ปภ. แนะวิธีขับขี่ที่ถูกต้องลดความเสี่ยงอุบัติเหตุรถชนท้าย

ข่าวทั่วไป Friday September 25, 2009 17:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--ปภ. อุบัติเหตุรถชนท้ายเป็นรูปแบบหนึ่งของอุบัติเหตุที่พบบ่อยครั้งบนถนนที่มีสภาพการจราจรหนาแน่น ซึ่งมีสาเหตุจากการขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การตัดหน้ากระชั้นชิด การขับจี้ท้ายคันหน้า รวมถึงผู้ขับขี่ขาดทักษะในการขับรถที่ถูกต้อง และมีปัญหาด้านการรับรู้ การหยุดรถ และการลดความเร็ว เป็นต้น โดยพบว่า กว่าร้อยละ ๓๐ ของอุบัติเหตุทางถนน เป็นอุบัติเหตุรถชนท้าย ซึ่งความรุนแรงของอุบัติเหตุขึ้นอยู่กับความเร็วในการขับรถ หากเป็นถนนหลวง ซึ่งผู้ขับขี่ใช้ความเร็วสูง ความรุนแรงของอุบัติเหตุจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย รายการรู้ทันภัย...ไปกับ ปภ. ขอแนะวิธีป้องกันอุบัติเหตุรถชนท้าย ดังนี้ การเว้นระยะห่าง ผู้ขับขี่ควรหยุดรถบริเวณหลังเส้นในระยะที่เพียงพอ หรือประมาณ ๓ เมตร ในขณะขับรถควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าพอประมาณ หรือในระยะไม่ต่ำกว่า ๖๐ เมตร เพื่อป้องกันรถคันหน้าหยุดกะทันหัน ทำให้ถูกรถคันอื่นชนท้าย โดยเฉพาะในช่วงที่ทัศนวิสัยไม่ดี และมีการบรรทุกของหนักควรเพิ่มระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากขึ้น การเปลี่ยนช่องทางเดินรถ ควรให้สัญญาณไฟก่อนเปลี่ยนช่องทางทุกครั้ง เนื่องจากผู้ขับขี่รถคันที่ตามมาหรือคันที่ถูกแซงไม่รู้ตัว อาจขับเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน ทำให้เกิดอุบัติเหตุในลักษณะเฉี่ยวชนขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ขับขี่ไม่ควรเปลี่ยนช่องเดินทางรถกะทันหัน เพื่อความปลอดภัยก่อนเปลี่ยนช่องทางต้องเปิดไฟเลี้ยวก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย ๓๐ เมตร ที่สำคัญไม่ควรขับแซงรถด้านซ้ายหรือริมไหล่ทางด้วยความเร็วสูง เพราะหากมีรถจอดกีดขวางริมข้างทาง อาจไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ทำให้พุ่งชนท้ายรถที่จอดอย่างรุนแรง การขับรถออกจาก “ทางโท” แล้วถูกรถ “ทางเอก” ชน กรณีนี้ควรหยุดรถเพื่อรอให้รถทางเอกไปก่อนเสมอ แต่ถ้าทางแยกนั้นมีสัญญาณไฟจราจรหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยโบกมือให้สัญญาณ ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การจอดรถ ควรจอดรถบริเวณด้านซ้ายของทางเดินรถให้ด้านซ้ายของรถชิดกับขอบหรือไหล่ทางในระยะไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร กรณีขับผ่านสี่แยกที่มีสัญญาณไฟจราจร เมื่อมีสัญญาณไฟแดง ควรหยุดรถหลังเส้นให้หยุด เมื่อมีสัญญาณไฟเหลือง ควรเตรียมตัวหยุดรถหลังเส้นให้หยุด และเมื่อมีสัญญาณไฟเขียว จึงจะสามารถขับรถออกจากหลังเส้นให้หยุดรถได้ การบรรทุกสิ่งของ สิ่งของที่บรรทุกต้องไม่เกินความยาวและส่วนกว้างของตัวรถ รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์นิรภัย สัญญาณไฟหรือใช้ผ้าสีสะท้อนแสงผูกบริเวณสิ่งของที่ยื่นยาวออกมา เพื่อป้องกันรถขนาดเล็กมุดลอดรถบรรทุก กรณีรถเสีย ให้นำรถจอดริมข้างทางในบริเวณที่ปลอดภัย และขอความช่วยเหลือจากคนที่อยู่บริเวณนั้น หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถ้ารถเสียหรือประสบอุบัติเหตุในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟฉุกเฉินแล้วนำป้ายสะท้อนแสงมาวางในจุดที่ห่างจากรถที่จอดเสียประมาณ ๒๐ - ๓๐ เมตร ซึ่งสามารถมองเห็นได้ในระยะ ๑๕๐ เมตร เพื่อให้สัญญาณกับผู้สัญจรรายอื่นได้ทราบว่ามีรถเสียจะได้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น กรณีรถถูกเฉี่ยวชน หากเป็นอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงมากนัก ให้เปิดไฟฉุกเฉินเพื่อเตือนให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางรายอื่นทราบว่ามีอุบัติเหตุจะได้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น กรณีรถประสบอุบัติเหตุและรู้ว่าฝ่ายไหนถูกหรือผิด โดยสามารถตกลงกับคู่กรณีได้ ให้เคลื่อนรถหลบไปยังข้างทางเพื่อป้องกันการถูกชนซ้ำ แต่ถ้าเป็นกรณีอุบัติเหตุในลักษณะรุนแรง แต่ผู้ประสบเหตุยังพอมีสติและไม่บาดเจ็บมากนัก ให้รีบหนีออกมาจากรถโดยเร็วเพราะอาจเกิดเพลิงไหม้รถได้ นอกจากผู้ขับขี่ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถให้มากขึ้น ใช้ความเร็วให้สัมพันธ์กับสภาพการจราจร ไม่เบรกหรือหยุดรถกะทันหัน ให้สัญญาณไฟทุกครั้งที่จะเปลี่ยนช่องทางจราจร และหยุดหรือจอดรถริมข้างทาง ใช้ระยะทางในการหยุดรถให้สัมพันธ์กับความเร็วและระยะห่างจากรถคันหน้า จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรถชนท้าย ส่วนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมให้มีการสร้างไหล่ทางบนถนนและจัดพื้นที่พักริมทางที่เหมาะสม สำหรับใช้เป็นพื้นที่จอดรถกรณีฉุกเฉิน และควรมีการควบคุมการค้าแผงลอยบริเวณริมถนนให้มีความเรียบร้อย การเพิ่มช่องจราจรสำหรับรถจักรยานยนต์ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ กรณีรถชนท้าย โดยมีสาเหตุมาจากการตัดหน้าระยะกระชั้นชิด และการขับจี้ท้าย หากมีช่องทางจราจรเฉพาะจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุให้น้อยลงได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ