ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ อำพันงามแห่งท้องทะเลอันดามัน

ข่าวทั่วไป Friday October 2, 2009 09:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หลัง จากลมพายุกิสนาคลายโทสะลงหลงเหลือไว้เพียง เศษเสี้ยวปรักหลักหักพังที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ร่วมกระทั่งพื้นที่บริเวณใกล้เคียงที่คงได้ผลรับจากเหตุการณ์นี้โดยดุษฎี ไม่เพียงแต่ผลกระทบทางตรงเท่านั้นที่พายุฝากเอาไว้ แต่ยังส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์บางอย่างที่พบได้ไม่บ่อยนักบริเวณชายหาดฝั่งทะเลอันดามันของเมืองไทย ปรากฏการณ์ที่ว่าก็คือปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ (Ambergris) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า อำพัน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเล นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ขี้ปลาวาฬหรืออำพันเป็นสารที่ถูกขับถ่ายออกมาจากวาฬหัวทุย โดยวาฬชนิดนี้กินปลาหมึกเป็นอาหารหลัก ไขมันปลาหมึกที่ย่อยสลายไม่ได้จะถูกสะสมบริเวณลำไส้และถูกขับถ่ายออก โดยเมื่อแรกที่ถูกขับจะมีกลิ่นเหม็น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเป็นเดือนหรือเป็นปี ได้เกิดปฏิกิริยากับอากาศแสงแดด ระหว่างล่องลอยอยู่ในทะเล แต่ด้วยค่าความถ่วงจำเพาะที่มีน้อยกว่าน้ำทะเลจึงมีคุณสมบัติทางเคมีเปลี่ยนไป ทำให้มีลักษณะเป็นก้อนแข็งสีขาว น้ำตาล เทา หรือดำ ตามระยะเวลาในการทำปฏิกิริยา ละลายที่อุณหภูมิมากกว่า 62 องศาเซลเซียส แต่ด้วยอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส จะระเหยเป็นไอ ลักษณะพิเศษของ ขี้ปลาวาฬ (Ambergris) คือ มีกลิ่นหอมคล้ายสารจำพวกน้ำมันหอมระเหย ใช้เป็นวัตถุดิบในการสกัดหัวน้ำหอม หรือนำไปแต่งกลิ่นในอาหารหรือไวน์ เป็นที่ต้องการของตลาด จึงทำให้อำพันมีมูลค่าสูงมากถึงกิโลกรัมละหลายหมื่นบาท ลักษณะของ Amberigris ที่พบบริเวณเกาะระ (ภาพข่าวจากเว็บไซต์ไทยรัฐ) ด้วยการมาของขี้ปลาวาฬหรืออำพันตามที่ชาวบ้านเรียกขานกันมานานนั้น แสดงให้เห็นว่าชายฝั่งทะเลอันดามันยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เป็นแหล่งอาศัยและหากินของวาฬ และสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งใกล้สูญพันธุ์อีกหลายชนิด นอกจากจะมีคุณค่าทางธรรมชาติแล้ว ยังจะก่อให้เกิดผลดีกับการท่องเที่ยวของอันดามัน ที่สำคัญไปกว่านั้นคือมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่พบเห็นวาฬหัวทุย ยาวประมาณ 20 เมตร น้ำหนักมากกว่า 15 ตัน ในทุกปี และวาฬดังกล่าวจะปล่อยไขมันภายในร่างกายหรืออำพันออกมา ซึ่งปีนี้ถือว่ามีปริมาณมากกว่าทุกปี และเป็นก้อนขนาดใหญ่ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า 300 กิโลกรัม ยังมีชาวประมงอีกหลายคนเคยพบเห็นวาฬขนาดใหญ่บ่อยครั้งมาก และบางครั้งก็ว่ายเข้ามาใกล้ๆ กับเรือประมง อำพันที่พบครั้งนี้ถือว่าเป็นก้อนอำพันที่สมบูรณ์มาก ซึ่งการที่ขี้ปลาวาฬ หรือ อำพันถูกพัดเข้ามาบริเวณชายฝั่งทะเล ไม่ใช่ลางบอกเหตุร้าย และก็ไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่าจะเป็นลางไม่ดีอย่างที่ประชาชนบางกลุ่มเข้าใจแต่อย่างใด หากทว่าเป็นเครื่องการันตีถึงชายทะเลและชายฝั่งของอันดามันที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยและหากินของสัตว์น้ำนานาชนิด วาฬหัวทุย (Sperm whale, Physeter Macrocephalus) เหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจมาจากผลพวงของลมพายุกิสนาที่พัดเอาขี้ปลาวาฬหรืออำพันเข้ามายังชายฝั่งอันดามัน นับว่าเป็นเรื่องดี อาจกล่าวได้ว่าเป็นดัชนีชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของชายฝั่งและท้องทะเลอันดามันของไทยที่ยังคงอุดมไปด้วยความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและระบบนิเวศที่ยังดีอยู่ นับว่าเป็นอำพันงามในท้องทะเลอันดามันก็ว่าได้ กลุ่มสื่อสารองค์กร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 120 หมู่ 3 ชั้น 5 อาคารรวมหน่วยราชการ (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0-2141-1299 โทรสาร 0-2143-9249

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ