‘สถาบันอาหาร’ แนะอุตฯ อาหารไทย เร่งศึกษาต้นแบบเกาหลีใต้ สร้างเม็ดเงินจากอุตสาหกรรม Functional Food ของไทยในอนาคต

ข่าวทั่วไป Friday June 19, 2009 13:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพมาแรง ผู้บริโภคทั่วโลกแห่ตอบรับ ตลาดกลุ่ม “Functional Food” มาแรงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ทั้งญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร แนะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทย เร่งศึกษาตลาดจริงจัง ดึงเกาหลีใต้เป็นต้นแบบ หวังให้ผู้ผลิตไทยใช้ต่อยอดอุตสาหกรรม Functional Food ไทยให้เติบโตในอนาคต โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันโรค และการควบคุมน้ำหนัก เน้นสร้างจุดขายให้ผลิตภัณฑ์ของไทยมีความโดดเด่น และสร้างความเชื่อมั่นให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วโลก นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาหารเพื่อสุขภาพได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากกระแสรักสุขภาพและแนวคิดในการป้องกันโรคด้วยการบริโภคอาหารแทนยา ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่ม “Functional Food” ซึ่งตลาดที่มาแรงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค นอกเหนือจากญี่ปุ่น และจีนแล้วนั้น ตลาดที่สำคัญและกำลังเติบโตไม่แพ้กัน คือ “ตลาดเกาหลีใต้” “ในปี 2550 มูลค่าตลาด Functional Food ในเกาหลีใต้มีมูลค่าสูงถึง 7,235 ร้อยล้านวอน หรือ 20,258 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ที่ขายดี 10 อันดับแรก ได้แก่ โสมแดง, ผลิตภัณฑ์ว่านหางจระเข้, ผลิตภัณฑ์ประเภทสารอาหาร, โสม, ผลิตภัณฑ์กลูโคซามีน, ผลิตภัณฑ์ประเภทเสริมสมรรถภาพทางร่างกาย, ผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายคลอเรล่า, ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีแลคโตบาซิลัสเป็นส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ประเภท EPA/DHA และ ผลิตภัณฑ์ประเภท Gamma Linolenic Acid ซึ่งผลิตภัณฑ์ 3 อันดับแรกมีมูลค่าการขายคิดเป็นร้อยละ 67 ของยอดขายทั้งหมด” สำหรับผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในตลาด นอกจากจะผลิตในประเทศเกาหลีแล้วนั้น เกาหลีใต้ยังมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ Functional Food เข้ามาจำหน่ายในประเทศด้วย โดยผลิตภัณฑ์นำเข้าที่มียอดขายสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์ประเภทสารอาหาร 2) ผลิตภัณฑ์ประเภท EPA/DHA 3) ผลิตภัณฑ์ว่านหางจระเข้ 4) ผลิตภัณฑ์ประเภทเสริมสมรรถภาพทางร่างกาย 5) ผลิตภัณฑ์กลูโคซามีน 6) ยีสต์ 7) ผลิตภัณฑ์ประเภท Gamma Linolenic Acid 8) ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง 9) ผลิตภัณฑ์จากองุ่น และ 10) ผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายคลอเรล่า ผลิตภัณฑ์ที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในเกาหลีใต้ได้นั้น ต้องมีใบรับรองสุขอนามัย ใบรับรองการจำหน่ายได้ทุกสถานที่ และใบรับรองหลักเกณฑ์ปฏิบัติที่ดีในการผลิต ผอ. สถาบันอาหาร กล่าวด้วยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรม Functional Food ในเกาหลีใต้คาดว่าจะเติบโตต่อไป เพราะผู้บริโภคมีความต้องการมากขึ้นเป็นลำดับ โดยมุ่งไปในผลิตภัณฑ์เพื่อการป้องกันโรคและการควบคุมน้ำหนักเป็นสำคัญ สำหรับประเทศไทยนั้น Functional Food ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับ ผู้ผลิตและผู้บริโภคและวงจรชีวิตอุตสาหกรรมยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ดังนั้น การศึกษาต้นแบบจากประเทศ ชั้นนำในตลาดโลก เช่น เกาหลีใต้ จึงถือเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดให้กับอุตสาหกรรม Functional Food ของไทยต่อไป โดยเฉพาะการสร้างจุดแข็งที่ไม่มีประเทศใดสามารถทำได้เหมือน ดังเช่นที่เกาหลีใต้ใช้ “โสม” รวมถึงการสร้างจิตสำนึกและความเชื่อมั่นให้คนในประเทศมั่นใจในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วยการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการแสดงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ “เกาหลีใต้” ยังถือเป็นตลาดที่น่าสนใจในการส่งออกผลิตภัณฑ์ Functional Food ของไทยไปจำหน่าย เพราะชาวเกาหลีใต้ยินดีที่จะซื้อและให้การยอมรับในผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศ หากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นดีจริง ดังเช่น หากเป็นวิตามินจะเลือกซื้อตราสินค้าที่เป็นของบริษัทผู้ผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกา และหรือออสเตรเลีย ดังนั้นหากผลิตภัณฑ์ของไทยมีความโดดเด่นและมีการสร้างความเชื่อมั่นให้เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลกชาวเกาหลีใต้ก็เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของไทย ในอันดับแรกแทนที่จะไปเลือกซื้อในตราสินค้าของประเทศ อื่นๆ ที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 0 2158 9416-8/ 0 8 9484 9894

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ