CPF ชู CDM ช่วยโลก...ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 5 หมื่นตัน

ข่าวทั่วไป Tuesday December 1, 2009 17:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--ซีพีเอฟ นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจนอกจากจะต้องมุ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีแล้ว องค์กรธุรกิจยังต้องคำนึงถึงสังคมรอบตัว ชุมชน ตลอดจนสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และแม้ซีพีเอฟจะมีกระบวนการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่ก็ยังต้องพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น “ซีพีเอฟเป็นครัวของโลกที่ให้ความสำคัญต่อมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัย ปลอดสาร ถูกสุขอนามัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการดูแลผู้บริโภคให้ได้รับอาหารที่ดีที่สุด และดูแลโลกให้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการผลิตน้อยที่สุด โดยได้นำนโยบาย “อาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค สู้วิกฤติโลกร้อน พร้อมลดใช้พลังงาน” มาใช้ในทุกๆขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง” นายอดิเรกกล่าวและว่า นโยบายดังกล่าว ใช้แนวคิดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Thinking) หรือ LCT เพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การใช้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism) หรือ CDM เพื่อพัฒนาด้านการใช้ทรัพยากร เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนป้องกันและลดภาวะโลกร้อน ยกตัวอย่าง เช่น “โครงการก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสีย” ณ โรงงานอาหารแปรรูปมีนบุรี 1 ซึ่งอยู่ระหว่างการยื่นขอรับการจดทะเบียนเป็นโครงการ CDM แบบ Single Program คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 15,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี รวมถึง “โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Co-Generation)” จำนวน 4 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการยื่นขอรับการจดทะเบียน CDM แบบ Bundle Program และคาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 30,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟยังคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ตามมาตรฐานการบริหารจัดการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โรงงานของซีพีเอฟเป็นโรงงานในหัวใจของชุมชน โดยร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีขององค์กรไปสู่ชุมชน ตลอดจนฟื้นฟูระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน เช่น การปลูกป่าบกและปลูกป่าชายเลน การอนุรักษ์และบำบัดน้ำด้วยจุลินทรีย์ เป็นต้น./ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ สำนักสื่อสารและประชาสัมพันธ์ CPF โทร. 02-625-7344-5, 02-638-2713, 02-631-0641 e-mail: pr@cpf.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ