สภากทม. ประชุมสรุปข้อดี-ข้อเสียการกำจัดขยะด้วยการเผา

ข่าวทั่วไป Thursday July 16, 2009 16:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. คณะกรรมการวิสามัญศึกษาผลกระทบการสร้างเตาเผาขยะ พิจารณาเตาเผาขยะแบบตะกรับเพิ่มเติม เตรียมสรุปข้อดี-ข้อเสียแต่ละรูปแบบ เสนอสภากทม.ก่อนให้ความเห็นชอบ นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญ ศึกษาความเป็นไปได้ และผลกระทบจากการกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีการเผา ประชุมคณะกรรมการฯ ร่วมกับผู้แทนสำนักสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุม 4 สภากรุงเทพมหานคร ประธานคณะกรรมการ กล่าวถึงความคืบหน้าการศึกษาก่อสร้างเตาเผาขยะในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า จากการศึกษารูปแบบ ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ พบว่ามีความเป็นไปได้แตกต่างกัน อย่างไรก็ดีคณะกรรมการฯ จะพิจารณาโดยคำนึงถึงรูปแบบ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างมลพิษน้อยที่สุดด้วย ซึ่งล่าสุดผู้ผลิตจากบริษัท HITACHI ZOSEN CORPORATION ได้นำเสนอเตาเผาขยะแบบตะกรับ ซึ่งเป็นเตาเผาขยะที่ใช้เครื่องจักรโดยไม่ต้องใช้แรงงานคน ลักษณะเตาเผาและตะกรับที่รับขยะมีขนาดใหญ่ เตาเผาเครื่องนี้จะไม่เพียงแต่กำจัดขยะเท่านั้น แต่สามารถกำจัดก๊าซที่ไม่ต้องการได้ด้วย นอกจากนี้บริเวณตะกรับจะมีการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าและข้างหลัง เพื่อให้สามารถเก็บก๊าซที่ต้องการได้อีกด้วย ทั้งนี้สามารถเผาขยะได้ 300 ตันต่อวัน ซึ่งเตาเผาชนิดนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้รับไว้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ หลังจากศึกษารูปแบบทั้งหมดแล้วคณะกรรมการฯ จะได้สรุปรายงานทั้งข้อดี-ข้อเสียของทุกรูปแบบอย่างละเอียด โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาดังนี้ คือ พิจารณาถึงความทันสมัยของเทคโนโลยี ความน่าเชื่อถือหรือความมั่นคงของบริษัทที่นำเสนอ และงบประมาณที่ใช้ในการลงทุน ก่อนนำเสนอที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครเห็นชอบ และนำเสนอผู้บริหารเพื่อจัดสรรงบประมาณ พร้อมกำหนดแนวทางดำเนินการก่อสร้างต่อไป สำหรับสถานที่ก่อสร้างกำหนดก่อสร้าง 4 มุมเมือง จะเริ่มสร้างแห่งแรกที่ อ่อนนุช หนองแขม และท่าแร้ง เพราะเป็นพื้นที่ทิ้งขยะเดิมของกรุงเทพมหานคร ส่วนแห่งที่ 4 กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะใช้รูปแบบการก่อสร้างจะเป็นเตาเผาขยะขนาดเล็ก ปริมาณ 300 ตันต่อวันหรือไม่ ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทุกวันนี้กรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะกว่า 10,000 ตันต่อวัน จากกว่า 2 ล้านครัวเรือน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งกรุงเทพมหานครยังคงใช้วิธีการฝังกลบใน 3 สถานที่ คือ กำแพงแสน อ่อนนุช และท่าแร้ง หากปล่อยไว้ ก็จะเกิดปัญหาที่ฝังกลบไม่พอ และหากไม่มีวิธีการจัดการขยะที่ดีในอนาคตแล้วก็จะเป็นปัญหาทางมลพิษใน 10-30 ปีข้างหน้าที่กรุงเทพมหานครต้องรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน กรุงเทพมหานครจึงควรปฏิวัติการจัดการขยะเป็นรูปแบบใหม่ด้วยการทำเตาเผาขยะไร้มลพิษ ซึ่งจะเป็นการตัดปัญหาตั้งแต่ต้นไม่ต้องเสียเวลาและงบประมาณแก้ไขปัญหามลพิษในอนาคตต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ