หลักเกณฑ์และวิธีประเมินผลการปฏิบัติงานข้าราชการยุคใหม่มุ่งปัจจัยผลสัมฤทธิ์และสมรรถนะ

ข่าวทั่วไป Tuesday September 22, 2009 16:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ. ระบุ หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานใหม่ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ของงานและสมรรถนะเป็นหลัก พร้อมทำหนังสือแจ้งเวียนส่วนราชการ กำหนดให้เริ่มใช้ตั้งแต่รอบแรกของการประเมิน ในปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นไป จากกรณีที่ สำนักงาน ก.พ. ได้มีหนังสือเวียนที่ นร 1012/ว20 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งออกตามความในมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาสามารถกำกับติดตามการปฏิบัติราชการของผู้ใต้บังคับบัญชาให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งนำผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการดังกล่าวไปใช้ประกอบการพิจารณาแต่งตั้ง เลื่อนเงินเดือน และการบริหารทรัพยากรบุคคลในเรื่องต่างๆ นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ ก.พ. ได้ออกมาชี้แจงถึงสาระสำคัญของหนังสือเวียนฉบับนี้ว่า กำหนดให้การประเมินผลการปฏิบัติราชการต้องประเมินอย่างน้อยสององค์ประกอบ ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ของงาน และพฤติกรรมการปฏิบัติราชการ หรือสมรรถนะ โดยผลสัมฤทธิ์ของงานให้ประเมินจากปริมาณผลงาน คุณภาพผลงาน ความรวดเร็วหรือตรงตามเวลาที่กำหนด หรือความประหยัด หรือความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากร ส่วนพฤติกรรม การปฏิบัติราชการให้ประเมินจากสมรรถนะหลักตามที่ ก.พ. กำหนด หรือสมรรถนะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการตามที่ส่วนราชการกำหนด นอกจากนี้ ในแต่ละรอบการประเมิน ให้ส่วนราชการนำผลคะแนนการประเมินผลการปฏิบัติราชการมาจัดกลุ่มเป็นอย่างน้อย 5 ระดับ ได้แก่ ดีเด่น ดีมาก ดี พอใช้ และต้องปรับปรุง โดยในช่วงคะแนนของแต่ละระดับให้เป็นดุลพินิจของส่วนราชการที่จะกำหนด แต่คะแนนต่ำสุดของระดับพอใช้ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ทั้งนี้ ก่อนเริ่มรอบการประเมินหรือในช่วงรอบการประเมินให้ส่วนราชการระดับกรม หรือจังหวัด ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญทราบโดยทั่วกัน อีกทั้งผู้ประเมินและผู้รับการประเมินต้องมีการกำหนดข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการมอบหมายงานและการประเมินผลการปฏิบัติราชการ โดยกำหนดเป็นดัชนีชี้วัด หรือหลักฐานบ่งชี้ความสำเร็จของงานอย่างเป็นรูปธรรมและเหมาะสมกับลักษณะงาน สำหรับการกำหนดดัชนีชี้วัดเพื่อใช้ประกอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ในส่วนของการประเมิน ผลสัมฤทธิ์ของงาน ให้พิจารณาวิธีการถ่ายทอดตัวชี้วัดจากบนลงล่างเป็นหลักก่อน ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้หรือไม่เพียงพอ อาจเลือกใช้วิธีการกำหนดดัชนีชี้วัดวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีที่เหมาะสมแทนหรือเพิ่มเติมได้ อาทิ การสอบถามความคาดหวังจากผู้รับบริการ การไล่เรียงตามผังการเคลื่อนของงาน และการประเมินความรู้ ความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติราชการ ขณะที่การประเมิน พฤติกรรมการปฏิบัติราชการ หรือสมรรถนะ ส่วนราชการอาจใช้วิธีประเมินแบบ 360 องศา หรือการประเมินโดยรับความเห็นของผู้เกี่ยวข้องรอบด้าน และการประเมินโดยสังเกตจากพฤติกรรมการแสดงออกที่เห็นเด่นชัด เลขาธิการ ก.พ. กล่าวต่อว่า เพื่อให้มีกลไกสนับสนุนความโปร่งใสและเป็นธรรมยังได้กำหนดให้ส่วนราชการระดับกรมหรือจังหวัด แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานและความเป็นธรรม ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการยกย่องชมเชยและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาผลการปฏิบัติราชการให้ดียิ่งขึ้น ได้กำหนดให้ประกาศรายชื่อข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีผลการปฏิบัติราชการในระดับดีเด่นและดีมากให้ทราบโดยทั่วกัน ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ ก.พ. กำหนดให้ใช้สำหรับการประเมินผลการปฏิบัติราชการตั้งแต่ รอบแรกของการประเมินในปีงบประมาณ 2553 หรือตั้งแต่รอบการประเมินวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ถึง 31 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป “ในการประเมินผลการปฏิบัติราชการจะกำหนดให้ดำเนินการปีละสองรอบตามปีงบประมาณ คือระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึง 31 มีนาคม และวันที่ 1 เมษายน ถึง 30 กันยายน โดยที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ. ได้มีการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้แก่ส่วนราชการอย่างเป็นระบบ ซึ่งจากหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญที่กำหนดขึ้นนี้จะช่วยให้การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลภาครัฐ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด” เลขาธิการ ก.พ. กล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1786 กลุ่มสื่อสารองค์กร สำนักงาน ก.พ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ