เด็กปากน้ำโพศึกษา “ฟอสซิลหอยฝาเดียว” ที่เขาน้อย จ.นครสวรรค์ บ่งชี้เคยเป็นเขตทะเลน้ำตื้นมาก่อน

ข่าวทั่วไป Monday May 4, 2009 14:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--สวทช. นักวิทย์รุ่นเยาว์ชาวนครสวรรค์ศึกษาฟอสซิลสิ่งมีชีวิตบริเวณเขาน้อย อ.ตาคลี พบฟอสซิลหอยฝาเดียว 3 สกุล 2 ชนิดพันธุ์ ปะการังกลุ่ม ฟองน้ำ และ ฟิวซูลินิด บ่งชี้ว่า ครั้งหนึ่งที่นี่เคยเป็นเขตทะเลน้ำตื้นบริเวณหลังแนวปะการัง( Back-reef ) ที่สำคัญฟอสซิลหอยฝาเดียวที่พบยังเป็นชนิดพันธุ์เดียวกับที่เคยพบในญี่ปุ่น ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าแผ่นดินไทยกับญี่ปุ่นเคยมีอาณาเขตร่วมกันในยุคเพอร์เมียนเมื่อราว 276.5 ล้านปีก่อน นายฉัตรเฉลิม เกษเวชสุริยา นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project : JSTP) สวทช. กล่าวว่า เขาน้อย เป็นหนึ่งในเขาหินปูน ของอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ที่มีการพบฟอสซิลของหอยฝาเดียว(Gastropods) จำนวนมาก จึงทำให้สนใจศึกษาโบราณชีววิทยาของหอยฝาเดียวในบริเวณเขาน้อย เพราะอาจเป็นร่องรอยที่บอกเล่าได้ถึงสภาวะแวดล้อมบรรพกาล โดยมี ผศ.ดร.สมชาย นาคะผดุงรัตน์ และ ดร.โยชิโอะ ซาโต เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา “ในการศึกษาได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บตัวอย่างฟอสซิลในบริเวณเขาน้อย และนำตัวอย่างที่ได้มาวิเคราะห์ทางด้านสัณฐานวิทยา ลักษณะโครงสร้างภายนอก ซึ่งผลการจัดจำแนก พบฟอสซิลหอยฝาเดียว 3 สกุล ได้แก่ Lophosplia sp., Trepospina sp. และ Murchisonia sp. กับอีก 2 ชนิดพันธุ์ คือ Naticopsis minoensis และ Naticopsis sp. cf. N. paraealta โดยหอยฝาเดียวชนิด Naticopsis minoensis ที่พบ มีลักษณะการขดแบบเจดีย์ มีขนาดกว้าง 1.0 - 4.2 เซนติเมตร ยาว 1.8 — 4.1 เซนติเมตร หอยชนิดนี้มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ใช้เท้ายึดเกาะอยู่กับโคลนหลังแนวปะการัง เพื่อหลบแรงปะทะของกระแสน้ำ ส่วนหอยฝาเดียวชนิด Naticopsis sp. cf. N. paraealta จะมีลักษณะทั่วไปคล้ายกัน แต่มีขนาดใหญ่กว่าชนิดแรก คือ มีขนาดกว้าง 5.6 เซนติเมตร และยาว 7.4 เซนติเมตร ดำรงชีวิตอาศัยอยู่ในสภาวะแวดล้อมแบบหลังแนวปะการัง เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ บริเวณด้านหน้าเขาหินปูนยังพบฟอสซิลสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ จำนวนมาก เช่น ปะการัง ฟองน้ำ อีกทั้งยังพบ ฟิวซูลินิด กลุ่มของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวชนิด Verbeekina verbeeki ซึ่งถือเป็นฟอสซิลดัชนี (index fossil) ที่สามารถใช้อ้างอิงเพื่อบอกอายุของฟอสซิลและชั้นหินที่มีฟอสซิลเหล่านี้ปรากฏได้ว่าอยู่ในยุคเพอร์เมียนมีอายุราว 276.5 ล้านปีก่อน” นายฉัตรเฉลิม กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลลำดับชั้นหินและฟอสซิลที่พบ บ่งบอกได้ว่า ครั้งหนึ่งบริเวณเขาน้อยเคยเป็นเขตทะเลน้ำตื้นบริเวณหลังแนวปะการัง( Back-reef ) ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านระบบนิเวศสูง เนื่องจากการพบซากดึกดำบรรพ์ที่มีความสัมพันธ์กันเป็นจำนวนมาก และเมื่อกาลเวลาผ่านไปกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาทำให้เปลือกโลกมีการเคลื่อนตัว โดยเปลือกโลกส่วนของแผ่นดินบริเวณฉานไทยได้มุดตัวลงใต้แผ่นอินโดจีน ทำให้น้ำทะเลในแผ่นมหาสมุทรไหลลงไปใต้โลก ขณะเดียวกันแผ่นฉานไทยมีการโค้ง โก่ง ยกตัวสูงขึ้นและมีการผุพังทลายจนกลายเป็นภูเขาที่มีชื่อว่า “เขาน้อย” ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ฟอสซิลที่พบไม่เพียงใช้บอกเล่าถึงอดีตกาลของเขาน้อยเท่านั้น แต่ ดร.โยชิโอะ ซาโต อาจารย์ที่ปรึกษายังตรวจสอบพบว่า ฟอสซิลหอยฝาเดียว Naticopsis minoensis เป็นชนิดเดียวกับที่เคยพบที่ประเทศญี่ปุ่น จึงอาจเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่เชื่อมโยงได้ว่า แผ่นดินไทยกับญี่ปุ่นเคยมีอาณาเขตร่วมกันในยุคเพอร์เมียนมาก่อน ซึ่งจะต้องมีการศึกษาลำดับชั้นหินอย่างละเอียดต่อไป “สำหรับการศึกษาต่อยอด จะทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างฟอสซิลกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังตามแนวรอยเลื่อนเก่าของประเทศไทย โดยหวังว่าจะค้นพบข้อมูลและหลักฐานบางอย่างที่อาจจะนำมาซึ่งการไขปริศนาการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ของสัตว์ทะเลในยุคเพอร์เมียน” นายฉัตรเฉลิม กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ