนเงินวิจัยของเกาหลีก็ไม่มากหากเทียบนักวิจัยต่อคนได้เงินวิจัยเท่าไรประเทศไทยยังได้รับมากกว่าด้วย ฉะนั้น จึงขึ้นอยู่กับวิธีการว่าจะพัฒนาอย่างไร ประเทศเกาหลีวิธีวัดผลสำเร็จค่อนข้างชัดเจน ประเทศไทยเราต้องถามตัวเองว่าเงินวิจัยต่างๆ ที่ลงไปในการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำอย่างไรจะให้ครบวงจร และออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หรือผลผลิตที่ขายได้จะทำอย่างไร สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ การจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่จำเป็นต้องจดสิทธิบัตรที่นำไปใช้ได้จริง ประเทศไทยหรือคนไทยจดสิทธิบัตรต่อปีไม่ถึง 100 ชิ้น ขณะที่เกาหลีมีการจดสิทธิบัตรต่อปี 10,000 ชิ้น หรือหลายหมื่นชิ้น จึงน่าเสียดายโอกาสของประเทศไทยที่ควรตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนในการผลักดันเพื่อนำผลงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้ไปสู่เชิงพาณิชย์ให้สำเร็จในที่สุด”
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ “เกร็ดชีวิตของ ดร.พีรศักดิ์ ซึ่งถ่ายทอดในหนังสือเล่มนี้ เป็นแรงบันดาลใจที่ดีที่จะทำให้เยาวชนไทยหันมาเรียนวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะทำให้ผู้อยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ต่างตระหนักถึงศักยภาพของประเทศไทยที่ไม่น้อยหน้านานาอารยประเทศ เพียงแต่ขาดพลังผลักดันและความตั้งใจจริง”
รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ “ในจำนวนนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของไทยที่มีอยู่ไม่มากนัก ดร.พีรศักดิ์ นับเป็นวิศวกรไทยที่มีประวัติน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้มีความรู้ในแนวกว้างและลึก มีประสบการณ์การทำงานหลายด้าน ทั้งงานวิจัย พัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในภาคราชการ เอกชนและรัฐวิสาหกิจ ในหนังสือเล่มนี้ได้เล่าถึงชีวิต แนวคิด พัฒนาการและประสบการณ์ของคนไทยคนหนึ่งที่คิดเองทำเอง และพัฒนาความสามารถให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ”
นายบำรุง ไตรมนตรี เป็นประธานชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) คนปัจจุบัน สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ริเริ่มโครงการหนังสือชุดสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ไทย ให้ความเห็นว่าหนังสือชุดนี้เหมาะสำหรับการเป็นแบบอย่างในการพัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จ จึงน่าที่จะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของเยาวชนไทยผู้ใฝ่หาความรู้และพัฒนาตนเองและสำหรับบุคคลทั่วไป จะได้มีกำลังใจในการต่อสู้กับชีวิต โดยพยายามทำความฝันและพลิกฟ้าไปสู่ความท้าทายจนประสบความสำเร็จในชีวิต
ชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) พร้อมเป็นสื่อกลางเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ประชาชน หลังเปิดตัวและจัดตั้งชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ มาเป็นเวลา 25 ปี โดยมี ดร.ปรีชา อมาตยกุล เป็นประธานชมรมคนแรก เมื่อปี พ.ศ. 2524 และในปี 2549 นี้ ชมรมฯ จะเริ่มบุกงานสร้างความตระหนักในความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มบุคคล 3 ฝ่ายคือ
1. นักเขียนและสื่อมวลชนด้านวิทยาศาสตร์
2. นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์
3. ผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์
มีเป้าหมายเพื่อการเผยแพร่เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ประชาชนทั่วไปได้มีความรู้ความเข้าใจและมีทัศนคติในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่อเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาตนเองและเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
นายบำรุง ไตรมนตรี “พร้อมจะเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ โดยการถ่ายทอดผ่านนักเขียนและสื่อมวลชนด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีทั้งการจัดพิมพ์ การกระจายเสียงออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์เพื่อเผยแพร่ไปสู่สาธารณชนทั่วไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาชมรมฯ ได้สนับสนุนให้มีการจัดพิมพ์และเผยแพร่หนังสือชุดสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ไทย โดยเล่มที่ 1 ยอดนักวิทยาศาสตร์ไทย ดร.วิโรจน์ ตันตราภรณ์ และเล่มที่ 2 ยอดวิศวกรนักพัฒนา ดร.พีรศักดิ์ สุนทวโรสถ อีกทั้ง ยังมีนิตยสารไซน์แมกกาซีน โครงการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด โครงการบรรยายวิทยาศาสตร์ตามกระแส โครงการผู้อ่านพบนักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ และโครงการวิทยาศาสตร์สัญจร เป็นต้น โดยทางชมรมฯ คาดหวังว่าจะพยายามผลิตสื่อเช่นนี้ออกมาอีกเพื่อให้สังคมไทยเกิดความตระหนักในด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณเป็นความหวังว่าหนังสือประเภทนี้ได้รับความนิยมและมีผู้ผลิตออกมามากขึ้นในอนาคต”
หากต้องการติดต่อกับชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) กรุณาติดต่อได้ที่ อาคารกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถนนพรรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร. 02-354-1631 , 02-354-4466 ต่อ 619 โทรสาร 02-354-1632
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ