ฟิทช์คงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัดที่ ‘BBB+’/ ‘AA(tha)’

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 29, 2009 08:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Insurer Financial Strength (IFS)) ของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (MTL) ที่ ‘BBB+’ และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS) ที่ ‘AA(tha)’ โดยมีแนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่งของ MTL ในประเทศ การบริหารงานที่มีความเสี่ยงต่ำ ระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง รวมถึงการมีช่องทางการจัดจำหน่ายหลายช่องทางและมีประสิทธิภาพและผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัท อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหารส่วนต่างระหว่างระยะเวลาครบกำหนดของสินทรัพย์และหนี้สิน และการรักษาผลประกอบการที่ดีไว้ในสภาวะตลาดปัจจุบัน ท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจการประกันชีวิตภายในประเทศที่สูง MTL สามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศโดยวัดจากเบี้ยประกันภัยรับรวม จาก 6.8% ในปี 2550 เป็น 7.8% ในปี 2551 ทำบริษัทให้มีสถานะเป็นบริษัทประกันชีวิตที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย บริษัทมีผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เฉลี่ยอยู่ที่ 19.3% ใน 3 ปีที่ผ่านมา และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) (อันดับเครดิตที่ ‘BBB+’แนวโน้มเป็นลบ/‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ) อยู่ในระหว่างการดำเนินการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มใน MTL เป็น 38.3% ภายในปี 2552 จาก 7.5% โดยผ่านการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Muang Thai Fortis Holding Company Limited (MTFH) จาก 10% เป็น 51% ซึ่งในปัจจุบัน MTFH ถือหุ้น 75% ใน MTL การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของ KBANK จะทำให้ MTL สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าของ KBANK ได้มากขึ้นทั้งยังสามารถใช้ช่องทางการจำหน่ายผ่านธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฟิทช์เห็นว่าระดับเงินกองทุนของบริษัทมีความแข็งแกร่งและมีคุณภาพ โดยเงินกองทุนของ MTL ประกอบไปด้วยหุ้นสามัญและกำไรสะสม โดยไม่มีการออกตราสารหนี้ เงินกองทุนของ MTL อยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับระดับเงินกองทุนขั้นต่ำที่ต้องดำรงตามกฎหมายภายในประเทศ ซึ่ง MTL ใช้ระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามมาตรฐานของกฏหมายในยุโรปเป็นมาตรฐานอ้างอิง ณ สิ้นปี 2551 อัตราส่วนเงินกองทุนภายในประเทศของบริษัทอยู่ที่ระดับสูงกว่า 600% ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนขั้นต่ำเงินกองทุนภายในประเทศที่ต้องดำรงไว้ที่ 100% มาก เช่นเดียวกันกับบริษัทประกันชีวิตอื่นในประเทศแถบเอเชีย MTL ต้องเผชิญกับปัญหาการบริหารสินทรัพย์ และหนี้สินอันเนื่องมาจากการที่ตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศยังพัฒนาไม่เต็มที่ ส่วนต่างระหว่างระยะเวลาครบกำหนดของสินทรัพย์และหนี้สินยังคงสูง แต่ปัญหานี้ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการจัดการบริหารในส่วนของเงินลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ MTL ยังเผชิญกับความท้าทายในการรักษาผลกำไรที่ดีในสภาพตลาดที่ผันผวน และมีการแข่งขันที่รุนแรง MTL ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2494 เป็นบริษัทประกันชีวิตที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทยโดยเทียบจากส่วนแบ่งทางการตลาดของเบี้ยประกันภัยรับรวม ในปี 2551 บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับรวม จำนวน 17,000 ล้านบาท ติดต่อ: นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์, กรุงเทพฯ + 662 655 4763 Wan Siew Wai, สิงค์โปร์+ 65 6796 7217 Vincent Milton, กรุงเทพฯ + 662 655 4759 การเปิดเผยข้อมูล: บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด หมายเหตุ : อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS Ratings) ใช้วัดความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทประกันเทียบกับภาระหนี้สินต่อผู้เอาประกันโดยการเปรียบเทียบกับบริษัทประกันภายในประเทศเท่านั้น อันดับความความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศใช้วัดความสามารถในการจ่ายภาระหนี้สินต่อผู้เอาประกัน โดยเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตที่ดีที่สุดของประเทศนั้น ๆ ในทุกภาคธุรกิจและชนิดของภาระหนี้สินอื่น อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศใช้สำหรับนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศเท่านั้น และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศสำหรับแต่ละประเทศ เช่น ‘AAA(tha)’ สำหรับประเทศไทย อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้ คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ