216 บจ.ได้คะแนนรวมบรรษัทภิบาลเกณฑ์ดีถึงดีเลิศ

ข่าวเทคโนโลยี Friday October 27, 2006 15:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--ตลาดหลักทรัพย์ฯ
ผลสำรวจบรรษัทภิบาลปี 2549 บริษัทจดทะเบียนไทย 216 บริษัท ได้คะแนนในเกณฑ์ดีถึงดีเลิศ เรื่องที่ได้คะแนนสูงสุดคือ การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส โดยกลุ่มทรัพยากร กลุ่มการเงิน และกลุ่มเทคโนโลยี เป็น 3 กลุ่มแรกที่ได้คะแนนดีที่สุด ส่วนบริษัทใน SET50 ได้คะแนนสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนโดยรวม
นายวิจิตร สุพินิจ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสร้างความรู้ ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์การดำเนินการเกี่ยวกับ Corporate Governance ในประเทศไทย ภายใต้คณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันนี้ (27 ต.ค.2549) คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD ) ได้รายงานผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน ประจำปี 2549 ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นปีที่ 5 โดย IOD ปรากฏว่า มีบริษัทจดทะเบียน 216 บริษัทมีผลการประเมินในเกณฑ์ดี ดีมาก และดีเลิศ
บริษัทจดทะเบียนไทยในภาพรวมมีคะแนนการกำกับดูแลกิจการดีขึ้น โดยมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 71 คะแนนจาก 69 คะแนนจากปี 2548 เรื่องที่ได้คะแนนสูงสุดคือ การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส ที่มีคะแนนเฉลี่ย 82 คะแนน รองลงมาได้แก่การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกันที่มีคะแนนเฉลี่ย 75 คะแนน เรื่องที่มีการพัฒนาดีขึ้นมากคือเรื่อง การดูแลสิทธิของผู้ถือหุ้น ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นจาก 66 คะแนน เป็น 71 คะแนน และ เรื่องความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นจาก 53 คะแนน เป็น 58 คะแนน
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ได้คะแนนดีที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ 1. กลุ่มทรัพยากร มีคะแนนเฉลี่ยของกลุ่ม 81 คะแนน โดยธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่ได้คะแนนสูงสุด 2. กลุ่มการเงิน มีคะแนนเฉลี่ย 75 คะแนน มีธุรกิจธนาคารเป็นธุรกิจที่ได้คะแนนสูงสุด และ 3. กลุ่มเทคโนโลยี มีคะแนนเฉลี่ย 73 คะแนน โดยมีธุรกิจสื่อสารได้คะแนนสูงสุด
ผลสำรวจยังพบว่ากลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในกลุ่ม SET50 มีคะแนนสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนโดยรวม โดยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 81 คะแนน เพิ่มจาก 79 คะแนนในปี 2548 ในขณะที่ บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 72 คะแนน และ 68 คะแนน ตามลำดับ
นายวิจิตร กล่าวว่า ผลสำรวจที่จัดทำและเผยแพร่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ สนใจพัฒนาให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง เรื่องที่ควรให้ความสำคัญและพัฒนาต่อไป คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เห็นคุณค่าของการปฏิบัติตามหลักการที่ดี ปรับหลักการไปสู่แนวปฏิบัติของแต่ละบริษัทให้เหมาะสมกับลักษณะของตนเอง และขยายวงไปสู่การดูแลผู้มีส่วนได้เสียอย่างจริงจังยิ่งขึ้น
“ถึงแม้ว่าผลประเมินในปีนี้จะมีคะแนนไม่สูงจากปีก่อนมากนัก เนื่องจากเกณฑ์การให้คะแนนที่ใช้ในปีนี้มีความเข้มงวดมากขึ้น แต่ผลการสำรวจได้สะท้อนให้เห็นว่าในเชิงคุณภาพนั้น บริษัทจดทะเบียนไทยมีพัฒนาการด้านการกำกับดูแลกิจการดีขึ้นในหลายด้าน และยังมีช่องว่างที่จะพัฒนาได้อีกมากในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับการแสดงบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการและการแสดงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียซึ่งรวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสภาพแวดล้อม” นายวิจิตรกล่าว
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขานุการคณะอนุกรรมการสร้างความรู้ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ฯ กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่าบริษัทจดทะเบียนได้รับคะแนนสูงขึ้นทุก ๆ ปี แสดงให้เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญในการนำไปปฏิบัติเพิ่มขึ้น โดยในปีนี้ได้มีการปรับปรุงการรายงานผลจากเดิมแยกเป็น 4 กลุ่ม ( Quartile) เป็นการให้สัญลักษณ์ ตามคะแนนแยกเป็น 6 กลุ่ม คือ ดีเลิศ ดีมาก ดี ดีพอใช้ ผ่าน และกลุ่มสุดท้ายซึ่งมีคะแนนต่ำกว่า 50 สำหรับในปีนี้มีบริษัทจดทะเบียน ที่อยู่ในระดับดีขึ้นไปจำนวน 216 บริษัท แยกเป็นดีเลิศ 9 บริษัท ดีมาก 62 บริษัท และดี 145 บริษัท
นายชาญชัย จารุวัสตร์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย เปิดเผยว่า IOD ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดทำรายงานในครั้งนี้ ได้สำรวจข้อมูลและประเมินบริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ mai รวม 402 บริษัท โดยพิจารณาตามหลักการกำกับดูแลกิจการของกลุ่มประเทศ OECD (OECD Principles of Corporate Governance) ใน 5 หมวด ได้แก่ 1) สิทธิของผู้ถือหุ้น 2) การปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อผู้ถือหุ้น 3) การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย 4) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และ 5) ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ โดยจุดเด่นของบริษัทไทยที่มีการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี ได้แก่ ส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิของผู้ถือหุ้น ซึ่งบริษัทเกือบทั้งหมดมีการประชุมผู้ถือหุ้นไปตามวาระที่แจ้งผู้ถือหุ้นไว้ล่วงหน้า การอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุม การเปิดเผยข้อมูลสำคัญไว้ในรายงานประจำปีชัดเจน รวมทั้งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด
“ส่วนข้อเสนอแนะที่บริษัทจดทะเบียนสามารถนำไปปรับปรุงได้ทันที อาทิ การเพิ่มช่องทางเผยแพร่หนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นบนเว็บไซด์ ปรับปรุงรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นให้สะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวันประชุม เช่น กรรมการที่เข้าร่วมประชุม คะแนนเสียงที่ชัดเจน เป็นต้น เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถเสนอชื่อผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งกรรมการ และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลผู้มีส่วนได้เสีย เป็นต้น” นายชาญชัยกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ