แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 5, 2009 10:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง วันนี้ คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้มีมติ เห็นชอบแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 (แผนพัฒนาฯ 2) ตามที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกันนำเสนอ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการกำหนดเป้าหมายและการวางกรอบทิศทางการพัฒนาระบบสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยแผนพัฒนาฯ 2 มีระยะเวลาดำเนินนโยบายระหว่างปี 2553-2557 ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 1 (แผนพัฒนาฯ 1 ) ที่วางกรอบการพัฒนาระบบสถาบันการเงินในช่วงปี 2547 — 2551 แผนพัฒนาฯ 2 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพของระบบการเงินให้สถาบันการเงิน ทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความสามารถในการแข่งขัน และสามารถให้บริการกับลูกค้าทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจได้อย่างทั่วถึง โดยมีความมั่นคงในภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนและธุรกิจมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง และส่งเสริมประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แนวนโยบายที่สำคัญในแผนพัฒนาฯ 2 นี้ สามารถสรุปเป็น 3 ส่วน คือ 1. การลดต้นทุนของระบบ 2. การส่งเสริมการแข่งขันและการเข้าถึงบริการทางการเงิน และ 3. การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 1. การลดต้นทุนของระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของสถาบันการเงิน ซึ่งจะส่งผลถึงราคาของการให้บริการแก่ผู้บริโภคและความสามารถในการแข่งขันกับสถาบันการเงินต่างประเทศ โดยมาตรการที่สำคัญประกอบด้วย 1.1 การลดต้นทุนจากกฎระเบียบของทางการที่อาจมีผลต่อต้นทุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินและต้นทุนค่าเสียโอกาส ทั้งนี้ การปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินยังอยู่บนหลักการสำคัญ คือการส่งเสริมประสิทธิภาพบริการทางการเงินและลดต้นทุนของสถาบันการเงิน โดยไม่กระทบความมั่นคงของสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม และไม่ริดรอนสิทธิผู้บริโภค 1.2 การลดต้นทุนของระบบจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL และ NPA) ที่ยังคงค้างอยู่ในระบบสถาบันการเงิน โดยมีมาตรการสำคัญๆ เช่น มาตรการด้านภาษี และการเพิ่มความต้องการซื้อในตลาดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพด้วยการขยายขอบเขตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถร่วมลงทุนกับเอกชนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รอการขาย (NPA) ให้มีสภาพพร้อมขายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ด้วยการตั้งศูนย์ข้อมูลกลาง NPA ตลอดจนสนับสนุนกระบวนการสวมสิทธิของผู้ซื้อและการฟ้องร้องบังคับหลักประกันที่มีประสิทธิภาพ 2. การส่งเสริมการแข่งขันและการเข้าถึงบริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผู้ให้ บริการในระบบหรือการเปิดเสรีให้ทำธุรกิจในขอบเขตที่กว้างขึ้นเพื่อให้เกิดการแข่งขันในด้านราคาและบริการ และการเพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของระบบสถาบันการเงินได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยสาระ สำคัญมีดังนี้ 2.1 การส่งเสริมการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน การกำหนดมาตรการส่งเสริมการแข่งขันอยู่ภายใต้หลักการสำคัญ 5 ประการ ดังนี้ 1) สร้างระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงเป็นหลักที่แข็งแกร่งแก่ระบบเศรษฐกิจได้ในทุกสภาวการณ์ 2) ส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วยการควบรวมโดยสมัครใจ ขณะเดียวกันก็มีมาตรการป้องกันการผูกขาดเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพจากการประหยัดจากขนาดและขยายขอบเขตธุรกิจที่กว้างขวางเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของระบบสถาบันการเงินไทย 3) ส่งเสริมการแข่งขัน โดยให้สถาบันการเงินมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการสาขาและขอบเขตธุรกิจมากขึ้นซึ่งเป็นการเพิ่มบทบาทผู้ให้บริการเดิม นอกจากนั้นยังเพิ่มผู้ให้บริการรายใหม่เพื่อให้เกิดการแข่งขันยกระดับประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงิน 4) อนุญาตให้มีผู้ให้บริการรายใหม่ในระบบสถาบันการเงินโดยไม่จำกัดสัญชาติแต่ยังคงนโยบายสถาบันการเงินหนึ่งรูปแบบ (One Presence) โดยเน้นผู้ให้บริการรายใหม่ที่สามารถปิดช่องว่างการให้บริการทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเสถียรภาพของระบบ และสอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และ ธปท. จะพิจารณาอนุญาตเป็นรายกรณีขึ้นอยู่กับการพิจารณาความเหมาะสมต่อระบบสถาบันการเงินไทย 5) สนับสนุนบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อเน้นการให้บริการแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็กที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งลดบทบาทความเป็นเจ้าของของภาครัฐในระบบธนาคารพาณิชย์ที่เข้าไปถือหุ้นหลังจากวิกฤติการณ์การเงินปี 2540 2.2 การส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เข้าถึงบริการทางการเงิน ที่ตรงกับความต้องการและมีต้นทุนเหมาะสมมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย โดยมีมาตรการสนับสนุนสถาบันการเงินเอกชนให้มีรูปแบบการให้บริการที่เหมาะสมกับกลุ่มประชาชนที่ยังขาดโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินในปัจจุบัน เช่น เปิดโอกาสให้มีผู้ให้บริการรายใหม่ที่มีความ เชี่ยวชาญด้านการเงินฐานราก(Microfinance) ที่ประสบความสำเร็จเข้ามาให้บริการเพิ่มเติม ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและ ธปท. จะพิจารณาใบอนุญาตผู้ให้บริการรายใหม่เป็นรายกรณีตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และสนับสนุนบทบาทภาครัฐและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในการปิดช่องว่างของการให้บริการทางการเงินเชิงพาณิชย์ 3. การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ในการผลักดันให้การดำเนินงานของระบบสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นจำเป็นที่จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญรองรับอย่างมีประสิทธิภาพและครบถ้วน โดยเฉพาะกลไกที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อซึ่งเป็นธุรกิจหลักของสถาบันการเงิน ซึ่งเห็นควรปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่จำเป็นใน 5 ด้าน คือ 3.1 การเพิ่มศักยภาพและเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ ของสถาบันการเงินโดยเฉพาะความเสี่ยงด้านเครดิต ด้านตลาด ด้านสภาพคล่อง และการชำระเงิน ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพัฒนาการของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจ 3.2 การพัฒนาระบบข้อมูลสำหรับการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการวางกลยุทธ์ของสถาบันการเงินและการขยายบริการให้ทั่วถึง โดยจะเพิ่มศักยภาพของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และพิจารณาแนวทางพัฒนาฐานระบบข้อมูลร่วม (data pooling system) ทั้งนี้โดยคำนึงถึงการดูแลความลับของลูกค้าที่เหมาะสม 3.3 การปรับปรุงกฎหมายการเงินที่สนับสนุนการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินในด้านสินเชื่อและการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ในเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1) กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ 2) กฎหมายว่าด้วยการบังคับคดีแพ่ง และ 3) กฎหมายล้มละลายและฟื้นฟู กิจการ ทั้งนี้เพื่อให้มีโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายที่เอื้อต่อการบริหารความเสี่ยงของระบบสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันเพื่อเอื้อโอกาสให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดา และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพขอฟื้นฟูกิจการได้ดีขึ้น 3.4 การส่งเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการให้บริการการเงิน ให้มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ และปรับปรุงมาตรฐานการกำกับดูแลการให้บริการดังกล่าวให้มีความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ 3.5 การส่งเสริมศักยภาพด้านบุคลากรในระบบสถาบันการเงิน โดยการยกระดับความรู้ความชำนาญของพนักงาน การเสริมสร้างบทบาทของสมาคมสถาบันการศึกษาการธนาคารและการเงินไทย และนโยบายการพัฒนาบุคลากรของสถาบันการเงินกระทรวงการคลัง และ ธปท. คาดหวังว่า การดำเนินการตามแผนพัฒนาฯ 2 ประชาชน ผู้ประกอบการภาคเอกชน ระบบสถาบันการเงิน ตลอดจนประเทศ จะได้รับประโยชน์โดยรวม ดังนี้ 1) ระบบสถาบันการเงินที่มีประสิทธิภาพ มีระบบบริหารความเสี่ยงและธรรมาภิบาลที่ดี แข็งแกร่งไม่เป็นภาระต่อประเทศ และสามารถสนับสนุนพัฒนาการของเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมั่นคงทั้งในภาวะปกติและวิกฤติ 2) ต้นทุนในการใช้บริการจากสถาบันการเงินลดลง ช่วยยกระดับรายได้ของประชาชนและลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถใน การแข่งขันของประเทศ 3) เพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทั่วถึงและหลากหลายตรงกับความต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการการเงินฐานราก (Microfinance) เพื่อลดภาระจากการกู้ยืมเงินนอกระบบ 4) สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนมากขึ้น โดยการส่งเสริมองค์ความรู้จากผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจ Microfinance ที่ประสบความสำเร็จให้แก่กลุ่มการเงินในชุมชน เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งและนำไปสู่การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่สังคมไทยทุกระดับ 5) สร้างโอกาสให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาและผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพสามารถขอฟื้นฟูกิจการได้ง่ายขึ้น เพื่อให้กิจการของลูกหนี้ยังคงดำเนินต่อไปได้และสามารถสร้างมูลค่าให้แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม 6) โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เอื้อต่อการบริหารความเสี่ยงของระบบสถาบันการเงินทำให้สถาบันการเงินสามารถจัดการกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่คงค้างอยู่ในระบบได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงและมีความพร้อมที่จะให้บริการแก่ผู้ใช้บริการมากขึ้นหลังจากที่แผนพัฒนาฯ 2 ได้รับความเห็นชอบในกรอบนโยบายที่กำหนดไว้แล้ว เพื่อให้การดำเนินงานตามแผนสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาฯ 2 ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งจะรับผิดชอบการดำเนินนโยบายในภาพรวม ทั้งนี้ ธปท. จะชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับสถาบันการเงินทุกแห่งภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ