แพทย์โรคติดเชื้อหวั่นภาวะเชื้อดื้อยาคุกคามคนไทย หลังพบการกลับมาระบาดของโรคติดเชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะพุ่งสูงขึ้น

ข่าวทั่วไป Tuesday August 1, 2006 11:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
แพทย์โรคติดเชื้อหวั่นปัญหาภาวะเชื้อดื้อยาคุกคามสุขภาพคนไทย หลังพบอัตราการดื้อยาของโรคติดเชื้อร้ายแรงในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง หรือโรคติดเชื้อไอดีพีในเด็กซึ่งเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงในอวัยวะหลายระบบ ทั้งปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด พบอัตราการดื้อยาสูงกว่า 56% ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและยุ่งยากในการรักษา ทำให้เกิดภาวะโรคแทรกซ้อนได้ง่าย และมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น ชี้สาเหตุหลักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ แนะป้องกันโดยใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะเมื่อจำเป็นจริงๆ ให้ครบขนาดและตามระยะเวลาที่แพทย์สั่ง และฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ กระจายของเชื้อโรค
อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี : มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ ได้จัดงานเสวนาโต๊ะกลม “ปัญหาภาวะเชื้อดื้อยาในประเทศไทย:ผลกระทบและการแก้ไข” ขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบปัญหาภาวะเชื้อดื้อยาและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง โดยมี ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และพญ.ฤดีวิไล สามโกเศศ กุมารแพทย์ รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ ร่วมเป็นวิทยากรเสวนา
ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การกลับมาระบาดของเชื้อโรคที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะในปัจจุบัน ได้กลายเป็นปัญหาให้กับวงการแพทย์ทั่วโลกเป็นอย่างมาก โดยพบว่าปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ หรือแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีอุบัติการณ์การดื้อยาสูงเช่นกัน
“ปัญหาเชื้อดื้อยามักเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ มากมายเช่น ทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น ทำให้โอกาสการรักษาที่จะได้ผลดีมีน้อยลงไปเรื่อยๆ หรือทำให้การรักษาล่าช้าหรืออาจก่อให้เกิดผลแทรกซ้อนที่อันตรายอื่นๆ รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้นเพราะต้องใช้ยาราคาแพงขึ้น ผู้ป่วยต้องพักรักษาในโรงพยาบาลนานขึ้น และยังก่อให้เกิดความยากลำบากแก่แพทย์ในการเลือกชนิดให้ได้ผลดี บางครั้งจำเป็นต้องใช้ยาที่มีแรงมากขึ้น” ศ.นพ.อมร กล่าวและเสริมว่า
ยาที่พบปัญหาภาวะเชื้อดื้อยาได้บ่อย ได้แก่ ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ (Antibiotics) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจต่างๆ เนื่องจากเป็นยาที่มีการใช้บ่อยมากและมักมีผู้ใช้ยานี้ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น นำไปรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจที่มักเป็นกันบ่อย เช่น โรคหวัด ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจกันผิดๆ ว่าเป็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จึงไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจริงๆ แล้วโรคเหล่านี้เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ จึงกลายเป็นปัญหาการใช้ยาผิดประเภทและเกินความจำเป็นไปมาก
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินความจำเป็นของคนไทย ผู้ป่วยสามารถซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเองได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ บางครั้งแพทย์ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการฟ้องร้องเพราะถ้าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียแล้วแพทย์ให้ยาปฏิชีวนะช้าก็จะถูกร้องเรียนเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนมากส่งผลให้อุบัติการณ์เชื้อโรคดื้อต่อยาปฏิชีวนะเพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ โดยพบว่าโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เคยรักษาได้โดยง่ายในอดีตนั้นได้กลายเป็นโรคที่รักษาได้ยากขึ้น จำเป็นต้องใช้ยาราคาแพงขึ้นและมีอันตรายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดเชื้อแบคทีเรียสเตปโตคอคคัส นิวโมนิเอ หรือนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด โรคติดเชื้อ ไอ พี ดี (โรคติดเชื้อรุนแรงในระบบอวัยวะต่างๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดบวม และติดเชื้อในกระแสเลือด) ซึ่งเคยรักษาได้ผลดีด้วยยาปฏิชีวนะเพนนิซิลินนั้น ปัจจุบันพบว่าอัตราเชื้อนิวโมคอคคัสที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะเพนนิซิลินสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงร้อย 41 ต้องเปลี่ยนไปเป็นยาที่แรงและแพงขึ้นหลายเท่า
และจากการสำรวจ เด็กในประเทศไทยพบว่าประมาณ35% เป็นพาหะของเชื้อนิวโมคอคคัส โดยพบมากที่สุดในเด็กทารกและเด็กเล็กในช่วงอายุ 2-3 ปี และเชื้อพาหะนี้กว่าครึ่ง (56%) ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ เชื้อที่ดื้อยาเหล่านี้จะแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ทั้งสู่เด็กด้วยกันเอง สมาชิกในบ้านและ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เช่น คุณปู่ คุณย่าในบ้าน จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติการณ์ของเชื้อที่ดื้อยาเพิ่มขึ้นในประเทศไทย“แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็พบอุบัติการณ์การดื้อยาสูงเช่นกัน โดยในปี 1998 พบปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะต่อเชื้อนิวโมคอคคัสสูงถึง 24% ซึ่งปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะต่อเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการรักษาโรคติดเชื้อไอพีดี เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อที่ร้ายแรง โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก หากได้รับการรักษาล่าช้า อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรือถ้าไม่เสียชีวิตก็อาจพิการได้ ” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
พญ.ฤดีวิไล สามโกเศศ กุมารแพทย์ รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ กล่าวเสริมว่า โรคติดเชื้อไอพีดีเป็นโรคติดเชื้อรุนแรงในเด็กเล็กซึ่งพบไม่บ่อย เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (สเตร็ปโตคอคคัสนิวโมเนียอี) ที่อาศัยอยู่บนเนื้อเยื่อบุทางหายใจส่วนบนลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด และอาจไปสู่อวัยวะต่างๆ ที่สำคัญ มักมีอาการไข้สูง ในระยะต้นอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด จึงทำให้หลายคนมองข้ามคิดว่าเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา แต่เด็กมักซึมลง หรือร้องกวน งอแง อาจลุกลามเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กมักมีอาการชัก และ หมดสติ เป็นโรคที่ยากต่อการวินิจฉัยต้องทำการตรวจด้วยการเพาะเชื้อในเลือดซึ่งใช้เวลาหลายวันและเจาะน้ำในช่องหุ้มไขสันหลังมาตรวจ การที่อาการระยะแรกไม่สามารถแยกแยะได้จากโรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการไข้ ทำให้อาจมีความล่าช้าในการรักษา ปัญหานี้มักเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก การที่เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงในเด็กเล็กๆ เพราะเด็กจะยังไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อนี้ เชื้อโรคจึงเพิ่มจำนวนได้มากและสามารถลุกลามได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งบางครั้งยาปฏิชีวนะอาจไม่สามารถยับยั้งเชื้อโรคได้ทันท่วงที ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหรือมีความพิการทางสมองตามมาได้ การติดเชื้อไอพีดี มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากในเด็กไทยเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา แต่เป็นโรคที่รุนแรง
เชื้อนิวโมคอคคัสที่ทำให้เกิดโรคไอพีดีอาจเป็นเชื้อที่ดื้อยา สาเหตุของการเกิดเชื้อดื้อยาคือการใช้ ปฏิชีวนะมากเกินไปโดยไม่จำเป็น การลดอุบัติการณ์ภาวะเชื้อดื้อยาสามารถทำได้โดยการงดการใช้ยา ปฏิชีวนะ โดยไม่จำเป็น ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมาให้เด็กกินเองพร่ำเพรื่อ โดยไม่ปรึกษาแพทย์ ใช้ยาต้านจุลชีพให้ถูกวิธี คือ ต้องกินยาให้ครบขนาดและระยะเวลาตามที่แพทย์สั่งถึงแม้ว่าอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ การลดการแพร่กระจายของเชื้อก็เป็นการช่วยลดปัญหาภาวะเชื้อดื้อยาได้ โดยต้องอาศัยความเข้าใจและร่วมมือกันจากหลายฝ่าย ซึ่งปัจจุบันสาธารณสุขในหลายประเทศรวมถึงองค์กรระดับโลก ได้มีการศึกษาผลของวัคซีนต่อปัญหาเชื้อนิวโมคอคคัสที่ดื้อยา ซึ่งมีรายงานการให้วัคซีนในทารกและเด็กเล็กร่วมกับการลดการใช้ยาปฏิชีวนะสามารถลดการเกิดเชื้อดื้อยาได้ในต่างประเทศ
ผลวิจัยระบุฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไอพีดีตั้งแต่ทารก ช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในชุมชนได้
เมื่อเร็วๆ นี้ วารสารทางการแพทย์ชั้นนำของอเมริกา “The New England Journal of Medicine” (6 เม.ย. 2006) ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาวิจัยใหม่ ระบุว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไอ พี ดี (IPD: Invasive Pneumococcal Disease) ให้แก่เด็กเล็กนอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโดยตรงในเด็กผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ยังช่วยลดอุบัติการณ์การดื้อยาปฏิชีวนะต่อเชื้อนิวโมคอคคัส หรือสเตร็ปโตคอคคัสนิวโมเนียอี ในประชากรทุกกลุ่มอายุในชุมชนนั้นๆได้อีกด้วย
โดยจากการประเมินผลทางสถิติของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (the Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ตั้งแต่ปี 1996 ถึงปี 2004 พบว่า อัตราการเกิดโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดที่รุนแรง หรือโรคติดเชื้อไอ พี ดี ในกรณีที่เกิดจากการดื้อยาของเชื้อนิวโมคอคคัสของประชากรทั่วไปในชุมชนนั้นๆ ลดลงถึง 87% ทั้งในกรณีที่เกิดจากการดื้อยาเพนนิซิลิน (6.3 คนต่อ 100,000 ในปี 1999 เหลือ 2.9 คน ใน ปี 2004) และการดื้อยาอื่นๆ (จาก 4.1 คนต่อ 100,000 ในปี 1999 เหลือ 1.7 คน ใน ปี 2004) อัตราดังกล่าวลดลงเฉลี่ย 79% ในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป และลดลงถึง 98% ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ได้รับวัคซีนโดยตรง
นพ.เดเนียล มาสเฮอร์ หัวหน้าศูนย์ติดเชื้อ สถาบันแพทย์ฮุสตัน (Houston Veterans Affairs Medical Center) เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการเริ่มให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไอ พี ดีในเด็กเล็ก พบว่าได้ผลในวงกว้างทั้งในทางตรงและทางอ้อม โดยจากการศึกษาในเด็กเล็กจำนวน 38,000 คน พบว่าผลในทางตรง วัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันโรคติดเชื้อไอ พี ดีชนิดรุนแรง เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคปอดอักเสบได้ และช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบที่เกิดจากนิวโมคอคคัสชนิดที่ตรงกับวัคซีนลงได้ถึง 2 ใน 3 แต่เนื่องจาก หูชั้นกลางอักเสบเกิดจากเชื้ออื่นๆ ด้วยประสิทธิภาพของวัคซีนนี้ในการป้องกันหูชั้นกลางอักเสบในเด็กโดยทั่วไปจะต่ำกว่าร้อยละ 10 วัคซีนป้องกันไอพีดี ยังสามารถลดปริมาณเชื้อที่เป็นพาหะในโพรงจมูกของเด็กเล็กที่พร้อมจะแพร่กระจายไปสู่บุคคลอื่นได้ โดยการไอ หรือจามลงได้ ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กและเป็นเชื้อที่มักเกิดปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะ การให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไอพีดีในเด็กเล็ก จึงช่วยลดเชื้อพาหะหรือ ช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อต่อทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ด้วยนั่นเอง
สำหรับในประเทศไทย จากการศึกษาซึ่งสนับสนุนโดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โดยตรวจตัวอย่างเชื้อนิวโมคอคคัสที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อไอพีดี ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จากกระทรวงสาธารณสุข ร.พ.จุฬาฯ ร.พ.ภูมิพล ร.พ เด็ก และ ร.พ.ศิริราช พบว่า สายพันธุ์หลักๆที่ทำให้เกิดโรคเป็นสายพันธุ์ที่วัคซีนดังกล่าวสามารถครอบคลุมเชื้อได้ประมาณร้อยละ 70 ทำให้มีการคาดว่าการใช้วัคซีนในเด็กไทย น่าจะช่วยป้องกันโรคติดเชื้อไอ พี ดี ได้ ซึ่งควรมีการศึกษาในเด็กไทย รวมทั้งผลกระทบในแง่การลดปัญหาเชื้อดื้อยาในไทย และการลดการแพร่กระจายของเชื้อต่อทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ โทร. 0-2718 3800 ต่อ 133 หรือ 01-483 7336

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ