EU เน้นประเด็น traceability ภายใต้ระบบ RAPEX

ข่าวทั่วไป Thursday June 4, 2009 16:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--คต. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสินค้าที่ไม่ได้ผลิตตามมาตรฐานของสหภาพยุโรปภายใต้ระบบเตือนภัยสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร (Rapid Alert System for Non-Food Products) หรือ RAPEX ประจำปี 2551 พบว่าจำนวนสินค้าอันตรายที่ถูกถอนออกจากตลาดอียูเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 16 ซึ่งรายงานดังกล่าวปรากฎเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ European Voice ฉบับวันที่ 16-22 เมษายน 2552 ว่าระบบ RAPEX มีจุดอ่อนเนื่องจากขาดข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) โดยสินค้าที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน และไม่สามารถทำการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสินค้าและนำตัวผู้ผลิตมารับผิดชอบได้ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ RAPEX อย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถดำเนินมาตรการได้ครบทุกขั้นตอน ส่งผลให้สินค้าที่ได้รับแจ้งว่าไม่ปลอดภัยอยู่ในข่ายที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ และไม่สามารถทราบแหล่งที่มาของสินค้า ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ เชื่อว่าระเบียบใหม่ว่าด้วยการตลาดของสินค้าในสหภาพยุโรป (product marketing in the EU) ซึ่งกำหนดให้ระบุชื่อและที่อยู่ของโรงงานผู้ผลิตสินค้า รวมทั้งชื่อและที่อยู่บริษัทผู้นำเข้า จะช่วยให้การตรวจสอบย้อนกลับมีความคืบหน้า และต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศคู่ค้าด้วย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า รายงานข้างต้นชี้ว่าอียูเริ่มให้ความสำคัญและเข้มงวดมากขึ้นในเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าไม่ปลอดภัย ซึ่งสามารถตรวจจับได้ภายใต้ระบบ RAPEX โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สินค้า Non-food ที่ส่งออกจากไทยยังถือว่าถูกตรวจพบความไม่ปลอดภัยไม่มากนัก แต่ก็ประสบปัญหาการตรวจสอบย้อนกลับบริษัทหรือโรงงานผู้ผลิต ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยได้เตรียมตัวและมีแผนงานที่ชัดเจนในประเด็น traceability สำหรับการส่งออกสินค้าของไทย ก็จะสามารถนำไปประชาสัมพันธ์และช่วยสร้างความมั่นใจต่อหน่วยงานและผู้บริโภคในตลาดอียูได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ