ชุมชนพอเพียงทำทีมเบญจภาคีกว่า 500 ชีวิต ลงสนามเรียนรู้วิถีชีวิตพอเพียงแบบบูรณาการ ที่ จ.ชุมพร

ข่าวทั่วไป Thursday July 9, 2009 11:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--โครงการชุมชนพอเพียง พร้อมร่วมกันประกาศปฏิญญาขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางสำหรับเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โครงการชุมชนพอเพียง เดินหน้าขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติจริง ระดมตัวแทนเบญจภาคีและเครือข่ายต่างๆ กว่า 500 ชีวิตร่วมศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงระดับพื้นที่ลุ่มน้ำ ภายใต้โครงการ “ฟื้นฟูทะเลไทยจากภูผาสู่มหานทีด้วยพลังเบญจภาคี” กรณีพื้นที่ลุ่มน้ำจังหวัดชุมพร ที่ได้รับความสำเร็จมาแล้ว เพื่อให้เห็นภาพรวมของการบูรณาการ การดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จากลุ่มน้ำสู่มหานที ให้เป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน พร้อมเผยเคล็ดลับความสำเร็จอยู่ที่ชุมชน ภาคี ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล ย้ำหัวใจภาคีอยู่ที่ความสามัคคี ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชุมชนพอเพียง เปิดเผยว่า จังหวัดชุมพรมีการรวมตัวกันในลักษณะเบญจภาคีที่ประกอบด้วย ราชการ วิชาการ ประชาชน ธุรกิจ และองค์กรพัฒนาเอกชนและสื่อ เชื่อมโยงเครือข่ายกันเป็นระบบลุ่มน้ำ ตั้งแต่สังคมคนป่าต้นน้ำ คนกลางน้ำ คนปลายน้ำและคนที่อยู่กับท้องทะเล กลายเป็นสังคมคนทั้งลุ่มน้ำใช้ชื่อว่า เครือข่ายจากภูผาสู่มหานที ผสานกันเข้าจนเป็นเนื้อเดียวกันเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งที่สุดในประเทศ มีการทำหน้าที่ร่วมกัน ขับเคลื่อนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เศรษฐกิจพอเพียง ธนาคารต้นไม้ การท่องเที่ยวโดยชุมชน การอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล เครือข่ายดังกล่าวประสบความสำเร็จในการจัดการกลุ่มร่วมกันโดยผนวกเอาประเด็นเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน และมีการสื่อสารออกไปจนเป็นที่ประจักษ์ในความเชื่อมโยงกันของเครือข่าย จากคนป่าต้นน้ำที่อำเภอพะโต๊ะ คนกลางน้ำที่ตำบลวังตะกอ สวนลุงนิล และคนปลายน้ำที่ป่าชายเลนทุ่งคาสวี ไปจนถึงคนที่อยู่กับทะเลอย่างเกาะพิทักษ์และชุมพรคาบาน่า รวมถึงชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดชุมพร “ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลมาจากการร่วมมือกันของพลังเบญจภาคี ที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ชุมชนอื่นๆ โครงการชุมชนพอเพียง จึงได้เชิญตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 500 คน เข้าร่วมกิจกรรม โดยมีเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ 52 ศูนย์ กับธนาคารต้นไม้ 400 สาขาทั่วประเทศ เครือข่ายจากภูผาสู่มหานที และเบญจภาคีต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ จ.ชุมพร ภาคีภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและสื่อ ตลอดจนเครือข่ายเบญจภาคี จ.ชุมพร เป็นแนวร่วมสำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้ตัวแทนได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนทัศนะ อีกทั้งยังช่วยกันหาแนวทางในการบริหารจัดการโครงการของแต่ละชุมชน เพื่อให้การดำเนินโครงการของแต่ละชุมชน ประสบความสำเร็จและมีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องยั่งยืน” ดร.สุมิท กล่าว ทั้งนี้เครือข่ายจากภูผาสู่มหานที ได้ทดลองฟื้นฟูทะเลไทยด้วยเทคโนโลยีจุลินทรีย์เมื่อต้นปี 2552 โดยใช้จุลินทรีย์ก้อนไปฝังไว้ใต้ท้องทะเลที่อ่าวครก อ.หลังสวน จ.ชุมพร ผลที่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ท้องทะเลที่เสื่อมโทรมสามารถฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพได้ด้วยเทคโนโลยีจุลินทรีย์ อันเป็นองค์ความรู้ของเครือข่าย ทางเครือข่ายจึงใช้แนวทางการทำกิจกรรมของสังคมที่ผูกสัมพันธ์กัน สำหรับกิจกรรม จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 — 21 มิถุนายน ที่จ.ชุมพร ในรูปแบบของการอภิปราย แลกเปลี่ยนความรู้ และปฏิบัติจริง กับชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง การศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้าน (การนอนโฮมสเตย์) พร้อมการลงมือปฏิบัติภารกิจต่างๆ ทั้งการฟื้นฟูต้นน้ำ การบำบัดน้ำ การปฏิบัติการฟื้นฟูทะเลไทย นอกจากนั้นยังมีการร่วมเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ นำโดย อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และแกนนำเครือข่ายจากภูผาสู่มหานที ตลอดจนร่วมกันการประกาศปฏิญญาขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป “รัฐบาลเห็นความสำเร็จและความเป็นไปได้ ก็พยายามจะให้เกิดการทำงานในลักษณะเบญจภาคีขึ้นโดยหวังจะให้มีความสำเร็จทั่วทั้งประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำแบบเดียวกันนี้ได้ทุกพื้นที่ แต่นี่คือหัวใจสำคัญและเป็นฐานคิดหลักในการร่วมกันขับเคลื่อนปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้สำเร็จและเห็นเป็นรูปธรรม ดร.สุมิท กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาจุดอ่อนของการขับเคลื่อนแนวคิดปรัชญาพอเพียงคือแยกกันทำ การแยกกันทำแบบไม่ได้ร่วมแรงร่วมใจทำให้เกิดความอ่อนแอ พลังในการขับเคลื่อนไม่เกิด และการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการทำงานในลักษณะเบญจภาคี ให้เป็นภาพรวมของการบูรณาการนั้น ก็มีจุดมุ่งหมายคือต้องการให้เกิดความสามัคคี ความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ซึ่งถือเป็นการพลิกมิติการทำงานแนวใหม่ โดยมีการนำภาคีต่างๆ มารวมพลังในการทำงาน ซึ่งแต่ละจังหวัดอาจไม่จำเป็นต้องทำงานหรือขับเคลื่อนแนวคิดปรัชญาพอเพียงแบบจังหวัดชุมพรก็ได้ เพราะแต่ละจังหวัดมีเอกลักษณ์ มีความหลากหลาย “การขับเคลื่อนแนวคิดปรัญญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนนั้น แต่ละพื้นที่ต้องดูความเหมาะสมของตัวเองเป็นหลัก และ ลักษณะการทำงานแบบภาคีไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบใดแบบหนึ่งที่ตายตัว ขอเพียงแต่มีการร่วมมือกันของทุกฝ่ายและทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและอยู่บนพื้นฐานของการมีชีวิตที่มีความสุข พออยู่พอกินตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อนั้นการขับเคลื่อนก็จะเดินหน้าไปอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน” ดร.สุมิทกล่าวสรุป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2629-9226 info@chumchon.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ