องค์การอนามัยโลก ระบุทุก ๑๕ นาที ทั่วโลกผู้หญิงถูกข่มขืนถึง ๒๐ ราย พม. จับมือ สตช. ทั่วประเทศ เร่งแก้ปัญหาผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว

ข่าวทั่วไป Wednesday May 27, 2009 13:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--สป.พม. นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ ว่า องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่ากว่า ๑ ใน ๕ ของผู้หญิงทั่วโลกเคยถูกทำร้ายร่างกายหรือทางเพศ และทุก ๑๕ นาที ทั่วโลกจะมีผู้หญิงถูกข่มขืนถึง ๒๐ ราย ประกอบกับข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กและสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรงมาขอรับบริการในปี ๒๕๕๐ มีจำนวนกว่า ๑๙,๐๐๐ ราย หรือเฉลี่ย ๕๒ รายต่อวัน และมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และสุขภาพของบุคคลในครอบครัว ยังส่ง ผลกระทบต่อการพัฒนาสังคมอีกด้วย นายวัลลภ กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๒ พ.ย. ๒๕๕๐ มุ่งให้การคุ้มครองช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และยังมีมาตรการในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำ มีมาตรการคุ้มครองผู้ถูกกระทำตั้งแต่เริ่มมีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ถูกกระทำและผู้พบเห็นเหตุการณ์มีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุ มีการเยียวยารักษาผู้ถูกกระทำ ตลอดจนมุ่งธำรงรักษาไว้ซึ่งสถานภาพอันดีของครอบครัว อย่างไรก็ตาม กฎหมายจะบรรลุเป้าหมายได้นั้นต้องอาศัยกลไกต่างๆ มารองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการรับเรื่องราวร้องทุกข์และการดำเนินคดี ดังนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จึงร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐” เพื่อให้เกิดกลไกและความร่วมมือในการนำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พนักงานสอบสวน หัวหน้าสถานีตำรวจ และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมสัมมนา จำนวน ๑๐ รุ่น รวมกว่า ๕,๐๐๐ คน “ความร่วมมือกันระหว่าง พม. และ สตช. ครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนและจุดประกายการดำเนินงานคุ้มครองบุคคลในครอบครัวจากความรุนแรง ด้วยการนำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และอยากฝากให้ สตช. มีนโยบายให้สถานีตำรวจทุกแห่งให้ความสำคัญต่อการนำกฎหมายฉบับนี้ไปบังคับใช้ พม. เองก็จะเร่งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป เพื่อบูรณาการความร่วมมือให้มีประสิทธิภาพ เพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนต่อไป” นายวัลลภ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ