ม.ศรีปทุม ปั้นนักนิเทศฯพันธุ์ใหม่ ป้อนตลาดยุคดิจิทัล

ข่าวทั่วไป Friday April 24, 2009 14:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--มหาวิทยาลัยศรีปทุม คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม รุกกระแสดิจิทัล ปั้นนักนิเทศศาสตร์มืออาชีพป้อนตลาดนักข่าว นักสื่อสารมืออาชีพ พร้อมชูจุดเด่นความเข้มแข็งด้านคอนเทนท์ (Content) และเครื่องมือทางการสื่อสารใหม่ๆ อย่างครบวงจร (Tools Communication) ย้ำ ในโลกยุคดิจิทัล ตลาดต้องการคนคุณภาพที่มีความเข้มข้นทั้งการรู้เท่าทันสถานการณ์ และการเลือกใช้เครื่องมือทันสมัยและน่าสนใจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา มีศิลปวิกกัย คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ กล่าวถึงแนวคิดในการสร้าง นักนิเทศศาสตร์ รุ่นใหม่ว่า มหาวิทยาลัยศรีปทุม เล็งเห็นว่าในปัจจุบัน ตลาดสาขาวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน มีความต้องการบุคลากรที่มีคุณสมบัติเพิ่มมากขึ้นจากเดิม กล่าวคือมีความเป็นมืออาชีพที่มีความครบถ้วนทั้งด้านความรู้ในฐานะสื่อมวลชน มีความเข้าใจและมีภูมิคุ้มกันทางด้านสังคมเศรษฐกิจ การเมือง สังคมในโลกอินเตอร์เน็ต ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องรู้จักเครื่องมือการสื่อสารใหม่ๆ ทันสมัย เพื่อจะได้เลือกใช้เครื่องมือให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการรับรู้ให้กับผู้รับสาร ด้วยเครื่องมือ และเทคนิคใหม่ๆ ที่มีมาให้เรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา นับเป็นการสร้างบุคคลากรในแนวที่เรียกว่า Interactive กล่าวคือจะสื่อสารกันด้วยภาษาที่ทันสมัย และเท่าทันแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพการรับรู้ด้วยเทคนิคและวิธีการแบบใหม่ๆจากการสื่อสารในยุคดิจิทัล หรือ Digital Communication จะเห็นได้ว่า จากสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้ความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่สื่อมวลชนเป็นผู้เสาะแสวงหาข้อมูล และนำมาเรียบเรียงเพื่อป้อนให้กับผู้รับสารหรือประชาชนทั่วไป ต่อไปจะต้องรู้จักเทคนิคการจัดวางรูปเล่ม การออกแบบบนสื่อออนไลน์ เพื่อให้การนำเสนอเนื้อหามีการพัฒนาในรูปแบบที่หลากหลาย แต่ยังคงไว้ซึ่งความถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ควรมีความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมานำเสนอเนื้อหาที่ตนเองเรียบเรียงขึ้นมาด้วย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม เห็นว่า นี่เป็นช่องว่างที่เราน่าจะสร้างบุคคลากรที่มีความสามารถรอบด้านเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น จึงมีการพัฒนาหลักสูตรวารสารสนเทศขึ้นมา โดยได้มีการเชิญสื่อมวลชนอาวุโสหลายท่าน มาร่วมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม แลกเปลี่ยน มุมมอง พร้อมให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำหลักสูตร ซึ่งจะเป็นหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ด้านอาจารย์จันทิกา สุภาพงษ์ หัวหน้าสาขาวิชาวารสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวถึงรายละเอียดของความเหมือนและความต่างของหลักสูตร ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างบุคลากรรองรับธุรกิจสื่อสารในยุคดิจิทัลว่า หลักสูตรวารสารสนเทศ ของมหาวิทยาลัยศรีปทุมนั้น สร้างขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของสังคมข่าวสารยุคใหม่ ที่ต้องการแรงงานในภาคข่าว ที่ไม่เพียงแต่เก่งเรื่องการข่าว การรวมรวมและเรียบเรียงเนื้อหาเท่านั้น แต่ยังต้องการผู้ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี เพื่อจัดการกับเนื้อหาข่าวดังกล่าวได้อย่างครบวงจรอีกด้วย ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้นักสื่อสาร (นักข่าว)ต้องความเปลี่ยนแปลงตัวเองเท่าทันความนิยมบริโภคสื่อ ในปัจจุบันก็คือ ในปัจจุบันผู้บริโภคหรือผู้อ่านข่าว มีสื่อหลากหลายด้านให้เลือกรับ และเปลี่ยนแปลงลักษณะไปเป็น Active receiver มากขึ้น กล่าวคือผู้รับสารไม่หยุดเพียงสื่อเดียวหรือแนวความคิดเดียว และไม่เป็นเพียงผู้รับสาร อีกต่อไป ผู้รับสารในปัจจุบันพร้อมที่จะค้นคว้าหาความจริงด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปัจจุบันเทคโนโลยีของโลกเปลี่ยนแปลงไป อินเตอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารมากขึ้น นักข่าวเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เท่าทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาตนเองเรื่องความสามารถทางด้านเทคโนโลยี จุดเด่นหลักสูตร นิเทศศาสตรบัณฑิต ที่แตกต่างจากหลักสูตรนิเทศศาสตร์ ชั้นนำทั่วไป คือมหาวิทยาลัย ศรีปทุมรวมเอาศาสตร์ทั้งสองอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ในส่วนผสมที่พอเหมาะสำหรับนักนิเทศศาสตร์ กล่าวคือยังคงเน้นความเข้มข้นในด้านของการศึกษาการเขียน การหาข่าว การรวบรวมข้อมูล เพื่อให้นักศึกษามีพื้นฐานที่ดีของการเป็นนักข่าว ขณะเดียวกันก็เสริมความสามารถทางด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัยเข้าไป อาทิ การใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดหน้า การสร้างและดูแลเว็บไซต์ การทำกราฟฟิกที่เหมาะสมกับงานเขียนของตนเอง ทำให้นักศึกษาที่จบไปมีความพร้อมที่จะเข้าทำงานได้ทันที นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารบนสื่อออนไลน์ อนุกรรมการด้านการมีส่วนร่วม ทีวีไทย และนักวิชาการอิสระ มองว่า บุคลากรด้านสื่อสารมวลชน ต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ อย่างสื่อดิจิทัลที่มีอิทธิพลต่อผู้รับข่าวสาร และการนำเสนอข่าวสารยังต้องสร้างความแตกต่างทางด้านคอนเทนต์ ทั้งนี้เครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆ ไม่ว่าใครก็สามารถใช้เป็นช่องทางการสื่อสาร ซึ่งความแตกต่างทางด้านคอนเทนต์จะเป็นสิ่งที่ทำให้นักสื่อสารมวลชนก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นหนึ่ง “ต้องเข้าใจก่อนว่า ยุคนี้เป็นยุคของโลกออนไลน์ ทุกคนก็ใช้อินเทอร์เน็ตและเข้าถึงสื่อดิจิทัล ผู้รับสารเองพยายามเปรียบเทียบการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็น Read Only Internet และเว็บบล็อก ทำให้นักสื่อสารยุคใหม่ต้องมองให้กว้างขึ้น เข้าใจผู้รับสารยุคนี้ว่าเขาไม่ได้อ่านอย่างเดียว หรือเสพข้อมูลที่ส่งมาให้เท่านั้น หากแต่สามารถเขียนโต้ตอบกลับมาได้ โดยผ่านเครื่องมือดิจิทัลที่เรียกว่า เว็บบล็อก เป็นต้น” นายอาทิตย์กล่าว จุดเปลี่ยนของนักสื่อสารเดิมกับนักสื่อสารที่เราเรียกว่าพันธุ์ใหม่ แตกต่างในเรื่องของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็ว ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เป็นช่องทางการสื่อสาร การรู้เท่าทันเทคโนโลยีและสื่อใหม่ จะทำให้เราก้าวอีกขั้น การที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมเปิดหลักสูตรใหม่เพื่อสร้างนักนิเทศศาสตร์แนวใหม่ เป็นการสร้างจุดเปลี่ยนให้กับวิชาชีพให้กับวงการ ให้เกิดมูลค่าเชิงลึก (Core Value) และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงจะเป็นโอกาสที่ดีของบัณฑิตจบใหม่ในสายงานวิชาชีพสื่อสารมวลชน ด้านนายปรเมศร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด เจ้าของเว็บไซต์กระปุกดอทคอม กล่าวว่า นักสื่อสารมวลชนที่เรียกว่าพันธุ์ใหม่มีความแตกต่างจากนักสื่อสารมวลชนแบบเดิม คือ คอนเทนต์และช่องทางในการส่งสารไปยังผู้รับสาร โดยเครื่องมือการสื่อสารใหม่ๆ ที่ใช้ส่งสารไปยังผู้รับสาร ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต ดาวเทียม 3 G รวมถึงสื่อดิจิตอลต่าง ๆ จะถูกนำมาผสมผสานการใช้มีเดียทั้งสื่อดั้งเดิมและสื่อใหม่ให้เกิดบูรณาการสูงสุด คอนเทนต์เป็นหัวใจสำคัญ คอนเทนต์จะเกิดขึ้นได้มาจากผู้บริโภคเอง และจากแหล่งข่าวที่เกื้อหนุนกัน บูรณาการให้ตอบโจทย์ผู้รับสารได้สูงสุด สิ่งที่นักนิเทศพันธุ์ใหม่ต้องจับตาอีกประการหนึ่ง คือพฤติกรรมของผู้เสพสื่อ เครื่องมือการสื่อสารแบบใด ประเภทใดที่เหมาะสมหรือสามารถเข้าถึงใจของผู้เสพข่าวสารได้ลึกซึ้งและดีที่สุด เพราะผู้บริโภคมีหลากหลาย และมีความเป็นเฉพาะตัวมากขึ้น(Customization) นักสื่อสารฯเองต้องมีการพิจารณา และวิเคราะห์ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ มหาวิทยาลัยศรีปทุม คณะนิเทศศาสตร์ โทร 02 579 1111 ต่อ 2336 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 884 4711 ใบไม้เขียว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ