กรมป่าไม้ จัดงาน "113 ปี กรมป่าไม้ พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต"

ข่าวทั่วไป Monday September 21, 2009 10:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--กรมป่าไม้ กรมป่าไม้ ชวนร่วมงาน “113 ปี กรมป่าไม้ พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” 18 กันยายน นี้ หวังกระตุ้นจิตสำนึกไทยให้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้อย่างจริงจัง รณรงค์ปลูกต้นไม้ในใจคน เผยภารกิจก้าวสู่ปีที่ 114 เน้นป้องกันรักษาป่า แก้ไขปัญหาที่ดิน ปลูกป่า และวิจัยพัฒนาเพื่อนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด นายสมชัย เพียรสถาพร อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า การจัดงาน “113 ปี กรมป่าไม้ พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” ในวันที่ 18 ก.ย. 2552 ณ กรมป่าไม้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้เยาวชน และประชาชนทั่วไป ตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้อย่างจริงจัง โดยมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิด และมอบรางวัลให้กับผู้ที่ทำคุณความดีช่วยเหลือราชการกรมป่าไม้ “ปีนี้ถือเป็นปีที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องในวาระครบรอบวันสถาปนา 113 ปี กรมป่าไม้จึงได้จัดสร้างพระพุทธรูปประจำกรมป่าไม้ โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม เป็นประธานในการเททองหล่อพระพุทธรูป และประทานชื่อว่า พระพุทธไตรรสตวรรษานุสรณ์ โดยมีพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 108 รูปประกอบพิธีนั่งปรก อธิษฐานแผ่เมตตาจิต เพื่อเป็นสิริมงคลแด่ข้าราชการและประชาชนผู้มาร่วมงาน” นายสมชัย กล่าว ภารกิจของกรมป่าไม้ในการก้าวเข้าสู่ปี 114 มุ่งดำเนินการด้านต่างๆ ให้ประชาชนได้มีส่วนรวม พร้อมทั้งการบริการประชาชนที่มาติดต่อขอรับบริการจากกรมป่าไม้ให้สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม โดยยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินงานของกรมป่าไม้ โดยเน้น ภารกิจหลัก 5 ด้าน คือ 1. การคุ้มครองและป้องกัน โดยมุ่งเน้นการออกกฎหมายหรือตราพระราชบัญญัติต่างๆ ที่มีบทลงโทษเพื่อใช้อำนาจแห่งกฎหมายในการควบคุม ป้องกันและดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ โดยมีพระราชบัญญัติสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งนอกจากจะได้มีมาตรการในการคุ้มครองป้องกันและดูแลรักษาป่าไม้ พันธุ์ไม้ และสัตว์ป่าโดยตรงแล้วยังได้กำหนดพื้นที่คุ้มครองในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นต้น 2. การจัดการป่าไม้ โดยการรวบรวมเอาหลักวิชาการ องค์ความรู้ด้านป่าไม้ต่างๆ รวมทั้งเศรษฐศาสตร์ป่าไม้ มาใช้ในการอนุรักษ์ การป้องกัน การพัฒนาปรับปรุงการใช้ประโยชน์จากป่าไม้เพื่อให้ได้ผลผลิตถาวรและสูงสุด มีลักษณะเป็นการจัดการป่าไม้แบบอเนกประสงค์เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากป่าไม้ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม 3. การจัดการที่ดินป่าไม้ โดยได้มีการจัดกรรมสิทธิ์และอนุญาตตามกฏหมายให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนในลักษณะต่างๆ ได้ เช่น การทำเหมืองแร่ การระเบิดหิน การเลี้ยงสัตว์ การเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว การปลูกป่า เป็นต้น ซึ่งการทำไม้หรือเข้าทำประโยชน์เหล่านี้จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบที่กำหนด พร้อมทั้งแก้ปัญหาผู้ที่ลักลอบ ยึดครอง หรือบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ด้วยการจัดหาแหล่งที่เหมาะสมให้เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินถาวรให้แก่ราษฎรอย่างถูกต้องตามกฎหมายและดำเนินการปลูกป่าตามภูเขาหรือต้นน้ำลำธารที่ถูกบุกรุกให้กลับมีสภาพสมบูรณ์เหมือนเดิมเพื่อป้องกันต้นน้ำลำธาร 4. การปลูกป่า โดยมุ่งเน้นการขยายพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้นทั้งพื้นที่ป่าสงวนและป่าเศรษฐกิจ โดยกรมป่าไม้เป็นตัวกลางในการรณรงค์และประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน ในส่วนของภาคเอกชนนั้นเป็นการสร้างสวนป่าเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่วนการปลูกสร้างสวนป่าโดยภาครัฐบาลนั้นเป็นการปลูกป่าทั้งเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและประโยชน์ทางด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำและปลูกในรูปหมู่บ้านป่าไม้ โดยมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ 40% ตามเป้าหมาย 5. การศึกษาวิจัย โดยได้นำเนินการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พร้อมนำผลการศึกษาวิจัยและวิทยาการใหม่ๆ มาช่วยในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การเพาะชำกล้าไม้ การควบคุมกำจัดโรคและแมลงป่าไม้ การวิจัยผลิตผลป่าไม้ การป้องกันรักษาเนื้อไม้และของป่า การใช้วัสดุทดแทนไม้ การพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้ ฯลฯ แล้วจึงนำผลไปใช้ในการดำเนินการและส่งเสริมเผยแพร่ให้ประชาชนนำไปปฏิบัติต่อไป จากอดีตถึงปัจจุบัน กรมป่าไม้ได้ดำเนินงานตามพันธกิจหลักทั้งในการส่งเสริมการปลูกและการใช้ประโยชน์ไม้และของป่า ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ในรูปแบบป่าชุมชน สวนสาธารณะ ป่าไม้ในเมือง และวนเกษตร การจัดการ ป้องกัน ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ และที่ดินป่าไม้ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ประชาชน และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี กรมป่าไม้ตระหนักดีว่า ลำพังกรมป่าไม้เพียงหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถปฏิบัติพันธกิจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ให้คงอยู่เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทยอย่างยั่งยืนได้ตลอดไปหากปราศจากความร่วมมือ ร่วมใจ และการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เยาวชนและประชาชน แต่หากทุกฝ่ายผนึกกำลัง ร่วมมือ ร่วมใจ อนุรักษ์และใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างรู้ค่า ด้วย “สำนึกร่วมแห่งการเป็นเจ้าของ” ป่าไม้ของเราก็จะอยู่เคียงคู่แผ่นดินเป็นมรดกแห่งความอุดมสมบูรณ์ตกทอดถึงลูกหลานอย่างยั่งยืนสืบไป อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการ “วันสถาปนากรมป่าไม้ ครบรอบ 113 ปี” E-mail : pr.establish113years@gmail.com ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมป่าไม้ คุณอำนวยพร ชลดำรงค์กุล โทร. 086-0280202 E-mail: amchol44@gmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ