เร่งสแกนหาผู้ป่วยทุกตารางนิ้ว หยุดยั้งการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 ในกทม.

ข่าวทั่วไป Thursday July 16, 2009 16:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. รองผู้ว่าฯ มาลินี เรียกประชุมผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการสำนักงานเขต มอบนโยบายเร่งด่วน พร้อมหาแนวทางปฏิบัติร่วมกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ใน กทม. เดินหน้าส่งเจ้าหน้าที่ และ อสส. ลงชุมชนสแกนหาผู้ป่วยทุกตารางนิ้ว พร้อมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติตนแก่ประชาชน และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและต่อสู้ไข้หวัดใหญ่ 2009 (16 ก.ค. 52) พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร ระดับ 8—10 จำนวน 44 คน เจ้าหน้าที่สนับสนุนการตรวจราชการ และผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม. เพื่อชี้แจงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 การเตรียมการรับมือ พร้อมทั้งมอบหมายภารกิจและแนวทางปฏิบัติในการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคแก่หน่วยงานในสังกัด ส่งเจ้าหน้าที่ และ อสส. ลงพื้นที่สแกนหาผู้ป่วยทุกเขต สำหรับแนวทางการสำรวจหาผู้ป่วยและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดำเนินการโดยให้แต่ละเขตส่งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขลงพื้นที่คัดกรองผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเพิ่มเติมด้วยการ พบปะ พูดคุย สำรวจข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในชุมชน หากพบประชาชนที่มีอาการผิดปกติต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 เช่น มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ อาศัยอยู่หรือเดินทางมาจากพื้นที่ที่พบผู้ป่วยในระยะ 7 วันก่อนเริ่มป่วย เป็นผู้สัมผัสร่วมบ้านหรือทำงานกับผู้ป่วย เป็นต้น ให้แจ้งข้อมูลไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข และคัดกรองแยกผู้สงสัยว่าอาจติดเชื้อให้ความรู้ในการใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังคนอื่น พร้อมทั้งสังเกต และเฝ้าระวังอาการภายใน 48 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นเจ้าหน้าที่จะส่งเข้ารับการรักษาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือส่งต่อรับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใช้บริการตามสิทธิต่อไป ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติจะให้ความรู้ในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อ กำชับผู้ตรวจฯ ติดตามการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตต่อเนื่อง วันนี้เวลา 11.00 น. รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการทุกคนลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในแต่ละพื้นที่เขต พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมประชาชนและให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติตนเมื่อสงสัยว่าติดเชื้อ หรือการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ โดยกำหนดให้มีการประชุมติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน รับทราบปัญหา ข้อเสนอแนะ ทุกสัปดาห์ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างจริงจัง จากนั้นเวลา 13.00 น. ได้ประชุมผู้อำนวยการเขต โดยกำชับให้ประสานงานกับโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครในพื้นที่เพื่อติดตามผลการตรวจวัดไข้ของเด็กนักเรียน จัดเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครสาธารณสุขลงชุมชนทุกพื้นที่คัดกรองผู้ป่วยต่อเนื่อง รวมถึงแหล่งชุมนุมชนอื่นๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ เป็นต้น และให้มีการประสานขอความร่วมมือสถานประกอบการ และหน่วยงานในพื้นที่สำรวจพนักงาน เจ้าหน้าที่ของตนสม่ำเสมอ หากพบว่ามีอาการป่วยหรือต้องสงสัยติดเชื้อก็ให้กลับไปพักผ่อนที่บ้านและพบแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมทั้งให้มีการฉีดวัคซีนแก่เจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นใจตนเองและประชาชนในการปฏิบัติงาน หลักปฏิบัติง่ายๆ ป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 รองผู้ว่าฯ มาลินี กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นโรคที่มีอาการคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ไม่รุนแรง แต่สามารถแพร่ระบาดได้เร็ว ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้ จึงจำเป็นต้องลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้ติดเชื้อ ซึ่งทำได้ไม่ยากเพียงล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือแอลกอฮอล์เจลเพื่อฆ่าเชื้อ ใส่หน้ากากอนามัยหรือผ้าปิดจมูกเมื่อมีอาการไข้หวัด หรือเข้าไปในที่ชุมชนที่มีคนอยู่จำนวนมาก เช่น โรงหนัง ห้างสรรพสินค้า คอนเสิร์ต สถานบันเทิงต่างๆ ฯลฯ รวมถึงเมื่อมีความจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยไข้หวัด เมื่อเป็นหวัดให้หยุดเรียน หยุดทำงาน พักผ่อนที่บ้าน หากมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย หรือกินยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้นให้รีบพบแพทย์ ที่สำคัญดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งนี้การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในประเทศไทย คาดว่าจะมีระยะเวลาประมาณ 1—3 ปี และมีผู้ป่วยทั้งหมดประมาณ 3,000,000 คน ประชาชนบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่อาจป่วยรุนแรงจนเสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด โรคหัวใจ เบาหวาน ไต ฯลฯ ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ผู้ที่มีโรคอ้วน หญิงมีครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แต่หากทุกคนให้ความสำคัญ ร่วมแรงร่วมใจกันในการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ก็จะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้เรื่อยๆ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและต่อสู้ไข้หวัดใหญ่ 2009 กรุงเทพมหานครกำหนดตั้งศูนย์ปฏิบัติงานป้องกันและต่อสู้ไข้หวัดใหญ่ 2009 ระดับกรุงเทพมหานคร และระดับเขต ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 ก.ค. 52 โดยระดับกรุงเทพมหานครมี พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นที่ปรึกษา และ ดร.พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน สำหรับระดับเขตให้ผู้อำนวยการเขตเป็นประธาน ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต เป็นรองประธาน หัวหน้าฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน โดยมีหน้าที่นำนโยบายของกรุงเทพมหานคร สู่การปฏิบัติระดับเขต วางแผนดำเนินการสำรวจ ค้นหาผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงที่เป็นไข้หวัด 2009 ในพื้นที่ครอบคลุมทุกเพศ ทุกวัย เป็นศูนย์ประสานงานกรณีที่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาล และรายงานผลการดำเนินงานผ่านกองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ทุกวัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ