สถาบันอาหาร ชูนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าผลิตภัณฑ์อาหารไทย ตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคโลกเปลี่ยน

ข่าวทั่วไป Monday September 14, 2009 16:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ สถาบันอาหาร ระดมสมองจัดเวทีเสวนา “การสร้างคุณค่ากับอุตสาหกรรมอาหารของไทย” (Value Creation and Thai Food Industry) กระตุ้นผู้ประกอบการปรับตัวรับมือการแข่งขันที่รุนแรง มุ่งสนองตอบพฤติกรรมผู้บริโภคอาหารในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลง หันมาสนใจเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยของอาหาร ทั้งต้องเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับโครงสร้างประชากรที่ปรับเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ(Aging Society) ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย ร่วมมือฝ่าข้อจำกัดของไทยด้านเทคโนโลยี และเครื่องจักร หวังเพิ่มคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์อาหารไทย ส่งเสริมนวัตกรรมการผลิตให้ผู้ประกอบการรายเล็กเจาะตลาดโลก รายงานผลวิจัยชี้ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ยังคงมีกำลังซื้อสูง และเป็น ผู้นำเข้าสินค้าอาหารสำคัญของโลก รวมทั้งตลาดใหม่ที่มีอนาคต อย่าง รัสเซีย และทวีปแอฟริกา ระบุ 10 สินค้าเป้าหมายที่ไทยมีศักยภาพการผลิตป้อนตลาดโลก ประกอบด้วย น้ำผลไม้, ชาสมุนไพร, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากผลไม้เมืองร้อน, ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง, อาหารขบเคี้ยวจากแป้งข้าว, อาหารทะเลแปรรูป, ไก่ปรุงสุก, อาหารขบเคี้ยวทานเล่นจากผลไม้, ซอสปรุงรส และผลิตภัณฑ์อาหารไทยพร้อมบริโภค นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยในเวทีเสวนาเรื่อง การสร้างคุณค่ากับอุตสาหกรรมอาหารของไทย ว่า “อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักและมีการเชื่อมโยงกับ ภาคเกษตรซึ่งเป็นกลุ่มประชากรหลักของประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงาน การสร้างรายได้ และการเพิ่มมูลค่าผลผลิต นำไปสู่การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ สำหรับประเทศไทยอุตสาหกรรมอาหารมีการเติบโตค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น โดยเฉพาะข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีและข้อจำกัดในการ นำเครื่องจักรมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากการพัฒนา และจัดหาเครื่องจักรมาใช้ในกระบวนการผลิต ใช้เงินลงทุนสูง ส่งผลทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยีและการมีเครื่องจักรที่ทันสมัยจำกัดอยู่เพียงกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารของไทยยังคงพึ่งพิงการส่งออกสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐานที่ ไม่สามารถสร้างมูลค่า เพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมอาหารได้มากเท่าที่ควร” ในช่วงเวลา 1 — 2 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นซึ่งส่งผลกระทบทำให้พฤติกรรมการบริโภคในตลาดอาหารและเครื่องดื่มของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งด้านการผลิตและการจำหน่าย อาทิ ปัญหาวิกฤตความปลอดภัยด้านอาหารในประเทศจีน สภาพตลาดสินค้าอาหารที่เปลี่ยนรูปแบบเนื่องจากสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยภาพรวมพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ มี 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.การมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตการปนเปื้อนสารเมลามีนในสินค้าอาหารจากจีน ซึ่งทำให้เกิดการสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อการนำเข้าสินค้าอาหารของตลาดโลกเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมานิยมผลิตภัณฑ์อาหาร Organics กันมากขึ้น เนื่องจากมองว่ามีความปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไป 2.การมุ่งเน้นเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะจากปัญหาการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคอื่นๆ อันเกิดจากการบริโภคอาหาร เช่น โรคเบาหวาน ไขมันอุดตัน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ซึ่งการหันมามุ่งเน้นเรื่องสุขภาพทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบใหม่ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารที่ให้คุณค่าเฉพาะ (Functional Food Products) และ 3.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกิดจากสภาพการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร วิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าส่งผลให้อัตราการตายของประชากรโลกลดลง ทำให้ลักษณะทางโครงสร้างประชากรกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น (Aging Society) และกำลังจะกลายเป็นผู้บริโภค กลุ่มใหญ่ที่สุดในตลาดโลก ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ระบุอีกว่า ปัจจัยทั้ง 3 ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดโลก ประเภทของสินค้าที่มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการในตลาดโลก จึงต้องมีลักษณะที่สามารถตอบสนองความต้องการและรูปแบบของผู้บริโภคได้ จากการคัดเลือกตลาดที่ได้ทำการสำรวจข้อมูลความต้องการและพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหาร พบว่าตลาดที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารที่สำคัญของโลก 5 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีระบบเศรษฐกิจที่มีกำลังซื้อสูง คือ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมถึงตลาดใหม่ที่มีแนวโน้มเป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารที่สำคัญของโลกในอนาคต คือ รัสเซีย และทวีปแอฟริกา และจากการศึกษาและวิเคราะห์ประเภทของสินค้าที่มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการในตลาดนำเข้าสินค้าอาหารที่สำคัญทั้ง 5 ตลาด พบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลกหลายชนิด ประกอบด้วย น้ำผลไม้, ชาสมุนไพร, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากผลไม้เมืองร้อน, ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง, อาหารขบเคี้ยวจากแป้งข้าว, อาหารทะเลแปรรูป, ไก่ปรุงสุก, อาหารขบเคี้ยวทานเล่นจากผลไม้, ซอสปรุงรส และผลิตภัณฑ์อาหารไทยพร้อมบริโภค ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรอาหารพื้นฐานของประเทศไทย เป็นสินค้าที่มีแนวโน้มเป็นที่นิยมในตลาดโลกในช่วง 1 - 2 ปีข้างหน้า มีวัตถุดิบที่ประเทศไทยสามารถผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้ และมีภูมิปัญญาไทยหรือมีเทคโนโลยีการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ การสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ที่อาศัยความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ในแง่ของทั้งลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ วัตถุดิบ วัฒนธรรม หรือขนบธรรมเนียมประเพณี มาใช้ในกระบวนการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เป็นการนำจุดแข็งของตนที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาสร้างสรรค์ผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม ถือได้ว่าเป็นวิธีการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ แต่การประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันถือว่าค่อนข้างนำมาประยุกต์ใช้ได้ไม่ง่ายนัก อย่างไรก็ตาม แนวคิดการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่เน้นความได้เปรียบของประเทศ ทั้งในด้านการผลิตสินค้าที่ประเทศไทย มีภูมิปัญญา และอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปผสมผสานให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่ดีมากยิ่งขึ้น จะทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเป็นที่ต้องการของตลาด รายละเอียดเพิ่มเติม : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด สุขกมล งามสม โทร. 0 2158 9416-8

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ