รมว.พม. เปิด “มหกรรมต้นแบบคนพิการไทย” รวมสุดยอดคนเก่ง หัวใจแกร่ง สร้างแรงบันดาลใจแก่คนพิการ พร้อมปรับทัศนคติสังคมเปิดโอกาสคนพิการโชว์ศักยภาพเท่าเทียมคนทั่วไป ย้ำรัฐบาลพร้อมผลักดันให้คนพิการเป็นพลังของสังคม

ข่าวทั่วไป Wednesday July 15, 2009 15:06 —ThaiPR.net

Bangkok--15 Jul--สป.พม. รมว.อิสสระ สมชัย ประกาศรัฐบาลพร้อมจ่ายเบี้ยความพิการให้กับคนพิการที่จดทะเบียน เดือนละ ๕๐๐ บาท เริ่มเมษายน ๒๕๕๓ เป็นต้นไป สั่งเร่งรณรงค์จดทะเบียนคนพิการหลังพบข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี ๕๐ ไทยมีคนพิการ ๑.๙ ล้านคน จดทะเบียนแล้วแค่ ๘ แสนคน อีกล้านเศษ ยังเข้าไม่ถึงบริการจดทะเบียนคนพิการ ทำให้ขาดโอกาสเข้าถึงสิทธิด้านต่าง ๆ ทั้งการแพทย์ การศึกษา อาชีพ สวัสดิการและการพัฒนาศักยภาพ เตรียมผลักดัน ๑๐ มาตรการหนุนเสริมคนพิการร่วมเป็นพลังให้สังคม วันนี้ (๑๕ ก.ค.๕๒) เวลา ๐๙.๓๐ น. ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ฮออล์ ๙-๑๐ ศูนย์การแสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิดงานมหกรรมต้นแบบคนพิการไทย พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่คนพิการต้นแบบ เพื่อสร้างแบบอย่างและแรงบันดาลใจในการพัฒนาศักยภาพและคุณค่าคนพิการ จัดโดย พม. ร่วมกับสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายอิสสระ กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงคุณค่าของคนพิการ ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นทรัพยากรบุคคลของประเทศ และได้ดำเนินการเพื่อให้คนพิการได้รับการพัฒนาศักยภาพและคุ้มครองพิทักษ์สิทธิด้านต่างๆ ตั้งแต่การประกาศใช้ พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. ๒๕๓๔ จนถึง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ รวมทั้งได้มีการจัดทำแผนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระยะ ๕ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ จนถึงปัจจุบัน ขณะนี้อยู่ในช่วงของแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔) ซึ่งจะส่งผลให้คนพิการได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างครบวงจรและเป็นระบบมากขึ้น ทั้งทางด้านการแพทย์ การศึกษา อาชีพ และสังคม ทำให้คนพิการสามารถพึ่งตนเองและดำรงชีวิตในสังคมได้ในระดับหนึ่ง ที่สำคัญ ครอบครัว ชุมชน และสังคม ต้องมีเจตคติที่ดีต่อคนพิการ มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับความพิการ และคนพิการ ตลอดจนให้การยอมรับ ให้โอกาสคนพิการในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ และการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะประสบความสำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนของสังคม “ขณะนี้ รัฐบาลได้ผลักดันภารกิจสำคัญเรื่องคนพิการหลายเรื่อง เช่น การรณรงค์จดทะเบียนคนพิการ ซึ่งจะนำมาสู่การเข้าถึงสิทธิในด้านต่าง ๆ ข้อมูลประมาณการของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี ๒๕๕๐ ประเทศไทย มีคนพิการประมาณ ๑.๙ ล้านคน จดทะเบียนแล้ว ๘ แสนกว่าคน หรือ ๔๐% อีกประมาณ ๑ ล้านคนเศษ หรือ ๕๙% ยังเข้าไม่ถึงบริการจดทะเบียนคนพิการ จึงต้องเร่งรณรงค์เป็นอันดับแรก และเพื่อเป็นการเอื้ออำนวยให้คนพิการได้รับความช่วยเหลือ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พม. ยังได้นำเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบกำหนดเป็นระเบียบว่าด้วยการจัดสวัสดิการเบี้ยความพิการให้กับคนพิการทุกคนที่จดทะเบียน เดือนละ ๕๐๐ บาท ตั้งแต่เมษายน ๒๕๕๓ เป็นต้นไปอีกด้วย” นายอิสสระ กล่าว จากแนวคิดที่มุ่งพัฒนาศักยภาพให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ ลดการพึ่งพาผู้อื่นให้มากที่สุด การจัดสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกอาคารที่ให้เอื้อต่อคนพิการ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง “พม. ได้นำเสนอ ครม.พิจารณาและมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๑๙ พ.ค.๕๒ ให้หน่วยราชการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้โดยง่าย โดยกำหนดให้โรงพยาบาล จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ตามกฎกระทรวง พ.ศ. ๒๕๔๘ ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหน่วยราชการ สถาบันการศึกษา สถานีตำรวจ ต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ทางลาด ห้องน้ำ ที่จอดรถ ป้ายสัญลักษณ์ และบริการข้อมูล ภายในปี ๒๕๕๔ และให้หน่วยราชการดังกล่าวรายงานผลทุก ๖ เดือน เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีทราบ” นายอิสสระ กล่าว นายอิสสระ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคนพิการทางการได้ยิน นับเป็นคนพิการอีกกลุ่มหนึ่งที่มักถูกละเลยจากสังคม เนื่องจากอุปสรรคด้านการสื่อสาร ดังนั้น การจัดให้มีระบบบริการล่ามภาษามือ ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการและการมีส่วนร่วมทางสังคมอีกด้วย โดยคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการทางการได้ยิน มีสิทธิยื่นเรื่องขอรับบริการล่ามภาษามือได้ในกรณีต่างๆ ได้แก่ การติดต่อขอใช้บริการทางการแพทย์ สาธารณสุข การสมัครงาน การประกอบอาชีพ การร้องทุกข์ กล่าวโทษ การเป็นพยาน การเข้าร่วมประชุมสัมมนา ฝึกอบรม และอื่นๆ ตามประกาศกำหนด กับทั้งการช่วยเหลือโดยใช้มาตรการทางภาษี เพื่อให้คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี รวมไปถึงองค์กรเอกชนที่ทำงานสนับสนุนคนพิการด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ