ปภ. แนะวิธีปฏิบัติตนที่ถูกต้องและปลอดภัยเมื่อสารเคมีรั่วไหล

ข่าวทั่วไป Friday December 11, 2009 15:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--ปภ. จากเหตุการณ์สารฟอกขาวรั่วไหลและฟุ้งกระจายที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และเหตุการณ์ก๊าซบิวเทนรั่วออกจากเซฟตี้วาล์วของเรือขณะขนถ่ายสินค้าที่ท่าเทียบเรือมาบตาพุด ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบบริเวณดังกล่าว ได้รับผลกระทบจากการสูดดมสารเคมีเข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะวิธีปฏิบัติตนเพื่อป้องกันอันตรายจากเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล ดังนี้ กรณีที่สารเคมีเกิดการรั่วไหลหากสังเกตพบสิ่งผิดปกติที่บ่งชี้ว่าเกิดสารเคมีรั่วไหล เช่น ได้กลิ่นเหม็น ฉุน มีไอหรือควันระเหยขึ้นมา ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ที่มีสารเคมีรั่วไหลในทันที เพราะฤทธิ์ของสารเคมีที่รั่วไหลออกมา จะทำให้ผู้ที่สูดดมสารเคมีเข้าไป มีอาการแน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน และมึนงง ในการอพยพควรใช้ผ้าสะอาดปิดจมูกเพื่อป้องกันการสูดดมสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย พยายามหนีออกไปอยู่ในบริเวณที่อากาศสามารถถ่ายเทได้อย่างสะดวก และควรอยู่เหนือลมหรืออยู่ในที่สูงในระยะที่ห่างจากจุดเกิดเหตุไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ เมตร พร้อมโทรแจ้งหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินของหน่วยงานที่รับผิดชอบมาดำเนินการควบคุมโดยเร็วที่สุด เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (๑๗๘๔) กรมควบคุมมลพิษ (๑๖๕๐) โดยให้ข้อมูลอย่างละเอียด เช่น สถานที่เกิดเหตุ กลิ่นและชนิดของสารเคมีที่รั่วไหล จำนวนผู้บาดเจ็บ ความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งสภาพแวดล้อมบริเวณที่เกิดเหตุ เป็นต้น เพื่อให้หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินได้วางแผนระงับอุบัติภัยจากสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีควรเพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติงานให้มากขึ้น ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด จัดเก็บสารเคมีให้ถูกต้องตามประเภทและลักษณะของสารเคมี หมั่นตรวจสอบภาชนะบรรจุหรืออุปกรณ์อื่นๆ ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายที่เกิดจากสารเคมีรั่วไหล หากพบเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสูดดมสารเคมีให้รีบนำผู้ป่วยออกมารับอากาศบริสุทธิ์ หากผู้ป่วยหยุดหายใจให้ใช้วิธีผายปอด และปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที โดยบอกประเภทลักษณะของสารเคมีที่ผู้ป่วยสูดดมเข้าไป เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัยและรักษาของแพทย์ นอกจากนี้ยังพบว่า โรงงานที่ประกอบการเกี่ยวกับสารเคมียังมีความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้สูง เช่น โรงงานผลิตทินเนอร์ เฟอร์นิเจอร์ กาว และโรงงานที่มีการอ็อกหรือเชื่อมเหล็ก ผู้ประกอบการจึงต้องกำหนดแนวทางป้องกันและควบคุมการเก็บรักษาสารเคมีอย่างเข้มงวด ออกมาตรการห้ามผู้ปฏิบัติงานประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และเก็บแยกสารเคมีให้ถูกต้องตามประเภทในที่มิดชิด และมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ห้ามจัดเก็บไว้ในที่ที่มีความร้อนสูง ตลอดจนติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง หมั่นตรวจสอบสายไฟและหม้อแปลงอยู่เสมอ อีกทั้งควรจัดให้มีการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติภัยสารเคมีและอัคคีภัย สุดท้ายนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอุบัติภัยจากสารเคมีควรเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนและการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์สารเคมีรั่วไหลที่อาจเกิดขึ้น หมั่นสังเกตสิ่งผิดปกติของสภาพแวดล้อมโดยรอบ หากพบสิ่งบ่งชี้ว่าเกิดสารเคมีรั่วไหลให้ใช้ผ้าปิดจมูก และอพยพออกห่างจากบริเวณที่สารเคมีรั่วไหลทางด้านเหนือลมในทันที ส่วนสถานประกอบการควรกำหนดมาตรการห้ามผู้ปฏิบัติงานประกอบกิจกรรมต่างๆที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และทำให้สารเคมีเกิดสารรั่วไหล เพื่อเป็นการป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ก่อนการปฏิบัติงานควรสวมชุดป้องกันที่โรงงานจัดเตรียมอย่างครบถ้วนทั้งเสื้อผ้า หมวกนิรภัย ที่คลุมผม หน้ากาก อุปกรณ์กรองอากาศหายใจ แว่นตานิรภัยชนิดแบบปิดด้านข้าง อุปกรณ์ครอบหู ถุงมือ และรองเท้าบูท ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้สามารถทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมีได้ และภายในโรงงานควรมีประตูทางออกให้เพียงพอกับการอพยพหนีภัยของผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ