ศปถ. สั่งจังหวัดกวดขันรถโดยสารสาธารณะ-ตรวจจับความเร็ว

ข่าวทั่วไป Thursday April 16, 2009 10:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--ศปถ. ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี ๒๕๕๒ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ ๑๕ เม.ย. ๕๒ ซึ่งเป็นวันที่หกของช่วง ๗ วันระวังอันตราย เกิดอุบัติเหตุทางถนนรวม ๕๒๘ ครั้ง ผู้เสียชีวิต ๔๙ ราย ผู้บาดเจ็บ ๕๘๖ ราย รวมสะสม ๖ วัน (วันที่ ๑๐ — ๑๕ เม.ย. ๕๒) เกิดอุบัติเหตุรวม ๓,๖๓๔ ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม ๓๒๑ ราย ผู้บาดเจ็บรวม ๓,๙๖๑ ราย พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่กวดขันรถโดยสารสาธารณะระยะทางไกลเป็นพิเศษ ตรวจสอบยานพาหนะที่บรรทุกผู้โดยสาร เกินอัตรา เข้มงวดการใช้ความเร็วเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการขายสินค้าริมข้างทาง นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรรมการและเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ประธาน แถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี ๒๕๕๒ ประจำวันที่ ๑๕ เม.ย. ๕๒ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๒ กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนในวันที่หกของการเดินทางช่วง ๗ วันระวังอันตราย (วันที่ ๑๕ เม.ย. ๕๒) พบว่า เกิดอุบัติเหตุ รวม ๕๒๘ ครั้ง มากกว่าปี ๒๕๕๑( ๔๑๘ ครั้ง) ๑๑๐ ครั้ง ร้อยละ ๒๖.๓๒ ผู้เสียชีวิต ๔๙ ราย มากกว่าปี ๒๕๕๑ (๔๘ ราย) ๑ ราย ร้อยละ ๒.๐๘ ผู้บาดเจ็บ ๕๘๖ ราย มากกว่าปี ๒๕๕๑ (๔๙๒ คน) ๙๔ ราย ร้อยละ ๑๙.๑๑ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ ๓๙.๕๘ รองลงมา ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ ๒๐.๘๓ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๘๐.๙๗ ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ ๖๕.๓๔ บนถนน อบต. หมู่บ้าน ร้อยละ ๓๕.๘๐ และถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ ๓๑.๐๖ และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงกลางคืน ร้อยละ ๕๘.๗๑ โดยเฉพาะช่วงเวลา ๑๖.๐๑ — ๒๐.๐๐ น. ร้อยละ ๓๔.๔๗ ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน อายุ ๒๐ — ๔๙ ปี ร้อยละ ๔๙.๙๒ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก ๒๓ ครั้ง จังหวัดที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุมี 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สกลนคร และอำนาจเจริญ จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ตรัง และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 4 ราย จังหวัดที่ ไม่มีผู้เสียชีวิตมี ๔๑ จังหวัด จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ บุรีรัมย์ 25 ราย และจังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บ ๓ จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ อำนาจเจริญ และสกลนคร ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก ๓,๐๒๒ จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ๗๙,๗๕๐ คน เรียกตรวจยานพาหนะ ๘๔๒,๒๒๔ คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการ ๓ ม. ๒ข. ๑ร.รวม ๖๔,๑๓๓ ราย ส่วนใหญ่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ๒๑,๓๓๙ ราย ร้อยละ ๓๓.๒๗ รองลงมาไม่มีใบขับขี่ ๒๑,๓๒๔ ราย ร้อยละ ๓๓.๒๕ สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม ๖ วัน (วันที่ ๑๐ — ๑๕ เม.ย. ๕๒) เกิดอุบัติเหตุรวม ๓,๖๓๔ ครั้ง น้อยกว่าปี ๕๑ (๓,๙๕๕ ครั้ง) ๓๒๑ ครั้ง ร้อยละ ๘.๑๒ ผู้เสียชีวิตรวม ๓๒๑ ราย น้อยกว่าปี ๕๑ (๓๒๔ ราย) ๓ ราย ร้อยละ ๐.๙๓ ผู้บาดเจ็บรวม ๓,๙๖๑ราย น้อยกว่าปี ๕๑ (๔,๔๘๔ ราย) ๕๒๓ ราย ร้อยละ ๑๑.๖๖ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ๑๓๗ ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ ๑๓ ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง ๖ วัน จำนวน ๘ จังหวัด ได้แก่ ตราด ฉะเชิงเทรา ยโสธร อำนาจเจริญ สกลนคร น่าน ปัตตานี และยะลา จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ๑๕๖ ราย นายอนุชา กล่าวต่อว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และเนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ ๑๖ — ๑๗ เมษายน ๒๕๕๒ เป็นวันหยุดราชการ ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนเลื่อนการเดินทางกลับและยังคงท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จึงได้กำชับให้จังหวัดดำเนินการตามข้อสั่งการที่ผ่านมาอย่างเข้มข้น ให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจมุ่งเน้นการตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทางที่มีการเดินทางในระยะไกล เนื่องจากพนักงานขับรถอาจอ่อนเพลีย ง่วงนอน ทำให้เกิดการหลับในได้ง่าย รวมทั้งตรวจสอบยานพาหนะที่บรรทุกผู้โดยสารเกินอัตรา รถกระบะบรรทุกผู้โดยสารที่ไม่มีหลังคา การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์และมาตรการ ๓ม. ๒ ข. ๑ ร. อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรายใหญ่ ตลอดจนให้เข้มงวดการใช้ความเร็วเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการขายสินค้าริมข้างทาง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการหยุดรถหรือจอดรถริมไหล่ทาง นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุในช่วงหกวันที่ผ่านมา พบว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเมาแล้วขับ โดยรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุทางสูงสุด กลุ่มเยาวชนช่วงอายุตั้งแต่ ๒๐ ปีลงมาเป็นกลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุด และพฤติกรรมเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้แก่ การไม่สวมหมวกนิรภัย การเมาเล้วขับ และการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงขอให้จังหวัดนำสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มาวิเคราะห์ประเมินผล เพื่อวางแผนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ สำหรับประชาชนเริ่มทยอยเดินทางกลับ ขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ โดยเฉพาะบนเส้นทางสายหลักที่มีการขายของริมไหล่ทาง เนื่องจากมีการใช้ความเร็ว และอาจมีรถที่จอดเสียหรือแวะซื้อของ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ส่วนประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ให้ร่วมเฝ้าระวังพนักงานขับรถ หากพบอาการผิดปกติที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถโดยสารสาธารณะ หมายเลข ๑๕๘๔ ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม ๑๓๕๖ และสายด่วนนิรภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ๑๗๘๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ