กรมชลฯ ปั้นโครงการ “อาสาสมัครชลประทาน”

ข่าวทั่วไป Tuesday April 28, 2009 09:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--กรมชลประทาน รัฐมนตรีเกษตรฯ หนุนกรมชลประทาน ดึงเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานทำหน้าที่ “อาสาสมัครชลประทาน” เปิดโครงการนำร่องในปีนี้ 17 แห่ง หวังสร้างเป็นเครือข่ายประสานงาน ดูแล รักษาน้ำอย่างเป็นระบบทั่วประเทศ ภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ชลประทานอาสา ประชาร่วมใจ” ณ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทาน ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานในระดับสำนักขึ้นมาใหม่ภายใต้โครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในกรมฯคือ สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการตัดสินใจ ดูแล และบริหารจัดการใช้น้ำให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกรมชลประทานมีภารกิจ ในการดำเนินโครงการพัฒนา และบริหารจัดการน้ำ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนทั้งในด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ ทรัพยากรน้ำ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้การดำเนินงานของกรมชลประทานเป็นไปอย่างสอดคล้องความต้องการของท้องถิ่น และเกิดประโยชน์ อย่างแท้จริงต่อผู้ใช้น้ำในทุกภาคส่วน อันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ทั้งนี้ สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักในการส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชน โดยคัดเลือกบุคคลจากองค์กรผู้ใช้น้ำเข้าเป็น “อาสาสมัครชลประทาน” ทำหน้าที่ประสานงาน ระหว่างกรมชลประทาน กับองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน ในการวางแผน ควบคุม และติดตามการส่งน้ำ ตลอดไปจนถึงการบำรุงรักษาในฤดูกาลเพาะปลูก เพื่อให้การใช้ทรัพยากรน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด สามารถจัดสรรน้ำไปสู่ผู้ใช้ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าอาสาสมัครชลประทานจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรด้วยกัน และระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อีกด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าในปีงบประมาณ 2552 นี้ จะมีการคัดเลือกอาสาสมัครชลประทานเข้ามาทำหน้าที่ จำนวน 85 คน ถือเป็นอาสาสมัครนำร่องชุดแรก 17 แห่งทั่วประเทศ และคาดว่าในปีต่อไปจะสามารถเพิ่มจำนวนให้ได้ถึง 2,285 คน ครอบคลุมพื้นที่ได้ 6.14 ล้านไร่ เพื่อสร้าง เป็นเครือข่ายในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบชลประทานของประเทศไทยต่อไปในอนาคต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 884 3970

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ