กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ปตท. จากนโยบายผนึกพลังร่วมบริหารงานในลักษณะกลุ่มธุรกิจของ PTT GROUP และการลงทุนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ของ ปตท. กอปรกับปริมาณการใช้ และราคาผลิตภัณฑ์ทั้งปิโตรเลียม และปิโตรเคมีอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทในเครือ มีรายได้เพิ่มขึ้น 50% จากไตรมาส 2 ปี’47 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 30% หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้น 6.56 บาท/หุ้น โดยส่วนใหญ่เป็นกำไรสุทธิที่มาจากบริษัทย่อยและบริษัทร่วมในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ส่วนกำไรสุทธิของ ปตท. คิดเป็น 44% มาจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 40% และธุรกิจน้ำมัน 4% มุ่งนำผลกำไรขยายการลงทุนส่งเสริมพลังงานทดแทนทั้งก๊าซธรรมชาติ NGV แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซลอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาภาระของประชาชน ลดการขาดดุลจากการนำเข้าน้ำมันที่มีราคาแพง เน้นสร้างพลังร่วมบริษัทในเครือ ก้าวเป็นแกนนำกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์รายใหญ่ของเอเชีย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) แถลง ผลประกอบการไตรมาสที่สองของปีนี้ (เมษายน-มิถุนายน2548)ว่า ปตท. และบริษัทในเครือ มีผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดเด่นที่สำคัญคือ ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์รวมของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นถึง 21 % จากการเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตของโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 5 ซึ่งเป็นโรงแยกก๊าซฯ ใหญ่สุดของประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจของบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (RRC) ที่ ปตท.ได้ลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มจาก 36% เป็น 100% ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทในเครือมีรายได้ 226,291 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 50% มี EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย และค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน) 28,334 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% และมีกำไรสุทธิ 18,355 ล้านบาท หรือเท่ากับกำไรต่อหุ้น 6.56 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 30% โดยส่วนใหญ่ ของกำไรประมาณ 56% มาจากบริษัทในเครือในธุรกิจสำรวจและผลิตฯ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ส่วนที่เหลือประมาณ 44% มาจากผลการ ดำเนินงานของ ปตท. แบ่งเป็นธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 40% และธุรกิจน้ำมัน 4% สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรก (มกราคม — มิถุนายน 2548) ปตท. และ บริษัทย่อย มีรายได้ 417,453 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 45% มี EBITDA 53,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% มีกำไรสุทธิ (ไม่รวมรายการพิเศษจากการปรับโครงสร้างหนี้ RRC) 36,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% และมีกำไรสุทธิ (รวมรายการพิเศษ) 44,351 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68% ซึ่งกำไรส่วนใหญ่มาจากบริษัทในเครือ ปตท. ทั้งนี้ ปัจจุบัน ปตท. ยังคงเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าตลาด (Market Cap.) สูงสุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2548 มี Market Cap. ประมาณ 6.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 14 % ของมูลค่าตลาดรวม และหากรวมบริษัทในเครือแล้ว กลุ่ม ปตท. มี Market Cap. ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 26% ของมูลค่าตลาดรวม สำหรับฐานะการเงิน ณ สิ้นไตรมาสที่สองนี้ ปตท. มีสินทรัพย์มูลค่ารวมทั้งสิ้น 480,245 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 211,696 ล้านบาท หนี้สินรวม 268,549 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนของหนี้สินสุทธิต่อทุนเท่ากับ 0.5:1 ทำให้ ปตท. มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และมีศักยภาพการลงทุนตามแผนวิสาหกิจ (2548-2552 ) อีกกว่า 200,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ การขยายเครือข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ โรงแยกก๊าซฯ และลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมี เพื่อก้าวเป็นแกนนำกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์รายใหญ่ของเอเชีย ที่นอกจากเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในตลาดโลกแล้ว ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ ยังเน้นการลงทุนเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันที่มีราคาผันผวนและไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ การส่งเสริมพลังงานทดแทนทั้งก๊าซธรรมชาติ NGV แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลอย่างต่อเนื่อง นายประเสริฐ เปิดเผยรายละเอียดผลการดำเนินงานที่เป็นธุรกิจตรงของ ปตท. ในไตรมาส 2 ปีนี้ด้วยว่า ในกลุ่มธุรกิจน้ำมัน แม้ว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง แต่ปริมาณการใช้ยังคงเพิ่มขึ้น ทำให้ ปตท. สามารถเพิ่มปริมาณการขายน้ำมันทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น 31% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ ปตท.ยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันในประเทศเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 32% (ไม่รวมการจำหน่ายน้ำมันเตาให้ กฟผ.) กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท.ได้ลงทุนสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านกระบวนการแยกก๊าซฯ และขยายเครือข่ายระบบท่อก๊าซฯ เพื่อสนองความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณจำหน่ายก๊าซฯ ผ่านระบบท่อในไตรมาสที่สองนี้ เพิ่มขึ้น 8 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขายผลิตภัณฑ์รวมทุกชนิดจากโรงแยกก๊าซฯ เพิ่มขึ้นถึง 21 % อีกทั้ง บริษัท ปตท. สำรวจและผลิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มธุรกิจก๊าซฯ มีผลประกอบการดีขึ้นมาก สามารถส่งกำไรสุทธิให้ ปตท. จำนวน 3,563 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ในไตรมาสที่สองนี้ ปตท. มีส่วนแบ่งกำไรสุทธิตามสัดส่วนการลงทุนในบริษัทร่วมของกลุ่มปิโตรเคมีและการกลั่น จำนวน 4,482 ล้านบาท ส่วน RRC ซึ่งแยกมาเป็นบริษัทย่อยตั้งแต่ต้นปี (ปตท. เพิ่มการถือหุ้นเป็น 100%) มีกำไรสุทธิจำนวน 2,197 ล้านบาท นายประเสริฐฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ปตท. ยังคงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 50% และกองทุนของรัฐบาล สถาบันการเงิน/กองทุนของไทย ถือหุ้นรวมกันอีกประมาณ 25% ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเนื่องจากธุรกิจของ ปตท. และบริษัทในเครือมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ปตท. จึงมุ่งเน้นดำเนินงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีระบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ มีการตรวจสอบและประเมินจากหลายฝ่าย จนเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก โดยเป็นองค์กรที่ได้รับรางวัล และจัดอันดับให้เป็นที่หนึ่ง ทั้งด้านความโปร่งใส และผลประกอบการที่ดี อาทิ ด้านผลประกอบการ นิตยสาร Fortune Global 500 ได้จัดอันดับให้ ปตท. เป็นบริษัทไทยรายเดียวที่ติดอันดับในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ 500 อันดับแรกของโลก ในลำดับที่ 373 ดีขึ้นจากลำดับ 456 ในปีก่อน มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ปรับเพิ่มเครดิตเรทติ้งของ ปตท. เป็นระดับ A2 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งด้านการเงินและธุรกิจเป็นอย่างดี รวมทั้ง นิตยสาร Forbes ฉบับเดือนเมษายนปีนี้ ได้จัดอันดับให้ ปตท.เป็นบริษัทจดทะเบียนในลำดับที่ 425 จาก 2000 บริษัทจดทะเบียนใหญ่สุดของโลก นอกจากนี้ ปตท.ยังได้รับรางวัลด้านความโปร่งใสและการบริหารจัดการ อาทิ ได้รับการจัดอันดับจาก Finance Asia ให้ เป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาลดีที่สุด “Best Corporate Governance” และเป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการดีที่สุด “Best Managed Company” ล่าสุด ปตท. ยังได้รับรางวัลจากงาน SET Awards 2005 ถึง 4 รางวัล คือ 1. รางวัลสุดยอดซีอีโอแห่งปี “Best CEO of the Year” 2. รางวัลผู้นำธุรกิจไทยแห่งปี 2005 “Thailand Business Leader Awards 2005” 3. รางวัลบริษัทจดทะเบียนที่มีฐานะการเงินและผลการดำเนินงานดีเด่น “Best Performance Awards” 4. รางวัลบริษัทจดทะเบียนดีเด่นในด้านการรายงานการปฏิบัติตามหลักการ กำกับดูแลกิจการที่ดี “Best Corporate Governance Report Awards” นายประเสริฐ ได้กล่าวย้ำว่า จากประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ทำให้ผลประกอบการของ ปตท. เติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปภาษีเงินได้ และเงินปันผล เพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนแปรรูป ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ปตท. ยังคงบทบาทเป็นผู้ถ่วงดุลราคาน้ำมันในประเทศให้ผู้บริโภคได้รับราคาที่เป็นธรรมในช่วงที่น้ำมันแพงได้ รวมถึงมีส่วนช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนโดยลดราคาก๊าซฯที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และการจำหน่ายน้ำมันดีเซลให้แก่องค์การสะพานปลา เพื่อช่วยเหลือชาวประมงใน 14 จังหวัดภาคใต้ ในราคาพิเศษถูกกว่าราคาน้ำมันดีเซลบนบกลิตรละ 2 บาท เป็นเวลา 7 เดือน (เมษายน-พฤศจิกายน 2548) นอกจากนี้ ปตท. ยังมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2548 ได้สนับสนุนการก่อสร้างอาคารเรียน ปตท. แห่งที่ 14 และห้องสมุด ปตท. แห่งที่ 17 จัดทำโครงการศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการฟื้นตัวของป่าชายเลน (ปลูก) จากนากุ้งร้าง ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาแปลงปลูกป่าถาวรฯ แปลงที่ 1 ล้านไร่ ของ ปตท. ที่ อ.ปราณบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งโครงการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกแก้ปัญหาดินและน้ำ และโครงการพัฒนาสวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จ.ระยอง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สมุนไพรของประชาชน อีกทั้งร่วมศึกษาวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและพัฒนาชุมชนเข้มแข็งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์3หมื่นไร่ ตามแนวท่อส่งก๊าซฯ ไทย-พม่า อ. ทองผาภูมิ จ. กาญจนบุรี ที่มา : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โทรศัพท์. 0-2537-2159-60,0-2537-2163--จบ--