ประเด็น "ปัญหาหลักในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้กับผู้ประกอบการ"

ข่าวทั่วไป Thursday September 10, 2009 15:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--หอการค้าไทย ความคิดเห็นประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่าประเด็นปัญหาหลักในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs ปัจจุบัน มีอยู่ 4 ประเด็น คือ วงเงินในการปล่อยสินเชื่อ ระยะเวลาในการอนุมัติ เงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อและความคิดของผู้มีอำนาจในการอนุมัติว่า หากบกพร่องหรือปล่อยแบบผ่อนปรนอาจมีความผิดได้ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้แก้ไขไปแล้ว 2 ประเด็น คือ การเพิ่มวงเงินในการปล่อยสินเชื่อ จาก 6 แสนล้านบาท เป็น 9 แสนล้านบาท และในเรื่องของระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งภาครัฐได้ออกมาตรการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่ง ปล่อยสินเชื่อ Fast Track โดยเร่งการอนุมัติสินเชื่อของทุกธนาคาร ซึ่งเป็นนโยบายที่ดี และแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแก้ปัญหาของภาครัฐ นอกจากนั้น การมีระบบ PSA (Public Service Account) ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดีในการแยกวงเงิน และการกำกับดูแล แต่ก็ต้องดูแลเรื่องการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ให้สะดวก กู้เงินได้ง่ายขึ้น จึงจะตรงตามวัตถุประสงค์ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินยังอยู่ที่ประเด็นที่ 3 และ 4 ที่ภาครัฐยังไม่ได้แก้ไข กล่าวคือ เงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อยังติดกับกฎเกณฑ์เดิมที่แบงค์ชาติกำหนดไว้ และหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนของสถาบันการเงิน หรือบาเซิล 2 (Basel II) ทำให้ผู้มีอำนาจในการพิจารณาไม่กล้าที่จะอนุมัติสินเชื่อ เพราะหากมีการปล่อยในลักษณะผ่อนปรน หรือบกพร่องในการพิจารณาก็อาจจะมีความผิดได้ หาก สตง. ตรวจพบ กฎเกณฑ์หลักที่ใช้ในการประกอบการพิจาณาปัจจุบันจะดูที่ ยอดขาย หลักทรัพย์และ Cash Flow ย้อนหลังไปแค่ปีเดียว ซึ่งหากพิจารณาจากกฎเกณฑ์เดิมที่เราใช้อยู่ ในสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ ซึ่งแน่นอนว่า 1 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดคงจะติดปัญหา NPL หรือบางรายก็กู้จนเต็มวงเงินหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่มีหลักทรัพย์ใหม่มาค้ำประกัน เนื่องจากปัญหาวิกฤตครั้งนี้ได้ทอดระยะเวลามานาน ผู้มีอำนาจในการอนุมัติถึงแม้จะมีวงเงินก็คงไม่กล้าอนุมัติ เพราะหาคนผ่านเกณฑ์ของแบงก์ทุกข้อค่อนข้างยาก และระบบสินเชื่อ Fast Track คงจะช่วยให้ธนาคารปฏิเสธการให้กู้เร็วขึ้นเท่านั้น ดังนั้น หากภาครัฐยังไม่เร่งแก้ไขคงไม่เกิดประโยน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs และเชื่อว่านับวันคงจะล้มหายตายจากไปมากขึ้น หรือเมื่อเศรษฐกิจฟื้นคืนกลับมาก็คงไม่มีเงินทุนที่จะนำมาขยายกิจการหรือผลิตสินค้าไปจำหน่ายมากขึ้น และทำให้เราเสียโอกาส ซึ่งในส่วนของหอการค้าไทยเห็นว่า ในสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ปกติเช่นนี้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะพิจารณาดำเนินการ ดังนี้ คือ 1. เร่งผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงที่ประเทศของเราได้รับผลกระทบจากวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจเป็นการเฉพาะ ในระยะเวลาประมาณ 2 - 3 ปี ทั้งนี้ เพื่อช่วยรักษาธุรกิจให้คงอยู่ เช่น การพิจารณา ยอดขาย หลักทรัพย์ หรือ Cash Flow อย่าดูเพียงปีเดียว แต่ให้ดูทั้ง Pre-crisis และ Post-crisis ประมาณ 5 ปี หากพิจาณาแล้วผู้ประกอบการ SMEs มีโอกาสที่จะอยู่รอดได้ในปี 3 — 5 ก็น่าจะได้รับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ 2. ยึดระยะเวลาในการรับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนของสถาบันการเงิน หรือบาเซิล 2 (Basel II) ออกไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าเศรษฐกิจของประเทศจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ 3. ขอให้ EXIM Bank ช่วยการันตีใบ P.O. (Purchasing Order) จากคู่ค้าต่างประเทศให้มีสถานะเหมือนใบ LC เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถนำไปขึ้นเงินได้จากธนาคารพาณิชย์ในอัตราที่มีส่วนลด เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร.02-622-1867-76 ต่อ 401-407

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ