พม. ประชุมหัวหน้าหน่วยงานเร่งสร้าง “รั้วครอบครัว” ให้เป็น “รั้ว” ป้องกันยาเสพติด

ข่าวทั่วไป Friday June 12, 2009 13:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--พม. วันนี้ (๑๒ มิ.ย.๕๒) เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่ รร.ปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานแก่ผู้บริหาร และหัวหน้าหน่วยงานทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันสร้าง “รั้วครอบครัว” ให้เป็นรั้วที่เข้มแข็ง เป็นเกราะป้องกันภัยยาเสพติดในระดับพื้นที่ ร่วมหยุดยั้งและลดระดับปัญหายาเสพติดให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั่วประเทศ มีผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาสังคม และหัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว ทั่วประเทศ ร่วมสัมมนา นายอิสสระ สมชัย กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ติดยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ เนื่องสาเหตุหลายประการ เช่น พื้นที่ด้านชายแดนส่วนใหญ่ติดต่อกับแหล่งผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจัยเสี่ยงด้านสังคม ความอ่อนแอของครอบครัวและชุมชน เป็นต้น รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์และกลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมอบหมายให้ทุกกระทรวงจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดในระดับกระทรวง ทำหน้าที่เป็นกลไกประสานงานกับ กอ.รมน. และให้มีศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดระดับจังหวัด ทำหน้าที่บูรณาการการทำงาน และผนึกกำลังทุกภาคส่วนร่วมกันนำนโยบายสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ ภายใต้แนวคิดยุทธศาสตร์ ๕ รั้วป้องกัน ได้แก่ รั้วชายแดน รั้วชุมชน รั้วสังคม รั้วโรงเรียน และรั้วครอบครัว ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันภัยยาเสพติดในระดับพื้นที่ ตลอดจนหยุดยั้งและลดระดับปัญหายาเสพติดให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั่วประเทศ นายอิสสระ กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพ “รั้วครอบครัว” มีแนวทางการปฏิบัติร่วมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ดังนั้น ๑. เร่งพัฒนาคนและสังคม ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคง และเป็น “รั้ว” ที่มีคุณภาพ ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ คาราวานเสริมสร้างเด็ก เพื่อเปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน มีพื้นที่ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว ๒. เสริมสร้างบทบาทของครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการสร้างวัฒนธรรมที่ดีงามเช่นในอดีตให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ๓. ขยายบทบาทภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ให้มีส่วนร่วมเฝ้าระวัง สอดส่องปัญหาสภาพสังคมในพื้นที่ ๔. เพิ่มบทบาทของอาสาสมัครกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ให้สามารถสนับสนุนการดำเนินงานด้านยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น ๕. ร่วมสกัดกั้นปัญหายาเสพติดเชิงรุก โดยการประชาสัมพันธ์สร้างความร่วมมือจากมวลชนในทุกระดับ ๖. บูรณาการเชื่อมโยงปัจจัยเชิงบวก ทั้งชุมชนเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสมกับพื้นที่แต่ละแห่งตามปัจจัยสิ่งแวดล้อมของชุมชนนั้น นายอิสสระ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน เพื่อเป็นกลไกในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหา ตลอดจนส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวในระดับชุมชน ซึ่งขณะนี้ มีจำนวน ๔,๒๕๒ ศูนย์ และจะได้เร่งดำเนินการจัดตั้งให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ