“ยุทธศักดิ์ ยืนน้อย” นักเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งแม่ทา

ข่าวทั่วไป Wednesday May 20, 2009 16:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ด้วยอัตราเร่งของความเจริญเติบโตทางวัตถุ และการเข้ามาถึงของกระแสวัฒนธรรมอันหลากหลาย เกินกว่าสังคมการเกษตรของไทยจะรับรู้และปรับตัวไหว ภาพความแตกต่างแปลกแยกของผู้คนและของสังคมจึงมีให้เห็นอยู่เสมอๆ บางครั้งทำให้เยาวชนของชาติเกิดอาการพร่ามัว มองไม่เห็นคุณค่าต้นทุนด้านการเกษตรที่เขามีอยู่ “ยุทธศักดิ์ ยืนน้อย” ความฝันจากออฟฟิศสู่ท้องทุ่ง เฉกเช่นวัยรุ่นทั่วๆ ไปในชนบทที่ต้องการหลีกหนีออกจากอาชีพเกษตรกรรมของครอบครัว “เพิก” ยุทธศักดิ์ ยืนน้อย ลูกชายคนเดียวของ พ่อยุทธชาญ และแม่อำพร ยืนน้อย เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดฝักอ่อนในตำบลแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ จึงวาดภาพอนาคตตัวเองตั้งแต่ยังเด็กถึงการเรียนต่อในชั้นสูงๆ เพื่อทำงานสุขสบายในสำนักงาน มีเงินทองจับจ่ายมากๆ แต่งตัวโก้ๆ มีรถคันหรูขับเข้าหมู่บ้านนำเงินให้พ่อแม่ใช้มากมาย ไม่ว่าจะไปที่ใดก็เป็นที่นับหน้าถือตาของผู้คนในสังคม ทว่าหลังจบการศึกษาชั้น ปวส.ด้านการจัดการที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ และต้องเริ่มต้นชีวิตการงานจริงๆ เพิกก็เริ่มเรียนรู้ว่าความจริงช่างต่างจากความฝันเสียเหลือเกิน เพราะไม่เป็นเรื่องง่ายเลยที่เขาจะหางานทำได้ เพิกตระเวนออกหางานตามห้างร้านและนิคมอุตสาหกรรมนับสิบแห่ง แต่ก็ไม่ได้รับโอกาสให้ทำงานสมกับวุฒิความรู้ที่ครอบครัวอุตส่าห์กัดฟันส่งเสียมา อย่างดีก็แค่เรียกไปสอบสัมภาษณ์ แต่ก็ไม่มีที่ใดตอบรับ ช่วงหนึ่งถึงกับต้องยอมทิ้งวุฒิ ปวส.แล้วนำวุฒิ ม.3 ไปสมัครงานในนิคมอุตสาหกรรม แต่ก็ยังไม่ได้งานทำสักที เมื่อเพิกรู้ซึ้งดีว่าไม่มีที่ไหนให้ไปอีกแล้ว จึงตัดใจกลับมาทำเกษตรกรรมกับพ่อแม่ที่บ้านราว 1 ปี ทำตั้งแต่การไถนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว และทำสวนข้าวโพด เพิกสารภาพว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้รับรู้ถึงความยากลำบากของพ่อแม่ที่ยึดอาชีพเกษตรกรรม อาชีพซึ่งเขาเคยมองข้ามด้วยเชื่อว่าความรู้ที่ร่ำเรียนมาจะช่วยให้มีงานที่ดีกว่านี้ได้ ทว่าด้วยภาระหนี้สินจากการกู้เรียนและหนี้สินของครอบครัวที่พอกพูนขึ้นมาจากการเกษตรที่ต้องพึ่งพาปุ๋ย — สารเคมี ที่นับวันราคามีแต่ถีบตัวสูงขึ้น ทำให้เพิกต้องเข้าเมืองหางานอีกครั้ง คราวนี้ได้งานเป็นแคชเชียร์ในปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน ได้เงินเดือน เดือนละ 4 พันบาท ทำงานอยู่ได้ 2 ปีพบว่าตัวเองไม่มีเงินเหลือเก็บเลยแม้แต่บาทเดียว ความหวังของเพิกที่จะหาเงินใช้หนี้ก็ดูเลือนลาง มิพักต้องพูดถึงการนำรายได้มาเลี้ยงดูพ่อแม่ให้ท่านทั้งสองอยู่สุขสบายมากขึ้น โชคดีที่การกลับบ้านครั้งที่ 2 เพิกได้มีโอกาสทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เผยแพร่ความรู้เกษตรอินทรีย์ และทำวิจัยเรื่องหนี้สินครอบครัวของเกษตรกร อยู่ที่สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา ทำให้เพิกได้รู้จักวิถีเกษตรกรรมยั่งยืน เริ่มฉุกคิดที่จะนำความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ที่ตนเองแนะนำให้ชาวบ้านทำมาทดลองใช้กับแปลงเกษตรของครอบครัวบ้าง โดยหวังว่าจะเป็นมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินของครอบครัว ซึ่งขณะนั้นได้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ เพิกยังจำได้ดีว่าผลกระทบจากหนี้สินครัวเรือนในอดีตเคยสร้างแรงกดดันให้พ่อในฐานะผู้นำครอบครัวต้องเดินทางไปทำงานที่ประเทศไต้หวันเพื่อหาเงินใช้หนี้มาแล้ว กระทั่งพ่อต้องเดินทางกลับก่อนกำหนดเพราะมีปัญหาการจ้างงาน เงินก็ไม่ได้ ทั้งยังมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการกู้ยืมเงินเป็นค่าใช้จ่ายเดินเรื่องทำงาน ครั้งนั้นเอง แม่อำพรจึงตัดสินใจจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทำงานปลดหนี้เป็นการทดแทน เพิกบอกว่าจุดนั้นเองเป็นจุดเปลี่ยนทำให้เพิกตัดสินใจชักชวนพ่อกับแม่นำวิถีเกษตรยั่งยืนมาใช้อย่างจริงจัง โดยมี ลุงประพัฒน์ อภัยมูล ปราชญ์ชาวบ้านผู้วางรากฐานการเกษตรยั่งยืนให้กับตำบลแม่ทา เป็นต้นแบบผู้ให้หลักคิด รวมถึงคำปรึกษา และต่อเติมกำลังใจให้เพิกอดทนและฮึดสู้ ลุงพัฒน์จะย้ำเสมอๆ ว่า “ความมั่นคงของคนเราคืออาหาร ไม่ใช่เงิน” เมื่อยังหนุ่มแน่นต้องทำงานหนักเพื่อชีวิตที่ดีในยามแก่ หรือที่ผูกคำได้ว่า “ยอมตุ๊กต๋อนหนุ่ม จะสุขเมื่อแก่” เพิกจึงยับยั้งการเข้ากรุงเทพฯ ของแม่ได้สำเร็จ และชักชวนให้พ่อกับแม่เปลี่ยนวิถีการเกษตร จากที่มีรายจ่ายจากปุ๋ยและสารเคมี มาเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ ที่พึ่งดินพึ่งฟ้า ด้วยเชื่อว่าเมื่อรายจ่ายน้อยลงแล้ว หนทางใช้หนี้ย่อมเป็นไปได้ ครอบครัวของเพิกเริ่มเลี้ยงวัว ควบคู่กับปลูกข้าวโพดฝักอ่อน-ผักปลอดสารพิษอย่างกวางตุ้งและผักกาดหอมไว้ขาย ปลูกผักพื้นบ้านและผลไม้บางชนิด อาทิ หม่อน มะเขือ ตำลึง มะม่วง ฝรั่ง ฯลฯ ไว้กินเอง อุดรูรั่วในครอบครัว ในชั่วเวลา 4-5 ปี หนี้สินของครอบครัวจึงลดลงและเหลือหนี้กู้ยืมเรียนเพียงไม่กี่หมื่นบาท ขณะเดียวกันครอบครัวของเพิกก็มีเงินเก็บพอสร้างบ้านหลังแรกของครอบครัวได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเพิกและพ่อหลังจากครอบครัวเพิกไม่มีบ้านเป็นของตนเอง ต้องอาศัยอยู่กับยายมาตั้งแต่เด็ก เพิกยังซื้อที่ดินปลูกข้าว ผลไม้ และผักอินทรีย์เพิ่มขึ้นอีก 4 ไร่เพื่อเป็นที่ดินทำกินและหลักประกันความยั่งยืนของครอบครัว ขณะเดียวกันก็เป็นมาตรการของคนในสหกรณ์ฯ ที่ต้องการเก็บรักษาผืนแผ่นดินแม่ทาให้เป็นของชาวแม่ทาเอง ไม่ให้เป็นของนายทุนที่มากว้านซื้อที่ดินจนอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านแม่ทาในอนาคต ถึงวันนี้ เพิกบอกว่าแม้การปลูกพืชปลอดสารเคมีจะยังคงมีเนื้องานที่หนักหน่วงไม่ต่างจากเดิม ทว่าครอบครัวของเพิกกลับมีความสุขมากขึ้น เพราะมีหลักคิดที่ดี พอเพียงในการอยู่กิน ไม่คิดแต่จะหาเงินอย่างอดีต แต่เข้าใจชีวิต ยอมรับนับถือในวิถีของธรรมชาติ พืชผลบางส่วนอาจโดนหนอนโดนแมลงกัดกินไปบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะเพิกเข้าใจดีว่าเป็นเรื่องที่สรรพสิ่งในธรรมชาติต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่เร่งร้อนและคาดหวังว่าพืชผักทุกต้นจะต้องขายแปรเปลี่ยนเป็นตัวเงินได้ เพราะเขาเองก็ไม่ได้เสียเงินค่าปุ๋ยค่าสารเคมี รายได้จากการขายพืชผักที่มีอยู่จึงเพียงพอเลี้ยงเขาและครอบครัวให้มีความสุขได้ เมื่อมีธรรมชาติเป็นมิตร คุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวก็ดีขึ้น ไม่ได้รับพิษภัยจากสารเคมีการเกษตร อาการปวดหลังปวดข้อ หายใจติดขัดที่แม่อำพรเป็นบ่อยๆ ก็หมดไป แม่อำพรเล่าว่ารู้สึกดีใจที่เพิกได้ทำงานอยู่กับครอบครัว ไม่ต้องไปทำงานไกลหูไกลตาให้เป็นห่วง ด้านพ่อยุทธชาญเองก็เปลี่ยนไป จากที่เคยดื่มเหล้ามากก็เปลี่ยนมาเป็นดื่มเหล้าน้อยลงเพราะไม่มีเรื่องให้กลุ้มใจ บทสนทนาในครอบครัวก็มีแต่เรื่องดีๆ พ่อพูดคุยกับเพิกมากขึ้น จากแต่ก่อนจะขึ้นเสียงและตะคอกทุกทีที่คุยกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสัมพันธ์ในครอบครัวจึงมีมากขึ้น พ่อยุทธชาญบอกด้วยว่ารู้สึกดีใจ เมื่อมองย้อนไปในอดีตแล้วก็ไม่เสียใจเลยที่สัญญาจ้างงานที่ไต้หวันมีปัญหา ทำให้ได้กลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่กับครอบครัวได้เร็วขึ้น วางแผนชีวิตสู่เกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา ด้วยคำแนะนำของลุงพัฒน์ เพิกยังเริ่มวางแผนชีวิตตัวเองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพิกหวังว่าในวัย 40 ปี เขาจะมีฐานะที่มั่นคง และจะปลดเกษียณตัวเองได้ในวัย 60 เวลานี้เพิกถือเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ในตำบลแม่ทา เป็นกำลังสำคัญของสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา เป็นเลขานุการให้กับอ้ายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายก อบต.แม่ทา เพิกยังเริ่มแบ่งปันโอกาสที่เขาเคยได้รับให้แก่รุ่นน้อง โดยสมทบเงินเดือนส่วนหนึ่งที่ได้รับจากการทำงานในสหกรณ์เป็นค่าจ้างน้องเยาวชนชาวแม่ทาให้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด ไม่ต้องละถิ่นเข้าแสวงหางานทำในเมืองเหมือนเขาในอดีต แต่ได้มาเรียนรู้วิธีคิด วิธีการใช้ชีวิตจากนักปราชญ์ในชุมชนซึ่งเขาผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว สิ่งเหล่านี้เพื่อตอบแทนชุมชน อย่างที่เขาเชื่อมั่นมาตลอดว่า “เมื่อตัวเรามีความสุข ครอบครัวมีความสุข ก็ต้องทำให้ชุมชนมีความสุขด้วย” “...อยู่ที่บ้านเราปลูกผัก เลี้ยงไก่ บ้านก็มีอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งมันตรงกันข้ามกันเลยกับอยู่ในเมือง เราทำงานผลิตอาหารเอง แถมยังเหลือขายเป็นรายได้ “บ้านก็ไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ” เมื่อท้องอิ่ม นอนอุ่น ก็จะทำให้มีเวลามีโอกาสคิดสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อคนอื่นๆ ได้ ไม่เหมือนการทำงานที่มุ่งแต่ตอบสนองสิ่งพื้นฐานไม่รู้จักจบและก็จะตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มคนที่คอยฉกฉวยเอารัดเอาเปรียบเพราะเราโงหัวไม่ขึ้น ไม่เห็นว่าสังคมเป็นอย่างไร เพราะใช้เวลาทำแต่งานเลี้ยงตัวอย่างเดียว การช่วยเหลือกัน น้ำใจไมตรีต่อกันก็ลดน้อยถอยลง มองถึงคนรอบข้างน้อยลง ในที่สุดสังคมก็ไม่มีความสุข...” เพิก เกษตรกรยั่งยืน ผู้รับไม้ต่อภูมิปัญญาไทย “ไท” ด้านการเกษตรจากแม่ทา ที่วันนี้เป็นหนึ่งในเยาวชนโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวปิดท้ายอย่างมีความสุข. ติดต่อฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์ 0-2544-5692, 086-547-2884

แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ