มสธ.ผุด”หนังสือเสียงเดซี” สื่อพิเศษช่วยนักศึกษาตาบอด

ข่าวทั่วไป Tuesday June 9, 2009 16:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กว่า 30 ปีแล้ว ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มหาวิทยาลัยเปิดที่ใช้ระบบการศึกษาทางไกล ที่ได้ชื่อว่ามีระบบการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพมากที่สุดอีกแห่งหนึ่ง ของประเทศ แต่ละปีผลิตบัณฑิตคุณภาพกลับคืนสู่สังคมเป็นจำนวนมาก ยังคงยึดมั่นแนวทางการจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแบบไม่จำกัดสถานะ วุฒิ วัย เวลา รวมทั้งสถานที่เรียน เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาครอบคลุมทั่วทุกกลุ่มชน ทำให้แต่ละปีมีนักศึกษาหลั่งไหลเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยนับหมื่นคน และ ในจำนวนนี้มีนักศึกษาพิการรวมอยู่ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 200 คน ตามระบบการศึกษาทางไกล ผู้เรียนจึงต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองผ่านสื่อต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดไว้บริการ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออีเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสื่อออนไลน์ เลือกหาได้ตามความถนัดของตัวเอง จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนักศึกษาหรือคนปกติทั่วไป แต่เครื่องมือเหล่านี้ยังไม่สามารถสื่อสารกับผู้พิการทางสายตาได้ดีเท่าที่ควร มหาวิทยาลัยจึงได้พัฒนาเอกสารการสอนขึ้นมาใหม่ในรูปแบบของ “หนังสือเสียงเดซี” เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาพิการทางการมองเห็นสามารถใช้สื่อการเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รศ.ดร.จินดา ขลิบทอง รองอธิการบดีฝ่ายบริการการศึกษามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)เปิดเผยว่า มสธ. เริ่มจัดให้มีบริการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาพิการมาตั้งแต่ ปี 2549 โดยมอบหมายให้ฝ่ายแนะแนวการศึกษา สำนักบริการการศึกษา เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำโครงการศูนย์บริการนักศึกษาพิการขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาผู้พิการครอบคลุมทั่วทุกประเภท ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลือตามที่นักศึกษาร้องขอ เช่น จัดสนามสอบพิเศษให้กับผู้พิการที่ไม่สามารถเดินขึ้นบันไดได้ด้วยตัวเอง หรือคนมีปัญหาทางสายตาที่ไม่สามารถอ่านข้อสอบได้ ก็จะมีข้อสอบแบบบันทึกเสียงให้ “มสธ.ให้ความสำคัญกับนักศึกษาเท่าเทียมกันทุกระดับชั้น แต่ในส่วนของผู้พิการทางการมองเห็น ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่เขาควรจะได้รับความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก เนื่องจากนักศึกษากลุ่มนี้ มีปัญหาในการใช้สื่อการเรียนการสอนมากที่สุด หนังสือเสียงเดซี จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้เขาสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองเหมือนคนทั่วไป ” อาจารย์จินดา ยังบอกอีกว่า ในปี 2553 นี้ มสธ.จะจัดตั้งศูนย์บริการนักศึกษาพิการขึ้นมาเฉพาะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาพิการแบบครบวงจรอย่างทั่วถึง ทั้งพัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยเหมาะ กับผู้เรียน ปรับทางเดินตามศูนย์วิทยพัฒนา ทั้ง 10 ศูนย์ทั่วประเทศ และจัดให้บริการอบรมวิชาชีพระยะสั้น เพื่อสร้างอาชีพให้กับผู้พิการและประชาชนทั่วไป คาดว่าในอนาคต มสธ.อาจจะเป็นศูนย์รวมในการให้โอกาสคนทางด้านการศึกษาที่ใหญ่ที่สุด เกี่ยวกับการจัดทำหนังสือเสียงระบบเดซี DAISY (Digital Accessible Information System) ที่ มสธ.จัดทำนี้ ได้รับความช่วยเหลือทั้งจากบุคคล หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มูลนิธิราชสุดา สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย โครงการเดซีประเทศไทย และที่สำคัญ คืออาสาสมัครอ่านหนังสือเสียงเดซี ซึ่งนอกจากได้รับความร่วมมือจากบุคลากรของมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมี อาสาสมัครจากภายนอกยินดีให้ความช่วยเหลือโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน อาจารย์เนตรนภา อินทอง อาจารย์แนะแนวการศึกษาและอาชีพ ฝ่ายแนะแนวการศึกษา สำนักบริการการศึกษา มสธ. ผู้เป็นหัวเรี่ยวแรงหลักของโครงการหนังสือเสียงเดซี เผยถึงจุดเริ่มต้นของการจัดทำหนังสือเสียงเดซี ว่าถือเป็นการตอบสนองความต้องการของนักศึกษาที่พิการทางสายตาที่ร้องขอให้ มสธ.ช่วยจัดทำสื่อการสอนที่เข้าถึง และมีความสะดวกมากขึ้น เราจึงเริ่มนำร่องใน 2 ชุดวิชา คือ นิติศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งมีผู้เรียนจำนวนมาก …การทำหนังสือเสียงเดซี เพื่อใช้ในการเรียนการสอนนั้นค่อนข้างยาก เพราะไม่ใช่แค่อ่านอัดเสียง และแปลงไฟล์อัดเป็นระบบ แต่อาสาสมัครต้องเข้าใจเนื้อหาชุดวิชานั้นๆ ทั้งสำนวนการอ่าน จังหวะ การเว้นวรรค เนื่องจากหนังสือเสียง จะอ่านติดกันเป็นช่วงยาวอย่างคนปกติไม่ได้ การเว้นวรรคของประโยคถือเป็นเรื่องสำคัญ การเน้นคำอาจช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจยิ่งขึ้น รวมถึงศัพท์วิชาการเฉพาะ ที่อาสาสมัครนักอ่านต้องความเข้าใจอย่างลึกซึ้งด้วย “หนังสือ 1 ชุดวิชา อาจมีอาสาสมัครช่วยอ่าน ประมาณ 7-15 คน คือแบ่งอ่านคนละบท สำนวนการอ่านก็จะต่างกัน เราได้วิทยากรจากกรมประชาสัมพันธ์มาช่วยฝึกเรื่องการออกเสียง อักขระต้องชัดเจน ไม่เพี้ยน ทั้งนี้จากการประเมินผลของนักศึกษาที่ได้ใช้หนังสือเสียงเดซี นี้ต่างบอกว่า น้ำเสียงของผู้อ่าน มีผลต่อการฟังเหมือนกัน” สำหรับหนังเสียงเดซีที่มีใช้ทั่วโลก จะมี 2 แบบ คือ มีเฉพาะเสียงอ่าน (NCC Only) และแบบมีเสียงอ่าน มีตัวหนังสือ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวประกอบ (Full Text) ส่วนหนังสือเสียงเดซีที่ มสธ.ทำอยู่ขณะนี้เป็นลักษณะ NCC Only ไม่ยุ่งยากมากนัก โดยจัดเป็นลักษณะสารบัญ หมวดหัวเรื่องใหญ่ และย่อยเป็นหัวเรื่องเล็ก ให้เลือกอ่านตามต้องการได้อย่างรวดเร็วแม่นยำและใช้ได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีซอฟท์แวร์ที่ใช้เปิดอ่านโดยโปรแกรมที่อำนวยความสะดวก เช่น โปรแกรมตาทิพย์ PPA (Text to Speech ภาษาไทย) หรือใช้กับเครื่องอ่านผ่านซีดีระบบเดซีโดยเฉพาะ หรือแม้กระทั่งเครื่องเล่น MP3 บางรุ่น ก็สามารถอ่านได้ “ข้อดีของหนังสือเสียงเดซี เปรียบเทียบง่ายๆ ถ้าอัดไฟล์เป็นเดซี 1 ชุดวิชาตกประมาณ 2 แผ่นซีดี น้อยกว่าสมัยที่เป็นเทปเสียงที่ต้องใช้เทปคาสเซ็ตต์เป็นลังๆ ที่สำคัญ ก็คือความสะดวกรวดเร็วกดเลือกแล้วฟังได้เลย หรือเลื่อนย้อนกลับไปฟังซ้ำได้ ไม่ต้องกดเดินหน้า ย้อนหลัง เพื่อค้นหาข้อความ หรือสุ่มหาเรื่องที่ต้องการฟังอยู่ที่เทปคลาสเซ็ตต์ม้วนใด ที่สำคัญนักศึกษาสามารถจะอ่านหนังสือได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่นอ่านให้ฟังอย่างแต่ก่อน และช่วยให้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น” เบื้องหลังหนังสือเสียงเดซี ต้องอาศัยกำลังหลักของอาสาสมัคร ทั้งกลุ่มนักศึกษา บุคลากรในมหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไปที่มีจิตอาสาเพื่อสังคม ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 100 คน แต่ก็มีอุปสรรคที่เงื่อนเวลาไม่ตรงกัน ประกอบกับห้องบันทึกเสียงของมหาวิทยาลัย สามารถรองรับได้เฉพาะวันอังคารและพฤหัสบดี จึงทำให้การบันทึกเสียงอ่านเป็นไปอย่างล่าช้า “ขณะนี้มสธ.เตรียมจะขยับขยายห้องบันทึงเสียง ให้มีความพร้อมสำหรับใช้บันทึกเสียงทำหนังสือเดซี ตลอดจนเปิดรับสมัครผู้สนใจเป็นอาสาสมัครเดซี ซึ่งนอกจากจะได้ทำประโยชน์เพื่อผู้ที่ด้อยกว่าแล้ว ตัวอาสาสมัครเองยังได้รับการฝึกด้านทักษะภาษาไทย เป็นผลพลอยได้สามารถนำไปใช้ในวิชาชีพต่างๆ ได้ด้วย” อ.เนตรนภา กล่าว อย่างไรก็ตาม มสธ. กำลังเปิดรับสมัครอาสาสมัครเดซี ตารางอบรมเดือน มิ.ย.52 รอบแรกระหว่างวันที่ 11-12 มิ.ย.นี้ รอบที่สอง วันที่26 มิ.ย. และจะเปิดอบรมครั้งที่ 3 ในช่วงปลายเดือน ส.ค. โดยมีวิทยากรจากกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดที่โทร.0-2504-7631-7 หรือเว็บไซต์ www.stou.ac.th นอกจากโครงการหนังสือเสียงเดซี สื่อมัลติมีเดียเพื่อบริการการศึกษาสำหรับผู้พิการในอนาคตแล้ว ในปี 2553 มสธ.ยังมีแผนยุทธศาสตร์จัดตั้งศูนย์บริการนักศึกษาพิการ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจัดบริการการศึกษาให้ครอบคลุมผู้พิการทุกประเภทความพิการ ให้สามารถศึกษาได้ตามศักยภาพของตนเอง ในระบบ การศึกษาทางไกล หมายเหตุ : “ตาทิพย์” เป็นโปรแกรมสังเคราะห์เสียงภาษาไทย (Thai text to Speech) เมื่อใช้โปรแกรมดังกล่าวร่วมกับโปรแกรมอ่านจอภาพของต่างประเทศ (Screen Reader Software) จะทำให้คอมพิวเตอร์แสดงผลทุกอย่างบนหน้าจอเป็นเสียงพูดภาษาไทยควบคู่กันไปด้วย โปรแกรมดังกล่าวนี้ จะช่วยให้คนตาบอดสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ด้วยตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ เบญจรัตน์ สินสงวน (จอย) โทร.089-448-9582

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ