“GSP กลุ่ม CIS” ตลาดที่ไม่ควรมองข้าม

ข่าวทั่วไป Thursday July 16, 2009 15:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--คต. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า กลุ่ม CIS (Commonwealth of Independent States) คือ รัฐอิสระต่าง ๆ ที่แยกออกมาจากสหภาพโซเวียตรัสเซีย ซึ่งมีจำนวน 11 ประเทศ ประกอบด้วย Armenia, Azerbaijan, Belarus, Georgia, Kazakhstan, Kyrgyzstan, Moldova, Russia, Tajikistan, Ukraine และ Uzbekistan ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือ “GSP” แก่ประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานกว่า 40 ปี ในสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจำนวนหลายรายการอย่างไม่มีการจำกัดโควตาหรือเพดานในการให้สิทธิฯ โดยลดหย่อนภาษีนำเข้าปกติลงถึงร้อยละ 25 ภาวะการค้าระหว่างไทยกับกลุ่ม CIS ในไตรมาสแรกของปี 2552 (ม.ค.- มี.ค.) มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 434.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยมีการส่งออกมูลค่า 134.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้ามูลค่า 299.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากลุ่ม CIS 164 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มียอดขาดดุลการค้า 443 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP ในไตรมาสแรกของปี 2552 กรมการค้าต่างประเทศได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Form A) เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีขาเข้ากลุ่มประเทศ CIS จำนวน 1,728 ฉบับ มูลค่า 32.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีการใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ ข้าว (ร้อยละ 52 ของการใช้สิทธิรวม) ผัก/ผลไม้ปรุงแต่ง (ร้อยละ 9) สับปะรดปรุงแต่ง (ร้อยละ 6) ข้าวโพดหวานปรุงแต่ง (ร้อยละ 4) และกุ้งปรุงแต่ง (ร้อยละ 4) เป็นต้น อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดของกลุ่มประเทศ CIS เป็นตลาดที่มีถึง 11 ประเทศ และเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะรัสเซียที่จะเป็นประตูสู่ประเทศ CIS อื่น ๆ แต่ไทยยังมีการส่งออกน้อยมาก ซึ่งไทยก็ได้รับสิทธิ GSP จากกลุ่มประเทศเหล่านี้ ฉะนั้นจึงไม่ควรมองข้ามสิทธิ GSP ที่ไทยได้รับ ซึ่งจะทำให้ได้เปรียบในการลดภาษีปกติลงถึงร้อยละ 25 และขณะนี้ กรมฯ มีกำหนดการจัดสัมมนาในเรื่อง “GSP-Buffet…เปิดลู่ทางการส่งออกในภูมิภาคยุโรป” จึงขอเชิญชวนให้ผู้ส่งออก/ผู้ประกอบการเข้าร่วมรับฟังในสิทธิประโยชน์จาก GSP จำนวนมากที่ไทยได้รับจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคยุโรป ซึ่งจะมีการ จัดสัมมนาขึ้น ในวันพุธที่ 22 กรกฎาคม ศกนี้ ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนปาร์คกรุงเทพฯ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ โทร. 1385 หรือ สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า โทร. 0 2547 4872

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ