กลไก(กลโกง)การตลาดของขบวนการค้ายา ที่พ่อแม่ต้องรู้และต้องเตือนลูก

ข่าวทั่วไป Monday March 23, 2009 14:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--มายแบรนด์ เอเจนซี่ ปัญหายาเสพติดนับวันจะยิ่งระบาดและเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะขบวนการผู้ค้ายาเสพติดมีวิธีการซุกซ่อนยาเสพติดได้อย่างแนบเนียนเพื่อให้รอดพ้นจากการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในขณะเดียวกันเมื่อยาเสพติดถูกลำเลียงและผ่านด่านการสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แล้ว ก็ทำให้ยาเสพติดสามารถกระจายเข้าถึงคนไทยได้ง่าย ยิ่งโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์มักจะตกเป็นเหยื่อและเครื่องมือของผู้ค้า นพ.วศิน บำรุงชีพ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุราและยาเสพติด โรงพยาบาลมนารมย์เปิดเผยว่า การตลาดของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดในปัจจุบันมีความแยบยลมากขึ้น ผู้ค้านำเอากลยุทธ์ต่างๆ มาช่วยในการขาย เช่น จะนำน้ำต้มใบกระท่อมมาผสมกับโค้ก ยาแก้ไอน้ำดำ หรือนำยาเสพติดมาผสมในนมเปรี้ยว พร้อมทั้งตั้งชื่อเรียกให้ดูน่าสนใจ คือ “วันทูคอล” หรือไม่ก็มีสูตร “ทรีอินวัน” นั่นก็คือเครื่องดื่มกาแฟผสมน้ำต้มใบกระท่อมและยาเสพติดอย่างอื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการตลาดที่แยบยลที่ขบวนการผู้ค้ามักจะใช้เป็นวิธีนำยาเสพติดเข้าถึงตัวเด็กมากที่สุด เพราะจากการสอบถามคนไข้พบว่ากลุ่มผู้ค้ายาเสพติดมักจะแฝงมากับรถขายขนม เครื่องดื่ม แล้วจอดขายอยู่ตามย่านชุมชน และตามสถานที่ใกล้โรงเรียน เวลาเลิกเรียน เด็กที่เป็นหัวหน้ากลุ่มก็จะชักชวนเพื่อนๆ ไปซื้อเครื่องดื่มเหล่านี้ ซึ่งถ้าหากเด็กคนไหนไม่รู้แล้วรับประทานเข้าไปก็ครั้งแรกก็จะเกิดความชอบ คิดว่าอร่อย ทำให้วันต่อๆไปเกิดความกระหาย และอยากจะรับประทานอีกทุกวัน ลักษณะเช่นนี้ก็จะทำให้เด็กติดยาเสพติดโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังมีศัพท์ต่างๆ ที่มักใช้เรียกกันในกลุ่มเฉพาะที่พ่อแม่ควรจะรู้ เช่น ชักชวนไปเล่นสเกตน้ำแข็งหรือไปกินน้ำแข็งไส นั่นก็คือการชักชวนไปเสพยาไอซ์ เป็นต้น จิตแพทย์เปิดเผยว่า นอกจากยาเสพติดดังกล่าวแล้วยังรวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ซึ่งถือว่าเป็นยาเสพติดที่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะถ้าหากเด็กเริ่มทดลองกันตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาและ มัธยมศึกษา ก็อาจจะทำให้เด็กเริ่มทดลองยาเสพติดอื่นๆได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น เวลามีงานเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้าน พ่อแม่อนุญาตให้ลูกดื่มน้ำพั้นช์ ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผสมอยู่ เด็กก็จะเข้าใจว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีรสหวาน อร่อย ทัศนคติของเด็กก็จะคิดว่าสุราอร่อย ถ้าผสมให้ดีและ เป็นเครื่องดื่มที่ดื่มได้ และต้องดื่มทุกครั้งที่มีการสังสรรค์หรืองานเลี้ยงฉลอง เป็นต้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันจะมีบริษัทสุราผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผสมน้ำหวานกลิ่นผลไม้ใส่สีต่างๆมากขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์การค้าเพื่อให้ครอบคลุมตลาดลูกค้ากว้างขวางขึ้น “ปัจจุบันการตลาดทำให้บุหรี่กลายเป็นเรื่องปกติ เพราะผลิตบุหรี่มากมายหลายรส หลายกลิ่น มีทั้งรสช็อคโกแลต สตรอเบอร์รี่ และมิ้นท์ การตลาดเหล่านี้เองทำให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากลอง ซึ่งตัวเด็กเองก็ไม่รู้ว่าหากใช้ไปนานๆ จะเริ่มติด เพราะความเคยชิน เมื่อเริ่มติดแล้ว บางครั้งเพื่อนก็มักจะเอากัญชาผสมสอดไส้เข้าไปในบุหรี่และยุให้ลอง เมื่อลองแล้วก็ติดใจ เมื่อสูบไปนานๆ ก็จะติดทั้งบุหรี่ และกัญชา ทีนี้ก็จะหนักขึ้นกว่าเดิม” จิตแพทย์กล่าว นพ.วศิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ทัศนคติของเด็กและเยาวชนที่มีต่อบุหรี่ สุรา และยาเสพติดเปลี่ยนไป ในปัจจุบันมักจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ หรือมองเป็นแฟชั่น เช่น วัยรุ่นอายุ 17-18 ปี (แอบ) ไปเที่ยวสถานบันเทิงยามค่ำคืน เช่น ผับ บาร์ ก็มักจะใช้ยาเสพติดร่วมด้วย หรือไม่บางทีการสูบบุหรี่อาจทำให้ดูเท่ห์ และทำให้เพื่อนๆ ยอมรับเข้ากลุ่มได้ หรือวัยรุ่นผู้หญิงบางคนคิดว่าการเสพยาไอซ์จะทำให้ผิวขาว หน้าตาเปล่งปลั่ง และน้ำหนักลด เป็นต้น สำหรับแนวทางในการป้องกันไม่ให้ลูกเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น นพ.วศิน แนะนำว่า 1. พ่อแม่ต้องตื่นตัวและรู้ทันเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด คอยติดตามข่าวสาร และหาความรู้ให้มาก เพราะจะได้ทันต่อสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของขบวนการค้ายาเสพติด และยิ่งโดยเฉพาะพ่อแม่ยุคนี้จะต้องรู้ถึงกลยุทธ์ทางการตลาดที่แยบยลของกลุ่มผู้ค้าให้ได้ เพราะจะได้เตือนลูกว่ายาเสพติดมักจะแฝงอยู่ตามสถานที่ต่างๆ และใกล้ตัวมากขึ้นทุกวัน 2. พยายามเข้าใจถึงชีวิตวัยรุ่นให้มากที่สุด ชีวิตวัยรุ่นเป็นวัยที่อยากรู้อยากทดลอง ต้องการความเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นพ่อแม่จะต้องสังเกตและควรเก็บรายละเอียดต่างๆ เช่น คำศัพท์ ที่วัยรุ่นพูดกัน ซึ่งบางทีคำศัพท์เหล่านั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เช่น เพื่อนชวนไปเล่นสเกตเพราะถ้าหากพ่อแม่มีความรู้ในสิ่งเหล่านี้ที่อาจจะมองดูเป็นเรื่องเล็ก แต่ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้เมื่อลูกติดยาเสพติด 3. พ่อแม่ควรจะปลูกฝังและสร้างทัศนคติเกี่ยวกับยาเสพติดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อเสพแล้วจะให้โทษมากกว่าประโยชน์ และไม่ควรเข้าใกล้ หากมีเพื่อนเสพก็ไม่ควรจะไปอยู่ใกล้ หรือข้องเกี่ยว เพราะถ้ายังคบเพื่อนเหล่านี้ถึงแม้ว่าเพื่อนจะเสพแต่ตัวเองไม่ได้เสพ นานๆ ไปเด็กก็จะเริ่มซึมซับและมีทัศนคติเกี่ยวกับยาเสพติดว่าเป็นเรื่องธรรมดา 4. ต้องปลูกฝังคำว่า “ไม่” ให้กับลูก สอนลูกให้กล้าที่จะปฏิเสธหากเพื่อนและคนรู้จักเอายาเสพติดมาให้ลอง ต้องคิดเสมอว่าเขาไม่หวังดีกับเรา เพราะยาเสพติดไม่ใช่สิ่งที่มีประโยชน์ มีแต่ให้โทษทั้งต่อคนรอบข้าง และต่อตนเอง 5. ควรมีเวลาดูแลลูกอย่างใกล้ชิด หมั่นทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เพราะสภาพสังคมปัจจุบันที่บีบบังคับให้ครอบครัวต้องทำงาน พ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่กับลูก ปล่อยให้ลูกเรียนรู้เอง ก็อาจทำให้เกิดการลองผิดลองถูก เพราะไม่มีใครคอยชี้แนะ ควรจะหากิจกรรมที่มีประโยชน์ให้ลูก เช่น การพาไปออกกำลังกาย เล่นกีฬา เล่นดนตรี เป็นต้น ช่วงปิดเทอม นอกจากจะให้ลูกไปเรียนพิเศษแล้ว ก็ควรจะมองหากิจกรรมที่ช่วยสร้างเสริมทักษะและพัฒนาการให้กับลูก เช่นการเข้าค่ายเยาวชนห่างไกลยาเสพติด การฝึกงานปฐมพยาบาล การทำงานช่วยเหลือชุมชน เป็นต้น ก็จะทำให้ลูกห่างไกลจากยาเสพติดมากขึ้น เพราะในช่วงปิดเทอมนี้นับว่าเป็นช่วงที่อันตรายมากเนื่องจากเด็กมีเวลาว่างมาก หากอยู่บ้านเฉยๆ ก็อาจจะเบื่อ พอมีเพื่อนโทรมาชวนออกไปเที่ยวหรือสังสรรค์ข้างนอก เด็กก็อาจจะออกจากบ้านได้ง่าย 6. ควรที่จะศึกษาเทคนิคการสื่อสารทำความเข้าใจกับลูก ควบคู่ไปกับการสอดส่องพฤติกรรมของลูก เพื่อให้ลูกมีความเข้าใจในเจตนาที่พ่อแม่เข้าไปสอดส่อง สอบถาม หรือ ถามไถ่ โดยเฉพาะในกรณีที่ถ้าหากจะมีการขอให้ลูกไปตรวจปัสสาวะ จะต้องสื่อสารให้ได้ว่าไม่ได้เป็นการจับผิดหรือไม่ไว้ใจ แต่เป็นการป้องกัน ซึ่งตรงจุดนี้จะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ถ้าเมื่อใดที่เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ไว้ใจก็จะเกิดอาการต่อต้าน โรงพยาบาลมนารมย์เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการสุขภาพจิตแนวใหม่ที่เน้นทั้งการป้องกัน และรักษา โดยมีทีมจิตแพทย์และพยาบาล พร้อมทั้งการบริการอย่างครบถ้วน ทั้งให้คำปรึกษา การดูแลผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก รวมถึงการจัดสัมมนาให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตที่ดี โดยโรงพยาบาลมีความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคนไทยให้มีพลังใจที่ดี และมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง และมองเห็นถึงความน่ากลัวและความสำคัญของปัญหายาเสพติด โดยเตรียมทีมจิตแพทย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญไว้คอยรองรับให้คำปรึกษาเกี่ยวกับยาเสพติด นำโดย นพ.วศิน บำรุงชีพ สำหรับผู้ที่ต้องการรับคำแนะนำและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการเลิกยาเสพติด สามารถติดต่อแพทย์และบุคลากรของโรงพยาบาลเพื่อนัดหมายได้ที่ เบอร์โทร 02-725-9595 หรือ www.manarom.com สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ จีรศักดิ์ หลักเมือง โทร 085-994-7634 พิมพร ศิริวรรณ โทร 081-928-2808 โทร. 028643900 บริษัท มายแบรนด์ เอเจนซี่ จำกัด

แท็ก ยาเสพติด  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ