ส.อ.ท. ผนึก 15 เทศบาล ส่งเสริมการจัดการวัสดุรีไซเคิล ดึงชุมชนร่วมแก้ปัญหาขยะต้นทาง

ข่าวทั่วไป Tuesday September 1, 2009 17:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ เทศบาลนครนครสวรรค์ เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เทศบาลนครลำปาง เทศบาลนครสงขลา เทศบาลเมืองเกาะสมุย เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เทศบาลเมืองเพชรบุรี เทศบาลเมืองท่าโขลง เทศบาลเมืองบ้านบึง เทศบาลเมืองสิงหนคร เทศบาลเมืองน่าน เทศบาลตำบลบางเมือง เทศบาลเมืองสกลนคร เทศบาลตำบลแม่สาย เทศบาลตำบลสันทรายหลวง จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และร่วมแถลงข่าว “โครงการส่งเสริมการจัดการวัสดุรีไซเคิลระดับเทศบาล” ในวันอังคารที่ 1 กันยายน 2552 เวลา 13.00 — 15.30 น. ณ ห้อง Meeting Room 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และนายกเทศมนตรี หรือผู้แทน 15 เทศบาล ร่วมลงนาม และแถลงข่าวดังกล่าว ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ร่วมกันที่จะจัดทำโครงการจัดการส่งเสริมการจัดการวัสดุรีไซเคิลระดับเทศบาล 15 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการจัดการวัสดุรีไซเคิลให้แก่ชุมชนโดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคครัวเรือนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อลดภาระการจัดการขยะมูลฝอยและปัญหามลพิษจากขยะมูลฝอย และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเทศบาลที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์โดยตรงคือสามารถลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด ทำให้ประหยัดงบประมาณในการเก็บขนและกำจัดขยะได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะ และมีรายได้เสริมจากการคัดแยกและจำหน่ายวัสดุรีไซเคิล จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาที่ต้นทาง แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังเช่นที่ผ่านมา นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าการดำเนินการครั้งนี้เนื่องจาก เทศบาล หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีภารกิจหลักในการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยในชุมชนอยู่แล้ว และมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น เพราะการแก้ปัญหาขยะล้นเมืองที่ยั่งยืนต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน นอกจากเทศบาลจะเป็นหน่วยงานที่มีภาระหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ยังมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการที่ประชาชนคัดแยกวัสดุรีไซเคิลตั้งแต่ต้นทาง จะทำให้เทศบาลประหยัดงบประมาณในการกำจัดขยะได้ปีละหลายล้านบาท ยืดอายุของบ่อฝังกลบได้ยาวนานขึ้น เพราะปัจจุบันราคาที่ดิน นับวันมีราคาแพงขึ้น และหายากขึ้น และการต่อต้านของประชาชนในพื้นที่ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ได้ริเริ่มนำร่องโครงการนี้กับเทศบาลเมืองบางบัวทอง เมื่อปี 2549 และปี 2550-2551 ต่อมาได้ขยายผลการดำเนินการจัดตั้งระบบคัดแยกวัสดุรีไซเคิลออกไปอีก 8 เทศบาล ประกอบด้วย เทศบาลเมืองปทุมธานี เทศบาลเมืองทุ่งสง เทศบาลเมืองแพร่ เทศบาลเมืองอ่างทอง เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เทศบาลเมืองหัวหิน เทศบาลตำบลคลองด่าน และเทศบาลตำบลท่าหลวง รูปแบบการดำเนินโครงการส่วนใหญ่จะเป็นการให้การอบรมผู้นำชุมชนเพื่อช่วยในการประชาสัมพันธ์ และเทศบาลจะตั้งจุดรับซื้อตามชุมชนในวันเวลาที่นัดหมาย จากนั้นจึงนำวัสดุไปคัดแยกเพื่อเพิ่มมูลค่าก่อนขายให้ร้านรับซื้อต่อไป ณ เดือน ก.ค. 52 สามารถรวบรวมวัสดุรีไซเคิลได้ประมาณ 470 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.5 ล้านบาท และในปี 2552-2553 สถาบันฯ ได้ขยายผลการดำเนินงานเพิ่มเติมอีก 15 เทศบาลทั่วประเทศ โดยสถาบันฯ และเทศบาลจะร่วมกันเชิญชวนชุมชนเข้าร่วม ด้วยการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลจากครัวเรือน แล้วนำมาขายให้กับร้านรับซื้อในพื้นที่ที่ผ่านการคัดเลือกจากเทศบาล ณ จุดรับซื้อที่กำหนด ซึ่งจุดรับซื้อดังกล่าวจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามชุมชนต่าง ๆ รูปแบบจะคล้ายกับกิจกรรมตลาดนัดรีไซเคิล แต่ต่างกันตรงที่กิจกรรมนี้จะมีการบันทึกปริมาณวัสดุรีไซเคิลที่ประชาชนนำมาขาย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์วิจัยความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนสมาชิกกับปริมาณวัสดุในอนาคต นอกจากนั้นปริมาณที่บันทึกไว้จะนำไปสู่การมอบของรางวัลจูงใจให้กับผู้ที่มียอดขายสูงสุดตอนสิ้นปี อาทิเช่น โทรทัศน์สี พัดลม หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เครื่องไมโครเวฟ เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ