ธุรกรรมการเงินผ่านมือถือ - โอกาสใหม่ของผู้ประกอบการสื่อสารไร้สาย

ข่าวทั่วไป Tuesday October 31, 2006 16:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--ศูนย์วิจัยกสิกร
การแข่งขันทางราคาของผู้ประกอบการในธุรกิจสื่อสารผ่านระบบไร้สายค่ายต่างๆ ส่งผลให้รายได้ค่าบริการต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ทำให้ผู้ประกอบการค่ายต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อบริการเสริมผ่านระบบมือถือ ซึ่งมีอัตราส่วนของรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบริการรับส่งข้อความ SMS บริการดาวน์โหลดเพลง เสียงเรียกเข้า เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเริ่มเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของการให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบเครือข่ายมือถือซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย โดยในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ได้มีการเปิดให้บริการธุรกรรมการเงินผ่านมือถือมาก่อนหน้านี้และเป็นที่นิยมของผู้ใช้บริการมือถือเนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็ว และยังสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลาอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชำระเงินผ่านมือถือซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
ในเมืองไทยเอง ผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายเริ่มหันมาให้ความสนใจในบริการธุรกรรมการเงินผ่านมือถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชำระเงินผ่านมือถือ ในเบื้องต้น ผู้ให้บริการเหล่านี้นอกจากนำเสนอบริการรับชำระค่าใช้มือถือรายเดือน และบริการเติมเงินค่าใช้มือถือสำหรับลูกค้าระบบพรีเพดแล้ว ยังได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการในธุรกิจอื่นๆ เพื่อรับชำระค่าบริการผ่านมือถืออีกด้วย ส่วนประเภทของธุรกิจที่รับชำระค่าบริการผ่านมือถือก็แตกต่างกันไป เช่นชำระค่ามือถือ ค่าเคเบิ้ลทีวี ค่าบริการอินเทอร์เน็ต ค่าสาธารณูปโภค ค่าสินค้าที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ค่าบริการที่ร้านอาหาร ร้านหนังสือ เป็นต้น
ความนิยมของช่องทางการชำระเงินต่างๆ
ธุรกิจรับชำระค่าใช้บริการถือเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าตลาดสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามธุรกิจรับชำระเงินถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงเช่นกัน ผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายนอกจากจะต้องแข่งขันกับผู้พัฒนาระบบชำระเงินผ่านมือถือแล้ว ยังต้องแข่งขันกับผู้ให้บริการชำระเงินช่องทางอื่นๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าความสะดวกของการชำระเงินผ่านมือถือน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่หนุนให้ช่องทางดังกล่าวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีการใช้บริการธุรกรรมผ่านมือถือ
จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า สาเหตุที่ทำให้การชำระค่าบริการ/ค่าบิลผ่านมือถือมีความนิยมมากขึ้นประกอบด้วยประเด็นดังต่อไปนี้
1. จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้น ณ สิ้นปี 2548 มีจำนวนผู้ใช้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 29.8 ล้านเลขหมาย เติบโตร้อยละ 8.6 จากปี 2547 ช่วงครึ่งแรกของปี 2549 จำนวนผู้ใช้เลขหมายเพิ่มถึง 33.3 ล้านเลขหมาย จำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้นเปิดโอกาสผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายมีฐานผู้ใช้บริการเสริมมากขึ้น ซึ่งรวมถึงบริการธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ
2. ตลาดการชำระเงินมีแนวโน้มขยายตัวตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภค ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้ระบบมือถือ ระบบโทรศัพท์พื้นฐาน สาธารณูปโภค มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลก็ทำให้ปริมาณธุรกรรมผ่านช่องทางการชำระเงินเพิ่มมากขึ้นด้วย
3. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาอุปกรณ์และแอปพลิเคชั่นที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบมือถือและระบบการชำระเงินผ่านมือถือที่หลากหลาย สามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้มากยิ่งขึ้น เช่นการใช้ระบบไดนามิคซิม (Dynamic SIM) ซึ่งช่วยในการเพิ่มข้อมูลหรือเมนูบนมือถือให้ทันสมัยยิ่งขึ้น นอกจากนี้ มือถือรุ่นใหม่ๆที่จำหน่ายในท้องตลาดมีแนวโน้มรองรับเทคโนโลยี WAP/GPRS ได้ด้วย
4. ลักษณะเฉพาะของมือถือ ซึ่งสามารถพกพาได้สะดวก ทำให้ผู้ใช้มือถือสามารถชำระเงินได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด นอกจากนี้ยังไม่มีข้อจำกัดในด้านของเวลาที่เปิดให้บริการ
5. ลักษณะเฉพาะของการให้บริการธุรกรรมการเงินบนมือถือ ผู้ให้บริการสามารถลดต้นทุนในการสรรหาทำเลที่ตั้งและเช่าพื้นที่ และลดต้นทุนการจ้างพนักงานเพื่อให้บริการผู้ทำธุรกรรมการเงิน แต่จะมีต้นทุนด้านการพัฒนาระบบชำระเงิน การหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อขยายขอบข่ายการให้บริการ และการอบรมให้ผู้ทำธุรกรรมเข้าใจถึงวิธีการใช้งาน
6. ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ชอบทดลองสิ่งแปลกใหม่และเปิดรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า กลุ่มผู้ที่นิยมใช้บริการเสริมบนมือถือส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัย 15-30 ปี เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายกำลังเร่งทำตลาดเพื่อต่อยอดบริการเสริมของตน
ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมผ่านมือถือ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ปัจจัยที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมทางการเงินบนมือถือได้แก่ปัจจัยด้านความปลอดภัย การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วส่งผลให้ต้องลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา และการที่ผู้ใช้มือถือขาดความคุ้นเคยในเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งสามารถแยกเป็นประเด็นปลีกย่อยได้ดังนี้
1. อุปสรรคด้านความปลอดภัย
ผู้ใช้มือถือปัจจุบันยังขาดความมั่นใจในการใช้มือถือทำธุรกรรมทางการเงินในด้านต่างๆ อันได้แก่
- หลักฐานยืนยันการทำธุรกรรม
ผู้ทำธุรกรรมการเงินเช่นชำระค่าบริการ ส่วนหนึ่งยังขาดความมั่นใจในความปลอดภัยเมื่อชำระเงินผ่านมือถือ เช่นกรณีชำระค่าบิลที่ร้านสะดวกซื้อหรือธนาคารจะได้รับใบเสร็จยืนยันการชำระเงิน ทั้งนี้ ผู้ให้บริการมือถือชี้แจงให้ผู้ชำระเงินรู้ว่าการชำระเงินผ่านมือถือทุกครั้ง จะมีการส่งข้อความกลับมาที่ผู้ใช้มือถือเพื่อยืนยันการชำระเงินทันที ข้อความดังกล่าวสามารถใช้เป็นหลักฐานแทนใบเสร็จในรูปแบบของกระดาษ ซึ่งก็อาจจะสร้างความมั่นใจให้ผู้ชำระเงินได้บ้าง
- มีรหัสผ่านเพื่อสร้างความปลอดภัย
ผู้ใช้มือถือบางรายมีความกังวลกรณีมือถือสูญหาย จะมีการลักลอบนำมือถือไปใช้ชำระเงินหรือโอนเงิน ซึ่งตรงจุดนี้ ผู้ให้บริการการชำระเงินควรสร้างความเข้าใจให้ผู้ใช้รู้ว่า ทุกครั้งที่มีการใช้จ่ายหรือชำระค่าบริการ ผู้ใช้จะต้องระบุรหัสผ่าน (PIN) ด้วย ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ชำระเงิน
- ข้อมูลรหัสผ่านรั่วไหล
ผู้ให้บริการบางรายอนุญาตให้ผู้ใช้มือถือระบุรหัสผ่าน (PIN) พ่วงท้ายหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรออกเพื่อเชื่อมต่อเข้าศูนย์ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ใช้มือถือทำธุรกรรมได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเครื่องมือถือบางรุ่นสามารถบันทึกเลขหมายโทรออกพร้อมกับรหัสผ่านที่พ่วงท้ายหมายเลขโทรศัพท์ได้ ดังนั้นหากมีผู้ลักลอบดูเลขหมายโทรออกบนเครื่อง ก็สามารถล่วงรู้ถึงรหัสผ่านได้ด้วยและก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ ซึ่งตรงจุดนี้เองผู้ประกอบการควรชี้แจงให้ผู้ใช้ลบข้อมูลเลขหมายโทรออกทุกครั้งหลังใช้งาน เพื่อป้องกันข้อมูลรหัสผ่านรั่วไหล หรือหันไปใช้วิธีป้อนรหัสในขั้นตอนสุดท้าย ภายหลังจากที่ผู้ใช้เชื่อมต่อเข้าศูนย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- การสร้างความเชื่อมั่นในขั้นตอนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
ในกรณีที่ผู้ใช้ผูกบัญชีธนาคารเข้ากับบัญชีมือถือ / บัญชีบัตรเครดิตของตนเอง ผู้ใช้อาจเกิดความกังวลในด้านความปลอดภัยกรณีที่มีการทุจริตเกิดขึ้น ทั้งนี้ผู้ให้บริการควรคาดการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้และปรับปรุงระบบให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น เช่น กำหนดให้มีกลไกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ รวมถึงการอบรมให้พนักงานเข้าใจวิธีการแก้ปัญหาของลูกค้าอย่างครอบคลุมที่สุด
2. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว
ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องมีการปรับปรุงเครือข่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและเพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานในรูปแบบที่หลากหลายโดยเน้นการให้บริการข้อมูล (Data) มากขึ้นจากเดิมที่เป็นเครือข่ายรับส่งเสียงตามสาย (Voice) เท่านั้น เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจต้องลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ระบบล้าหลังคู่แข่ง จึงส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
3. ขาดความคุ้นเคยในเทคโนโลยีใหม่
ในการทำธุรกรรมผ่านมือถือต้องอาศัยความคุ้นเคยในเทคโนโลยี ความรู้ความเข้าใจในวิธีการส่งข้อความ หรือเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือด้วยเทคโนโลยี WAP/GPRS เป็นต้น อีกทั้งขั้นตอนการทำธุรกรรมในปัจจุบันยังค่อนข้างซับซ้อน ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่อาจไม่กล้าทดลองใช้บริการ นอกจากนี้มือถือบางรุ่นยังไม่สามารถรองรับ WAP/GPRS การทำธุรกรรมทางการเงินบางประเภทจึงลำบากขึ้น
ผลกระทบของธุรกรรมผ่านมือถือในเชิงธุรกิจ
การพัฒนาทางเทคโนโลยีระบบสื่อสารไร้สาย ส่งผลให้รูปแบบการใช้มือถือมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินผลกระทบของการให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือดังนี้
- ผู้ชำระเงินมีทางเลือกในการชำระเงินมากขึ้น สามารถชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือนอกเหนือจากการชำระเงินด้วยวิธีอื่นๆ อาทิ ร้านสะดวกซื้อ เคาน์เตอร์ธนาคาร ที่ทำการไปรษณีย์ เป็นต้น ผู้ให้บริการชำระเงินอาจหันมาแข่งขันกันด้านราคามากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การให้บริการธุรกรรมผ่านมือถือมีความได้เปรียบด้านต้นทุนเนื่องจากไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านสถานที่และบุคลากรที่ให้บริการหน้าร้าน การตั้งราคาค่าให้บริการจึงอาจต่ำลงมาได้ด้วย
- เมื่อการชำระเงินผ่านมือถือเป็นที่นิยมมากขึ้น อาจช่วยหนุนการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น E-commerce ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่อายุน้อยและไม่สามารถมีบัตรเครดิตเป็นของตนเอง เช่นกลุ่มวัยรุ่นอายุระหว่าง 15- 24 ปี ซึ่งจากสถิติพบว่าวัยรุ่นกลุ่มนี้คิดเป็น 46.8% ของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด นอกจากนี้ 2 ใน 3 ของวัยรุ่นกลุ่มดังกล่าวยังมีการใช้มือถืออีกด้วย ดังนั้นการเปิดช่องทางชำระเงินผ่านมือถืออาจะช่วยให้กลุ่มผู้ใช้อายุน้อยเหล่านี้สามารถทำธุรกรรม E-commerce ได้สะดวกขึ้น
- การเปิดให้บริการธุรกรรมการเงินผ่านมือถือ แม้ว่าจะแข่งขันกับธุรกิจให้บริการชำระเงินของธนาคารโดยตรง แต่อีกด้านหนึ่ง การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ ไม่ว่าจะเป็นการเติมเงินเข้าบัญชีบนมือถือ การโอนเงินสด ชำระเงิน ฯลฯ ในที่สุดอาจต้องมีการเติมเงิน / หักเงิน ฯลฯ ผ่านระบบของธนาคารเป็นขั้นตอนสุดท้าย บริการธุรกรรมการเงินบนมือถือที่เพิ่มขึ้น จึงช่วยเพิ่มปริมาณของธุรกรรมผ่านระบบธนาคาร ส่งผลให้ยอดรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
- ผู้ใช้มือถือสามารถชำระเงินผ่านมือถือได้มากขึ้น อาจส่งผลให้มีความจำเป็นในการถือครองเงินสดลดน้อยลง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ประชาชนลดปริมาณการถือครองเงินสดและหันมาใช้ช่องทางชำระเงินอื่นๆมากยิ่งขึ้นเพราะปลอดภัยกว่าการถือเงินสด อีกทั้งยังมีความสะดวกรวดเร็วในการชำระเงินและมีต้นทุนที่ต่ำกว่า
สรุป
ผู้ประกอบการในธุรกิจสื่อสารไร้สาย ต้องประสบปัญหาการแข่งขันด้านราคาซึ่งส่งผลให้รายได้ค่าบริการต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ลดลงเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการระบบสื่อสารไร้สายเริ่มเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของบริการเสริม อาทิ ธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชำระเงินผ่านมือถือ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ใช้มือถือถึงวิธีการใช้งาน และเนื่องจากเป็นการทำธุรกรรมผ่านระบบไร้สาย จึงต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยของระบบ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อสารไร้สายคาดว่าภายในสิ้นปี 2549 จะมีผู้สมัครใช้บริการธุรกรรมผ่านมือถือถึงประมาณ 2 ล้านคน และตั้งเป้าว่าใน 2 ปีจะสร้างฐานผู้ใช้บริการธุรกรรมการเงินผ่านมือถือคิดเป็น 10% ของผู้ใช้มือถือทั้งหมด ซึ่งจากเป้าหมายดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่าในภายในปี 2551 จำนวนผู้ทำธุรกรรมผ่านมือถืออาจมีเพิ่มขึ้นถึง 4.5 ล้านคน หรือมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นปีละกว่า 100% จากปีปัจจุบัน และในอีก 2 ปีข้างหน้า รูปแบบของการให้บริการจะมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น สามารถชำระเงินตามสถานที่ต่างๆ อย่างแพร่หลาย อาทิ สถานีรถไฟฟ้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต สถานีบริการน้ำมัน ภัตตาคาร ฯลฯ
อนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อสารไร้สาย / ผู้พัฒนาระบบธุรกรรมบนมือถือควรจะมีมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้มือถือเลือกชำระเงินผ่านมือถือมากขึ้น ดังนี้
- เร่งขยายความร่วมมือกับผู้ประกอบการธุรกิจให้มากขึ้น
ผู้ประกอบการสื่อสารไร้สายมีร้านค้าซึ่งเป็นพันธมิตรในวงจำกัด และธนาคารที่เข้าร่วมในเครือข่ายการชำระเงินไม่ครอบคลุมทุกธนาคาร ผู้ประกอบการธุรกิจ / ผู้พัฒนาระบบยังมีโอกาสในการขยายเครือข่ายพันธมิตรที่รับชำระเงินผ่านมือถือทั้งในส่วนของธนาคารและร้านค้าให้สามารถใช้งานได้แพร่หลายและครอบคลุมยิ่งขึ้น เช่น สามารถชำระค่าใช้บริการที่สถานีรถไฟฟ้า ภัตตาคาร ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต สถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ โดยตัดบัญชีอัตโนมัติของธนาคารได้ทุกแห่ง
- เพิ่มช่องทางการเติมเงินให้สะดวกยิ่งขึ้น
ปัจจุบันผู้ชำระเงินผ่านมือถือไม่นิยมเติมเงินโดยให้ตัดผ่านบัตรเครดิตหรือหักบัญชีธนาคาร แต่จะนิยมใช้วิธีเติมเงินเข้าบัญชีมากที่สุด (ผ่านตู้เอทีเอ็ม ผ่านศูนย์ให้บริการ บัตรเติมเงิน ฯลฯ) การเพิ่มช่องทางการเติมเงินจะช่วยดึงดูดให้มีผู้ใช้มือถือชำระเงินมากยิ่งขึ้นเนื่องจากสะดวกมากขึ้น
- กำหนดมาตรฐานการชำระเงินผ่านมือถือให้ใช้ร่วมกันได้ทุกค่าย
ขั้นตอนการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ ในปัจจุบันยังค่อนข้างซับซ้อน อีกทั้งผู้ประกอบการมือถือแต่ละค่ายมีการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบชำระเงินให้สามารถใช้ร่วมกันได้และสร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้ เช่นร้านค้าที่ต้องการติดตั้งเครื่องอ่านชิปบนมือถือเพื่อหักค่าสินค้า/บริการ อาจประสบปัญหาเนื่องจากเครื่องอ่านชิปไม่สามารถอ่านชิปของมือถือของค่ายต่างๆได้ทุกค่าย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกันระหว่างผู้ให้บริการชำระเงินผ่านมือถือทุกๆราย เพื่อกำหนดมาตรฐานการชำระเงินผ่านมือถือให้สามารถใช้ร่วมกันได้
- กระตุ้นการทำธุรกรรมการเงินประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากการชำระเงินให้มากขึ้น
ปัจจุบันในต่างประเทศ การทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือจะมีความหลากหลายเช่น การโอนเงิน ฝากเงิน เติมเงิน ชำระเงิน ฯลฯ แต่ในเมืองไทยบริการที่เป็นที่นิยมได้แก่การชำระค่าบริการและการเติมเงินมือถือ ในอนาคต ผู้เร่งบริการจะหันมาให้บริการธุรกรรมการเงินผ่านมือถือหลากหลายประเภทมากยิ่งขึ้น และบางประเภทจะไม่ต่างจากการทำธุรกรรมที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์
- สร้างความเข้าใจให้กับผู้ใช้เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย
สำหรับธุรกรรมที่มูลค่าสูง โดยปกติผู้ใช้มือถือต้องแจ้งความประสงค์ในการชำระเงินผ่านมือถือต่อเจ้าของร้านค้า และรอให้เจ้าของร้านค้าติดต่อกลับผ่านมือถือ จึงจะป้อนรหัสยืนยัน ขั้นตอนการตรวจสอบแม้จะทำให้ธุรกรรมมีความปลอดภัยมากขึ้น แต่จะซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น การสร้างความเข้าใจแก่ผู้ใช้โดยอาศัยศูนย์บริการ การจัดงานอีเวนต์ ฯลฯ เพื่อให้ผู้ใช้มือถือรู้สึกคุ้นเคยมากขึ้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายกลุ่มผู้ใช้มือถือทำธุรกรรมทางการเงิน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ