สถาบันเหล็ก เดินหน้าศึกษาสภาพแวดล้อมพื้นที่ตั้งเหล็กต้นน้ำ เน้นยกระดับคุณภาพชีวิต และรักษาวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

ข่าวทั่วไป Friday September 25, 2009 15:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เดินหน้าศึกษา SEA หรือสภาพแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ ครอบคลุมทั้งการรองรับโครงการเหล็กต้นน้ำ และการสร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมทั้งศึกษาการยกระดับคุณภาพชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่ด้วย คาดอีก 6 เดือนได้ผลศึกษา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของโลก 4 ราย ใช้ศึกษา EIA ต่อไป นายวิกรม วัชระคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการเหล็กต้นน้ำคุณภาพสูง ว่า ระยะเวลานับจากนี้ไปอีก 6 เดือน จะมีการศึกษาสภาพแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคใต้ เพื่อประเมินความพร้อมในการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ตั้งโครงการเหล็กต้นน้ำคุณภาพสูง ทั้งนี้ การศึกษาจะมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาสูงสุด ทั้งต่อโครงการเหล็กต้นน้ำ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากการผลิตเหล็ก รวมทั้งศึกษาถึงแผนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ด้วยการนำระบบและวิธีการที่ทันสมัยมาพัฒนาการประกอบอาชีพให้กับประชาชน “พื้นที่ที่จะทำการศึกษานั้น เป็นทั้งนากุ้ง และนาข้าว ดังนั้นจะมีการศึกษาให้ครอบคลุมถึงการยกระดับคุณภาพในการเลี้ยงกุ้งและปลูกข้าวด้วย เช่น นำระบบการเลี้ยงกุ้งแบบปิดมาใช้ การมีระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบชลประทาน รวมทั้งมีศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับชาวนา เพื่อให้สามารถเพิ่มผลผลิตได้” นายวิกรมกล่าว สำหรับการศึกษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่เพื่อรองรับโครงการเหล็กต้นน้ำนั้น จะมีการศึกษาเรื่องคุณภาพน้ำทะเล ความลึก การขุดร่องน้ำ ระยะทาง การเจาะสำรวจใต้พื้นดินในทะเล การวัดปริมาณน้ำฝนและแหล่งน้ำธรรมชาติ ตลอดจนการตรวจกระแสลม โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ส่วนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจากการผลิตเหล็ก จะมีการศึกษาเพื่อผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ หรืออุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กมาผลิตและส่งออกโครงเหล็กและแท่นขุดเจาะน้ำมัน ให้อยู่รวมกลุ่มกับโครงการเหล็กต้นน้ำ ดังนั้นขนาดของพื้นที่ที่จะทำการศึกษาจะไม่เฉพาะพื้นที่ 5,000 ไร่ แต่จะศึกษาพื้นที่ขนาด 20,000 ไร่ เพื่อให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาในภาพรวมดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ เป้าหมายของการศึกษาสภาพแวดล้อมมิใช่เพื่อโครงการเหล็กต้นน้ำอย่างเดียว แต่เพื่อให้เกิดการสร้างฐานหรือศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหล็กในประเทศไทย และรักษาวิถีชีวิตของชาวบ้านไปพร้อมๆ กับการยกระดับคุณภาพชีวิต รวมทั้งผลักดันให้พื้นที่ทั้งหมด เป็นเมืองอุตสาหกรรมนิเวศน์ หรืออีโคทาวน์ ซึ่งมีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างเป็นระบบ เกิดของเสียน้อยที่สุดภายใต้หลักการ 3Rs (Reduce ลดการใช้, Reuse นำกลับมาใช้ซ้ำ, Recycle แปรสภาพและนำกลับมาใช้ใหม่) นายวิกรมกล่าวต่อไปว่า คาดว่าการศึกษา SEA จะแล้วเสร็จในอีก 6 เดือนข้างหน้า จากนั้น จะนำเสนอต่อกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดเป็นเกณฑ์ให้บริษัทผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของโลก 4 ราย ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย นำไปใช้ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ (Environmental Impact Assessment) ต่อไป เช่น จะออกแบบโรงงานอย่างไร จะมีแผนบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร จะมีการตอบแทนสังคมอย่างไร เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ