ผลการประชุม ก.พ.ครั้งที่ 4/2552

ข่าวทั่วไป Monday May 4, 2009 14:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--ก.พ. เมื่อวันจันทร์ที่ 27 เมษายน 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ก.พ. ครั้งที่ 4/2552 ณ อาคารรัฐสภา 3 ชั้น 4 โดยที่ประชุมได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญ ดังนี้ 1. ตาม ที่ ก.พ. ได้มีการพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการตำแหน่งว่างของส่วนราชการ และมีมติให้ส่วนราชการบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งว่างที่มีอยู่โดยเร็ว ภายในวันที่ 30 เมษายน 2552 โดย คณะรัฐมนตรี มีมติ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 เห็นชอบกับแนวทางดังกล่าวแล้วนั้น สำนักงาน ก.พ. ได้พิจารณาเห็นว่าส่วนราชการได้ดำเนินการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลจำนวนหนึ่งแล้ว แต่เนื่องจากส่วนราชการต้องมีการปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งตามหนังสือเวียนสำนักงาน ก.พ. ซึ่งต้องเสนอให้ อ.ก.พ. กระทรวงพิจารณาก่อน และบางส่วนราชการอยู่ระหว่างเรียกบุคคลมาบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งว่างเดือนพฤษภาคม 2552 ประกอบกับเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2552 สำนักงาน ก.พ.ได้รับสมัครสอบบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ ภาค ข ซึ่งจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบภาค ค ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 และจะประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ที่พร้อมสำหรับการเรียกบรรจุให้ ส่วนราชการต่างๆในวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 อีกทั้งในเดือนเมษายนมีวันหยุดราชการหลายวัน จึงเห็นควรขยายเวลาให้ส่วนราชการบรรจุแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งว่างออกไปอีก 45 วัน ซึ่ง ก.พ. ได้มีมติเห็นชอบให้ส่วนราชการดำเนินการสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้ง ในตำแหน่งที่ว่างจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2552 และรายงานให้สำนักงาน ก.พ. ทราบภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 ได้มีมติเห็นชอบ การขยายระยะเวลาดังกล่าวตามมติ ก.พ. แล้ว 2. เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เรื่อง การให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับราชการต่อไปอีกไม่เกินสิบปีเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ เพื่อกำหนดเป็นกฎ ก.พ. ดังนี้ หลักการ ส่วนราชการสามารถดำเนินการให้ข้าราชการที่มีคุณสมบัติในสายงานที่มี การขาดแคลนเชิงปริมาณตามที่ ก.พ. กำหนดรับราชการต่อไปอีกไม่เกินสิบปี เมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ สำหรับสานงานที่ขาดแคลนเชิงคุณภาพ และกรณีอื่นๆให้เสนอ ก.พ.พิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป ทั้งนี้ต้องเป็นความประสงค์ของทางราชการและไม่ใช่การกำหนดตำแหน่ง เพิ่มใหม่ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ก.พ. กำหนดตำแหน่งในสายงานที่จะให้รับราชการต่อ กรณีขาดแคลนเชิงปริมาณ มี 8 สายงาน ดังนี้ ก. ประเภททั่วไป ระดับอาวุโส และระดับทักษะพิเศษ ได้แก่ นายช่างศิลปกรรม นาฏศิลปินคีตศิลปิน และ ดุริยางคศิลปิน ข. ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ และระดับทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นักกฎหมายกฤษฎีกา นายแพทย์ ทันตแพทย์ และนายสัตวแพทย์ สำหรับคุณสมบัติของข้าราชการที่จะได้รับราชการต่อ มีคุณสมบัติเบื้องต้น อาทิ 1. มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ทักษะ ประสบการณ์ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาการ หรือหน้าที่ที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัว ที่หาผู้อื่นปฏิบัติงานแทนได้ยาก 2. ดำรงตำแหน่งที่กำหนดในมาตรา 108 เป็นระยะเวลาต่อเนื่องจนถึงวันที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ก่อนสิ้นปีงบประมาณนั้นไม่น้อยกว่า 1 ปี กรณีนอกเหนือจากนี้ เสนอ ก.พ. พิจารณาเป็นกรณีๆไป 3. ไม่อยู่ในระหว่างการถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีผิดวินัยร้ายแรง 4. ผ่านการตรวจสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่คณะกรรมการแพทย์ของก.พ. กำหนด ขั้นตอนและวิธีการดำเนินการของส่วนราชการ ก.ในกรณีตำแหน่งในสายงานที่ ก.พ. กำหนด ให้เสนอ อ.ก.พ. กรมหรือ อ.ก.พ. กระทรวง พิจารณา ภายในเดือนมีนาคมของแต่ละปีงบประมาณ ข.กรณีตำแหน่งในสายงานอื่นๆ และกรณีอื่น ๆ ให้ส่วนราชการเสนอรายชื่อตำแหน่งพร้อมเหตุผลความจำเป็นของภารกิจ สภาวะการขาดแคลน การกำหนดภารกิจที่จะมอบหมายให้ปฏิบัติและระยะเวลาที่จะให้รับราชการต่อ รวมทั้งเอกสารประกอบ การพิจารณาตัวบุคคล เสนอ อ.ก.พ.กรม และ อ.ก.พ.กระทรวง ก่อนเสนอ ก.พ. พิจารณา ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. จะได้นำเสนอร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญรับราชการต่อไปอีกไม่เกินสิบปีเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ เสนอ อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบราชการพิจารณาก่อนให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎ ก.พ.ต่อไป 3. ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551(มาตรา 43) ข้าราชการพลเรือนสามัญมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพ ในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ และต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการรวมกลุ่มตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ. ได้ดำเนินการศึกษาเพื่อเตรียมการยกร่างราชกฤษฎีกาว่าด้วยการรวมกลุ่มของข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของระบบราชการไทยแล้ว โดยมีการระดมความคิดเห็นเบื้องต้นจากผู้ทรงคุณวุฒิ และข้าราชการบางส่วน ซึ่งที่ประชุมได้ให้คำแนะนำให้สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายในระดับชำนาญการและชำนาญการพิเศษเพิ่มเติม ส่วนเรื่องรูปแบบขององค์กรนั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า สหภาพ และให้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นช่องทางในการแสดงออก ซึ่งความต้องการ รวมทั้งรักษาเกียรติภูมิศักดิ์ศรีของความเป็นข้าราชการด้วย ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.จะได้ปรับปรุงและยกร่างราชกฤษฎีกาว่าด้วยการรวมกลุ่มของข้าราชการพลเรือนสามัญ เสนอ ก.พ. และ คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในคราวต่อไป 4. เห็นชอบกับยุทธศาสตร์การพัฒนาข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2552-2556 ซึ่งมีหลักการสำคัญในการเสริมสร้างให้ข้าราชการพลเรือนมีคุณภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิตมีขวัญกำลังใจ ในการปฏิบัติราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจภาครัฐและประโยชน์สุขประชาชน และมีเป้าประสงค์เพื่อพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และสมรรถนะของข้าราชการทุกระดับให้ปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ เกิดผลสัมฤทธิ์ คุ้มค่า เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน ยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 เน้นการพัฒนาคุณภาพข้าราชการในการปฏิบัติงานบนพื้นฐานของสมรรถนะ ยุทธศาสตร์ที่ 2 เน้นการพัฒนาข้าราชการให้เป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมจริยธรรม มีวินัย และเข้าถึงประชาชน ยุทธศาสตร์ที่ 3 เน้นพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงทุกระดับในองค์การ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายให้สามารถเป็นผู้นำตนเอง ผู้นำทีม ผู้นำองค์การและผู้นำเครือข่าย และยุทธศาสตร์ที่ 4 เน้นการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการทุกคนทุกระดับ ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอรายละเอียด แนวทางปฏิบัติ รวมทั้งมาตรการ ตัวชี้วัดตามยุทธศาสตร์ และเงื่อนไขความสำเร็จในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ก.พ.มีมติให้สำนักงาน ก.พ. นำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนมีหนังสือแจ้งเวียนให้ส่วนราชการถือปฏิบัติ ต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1786 กลุ่มสื่อสารองค์กร สำนักงาน ก.พ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ