ผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยปี 2552

ข่าวทั่วไป Friday December 18, 2009 12:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--ตลท. เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2552 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดงานแถลงข่าวผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย ปี 2552 ตามโครงการ Corporate Governance Report of Thai Listed Companies (CGR) เพื่อมุ่งพัฒนาระดับ CG ของบริษัทจดทะเบียนไทย โครงการ CGR ในปีนี้ เป็นการสำรวจข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายและบริษัทที่สมัครใจ เช่น บริษัทที่นักวิเคราะห์ไม่น้อยกว่า 5 รายจัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัท บริษัทจดทะเบียนใหม่ในปี 2550 ซึ่งเป็นบริษัทที่ยังไม่ได้รับการสำรวจในปี 2551 และบริษัทจดทะเบียนที่สนใจและมีโอกาสปรับปรุงการกำกับ ดูแลกิจการให้ดีขึ้นได้ในระยะสั้น รวมจำนวน 290 แห่ง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำผลประเมิน CGR ไปใช้อย่างแพร่หลายและเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อบริษัทจดทะเบียนและผู้ใช้ข้อมูล รวมถึงเพื่อให้การติดตามการปรับปรุงผลประเมิน CGR และการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนกลุ่มเป้าหมายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง นายชาญชัย จารุวัสตร์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย เปิดเผยว่า โดยภาพรวม บริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการสำรวจในปีนี้มีคะแนนดีขึ้นเป็นที่น่าพอใจ โดยเมื่อพิจารณาคะแนนเฉลี่ยของทุกบริษัทที่ทำการสำรวจ (290 บริษัท) พบว่า ในปีนี้มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มเป็น 82 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับคะแนนเฉลี่ย 75 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทที่ทำการสำรวจในปี 2551 (448 บริษัท) ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะบริษัทในกลุ่มที่มีการสำรวจทั้งสองปี จำนวน 274 บริษัท พบว่า ยังคงมีผลสำรวจที่ดีขึ้น โดยคะแนนเฉลี่ยในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นจาก 78 เปอร์เซ็นต์ในปี 2551 เป็น 82 เปอร์เซ็นต์ในปี 2552 เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวด โดยเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยรายหมวดกับผลสำรวจในปีที่ผ่านมา จะพบว่า มีพัฒนาการดีขึ้นทุกหมวด โดยเฉพาะเรื่องการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียและความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยน้อยกว่าหมวดอื่น ก็มีคะแนนสูงขึ้นอย่างเด่นชัด โดยหมวดการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 68 เปอร์เซ็นต์ เป็น 79 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่หมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการเพิ่มขึ้นจาก 57 เปอร์เซ็นต์เป็น 68 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2551 และ 2552 ตามลำดับ ทั้งนี้หมวดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ สิทธิของผู้ถือหุ้นและการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 91 และ 90 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ “ทั้งนี้ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ระดับคะแนนของบริษัทที่มีคะแนนต่ำสุดในแต่ละหมวดได้ยกระดับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ระดับคะแนนของบริษัทที่มีคะแนนสูงสุดก็เพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกหมวด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของพัฒนาการที่ดีขึ้นของบริษัทจดทะเบียนไทย” นายชาญชัยกล่าว เมื่อพิจารณาตามขนาดของบริษัท พบว่า ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก มีคะแนนเฉลี่ยในระดับที่น่าพอใจ ถึงแม้ว่า บริษัทขนาดใหญ่ (SET100) จะมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าบริษัทขนาดกลางและเล็กก็ตาม แต่ประเด็นที่น่าพิจารณา คือระดับคะแนนต่ำสุดของบริษัทขนาดเล็กที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางค่อนข้างมาก ซึ่งหากได้มีการสนับสนุนให้บริษัทเหล่านี้พัฒนาให้ดีขึ้น ก็จะช่วยยกระดับการกำกับดูแลกิจการในภาพรวมให้ดีขึ้นได้อีกมาก สำหรับการดำเนินโครงการในปีต่อไปนั้น นางพรกนก วิภูษณวรรณ รองกรรมการผู้อำนวยการ-วิจัยและนโยบาย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ได้เปิดเผยว่า “สมาคมฯ จะดำเนินการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัทอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป นอกจากนี้เพื่อให้หลักเกณฑ์การสำรวจของโครงการสามารถใช้ประเมินแนวปฏิบัติได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการโครงการ (Steering Committee) จะทำการศึกษาและทบทวนหลักเกณฑ์การสำรวจ เพื่อให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญครบถ้วนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในหมวดการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย (Role of Stakeholders) โดยจะนำหลักการความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility — CSR) มาพิจารณาร่วมด้วย ซึ่งคาดว่า จะเริ่มนำหลักเกณฑ์ใหม่นี้มาใช้สำรวจในปี 2554 โดยในปี 2553 จะจัดให้มีการสัมมนาเผยแพร่หลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ให้บริษัทจดทะเบียนทราบก่อนที่จะเริ่มทำการสำรวจต่อไป” นายวสันต์ เทียนหอม ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า “การสำรวจ CGR เป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนสนใจต่อการปฏิบัติตามหลัก CG ที่ดี โดยข้อมูลจากการสำรวจดังกล่าวทำให้บริษัทจดทะเบียนทราบประเด็นที่ควรพิจารณาปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลให้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นข้อมูลที่ผู้ลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามนโยบายของ ก.ล.ต. ที่สนับสนุนให้นักวิเคราะห์เปิดเผยผล CGR ในรายงานการวิเคราะห์หลักทรัพย์ สำหรับการที่ผลสำรวจ CGR ดีขึ้นมาตลอดก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญและมุ่งมั่นกับการพัฒนา CG มากขึ้น อันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นของตลาดทุนโดยรวมต่อไป” ด้านนายชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ รองกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ศูนย์พัฒนาธุรกิจตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า “การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทย โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ ที่ใช้ปัจจัยด้านการกำกับดูแลกิจการมาพิจารณาในการเลือกลงทุนด้วย การผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนมีระดับการกำกับดูแลกิจการตามมาตรฐานสากล เป็นภารกิจสำคัญประการหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้ให้การสนับสนุนโครงการ CGR มาโดยตลอด เพราะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนและตลาดทุนไทยโดยรวม” นายชัยยุทธ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะผลักดันให้ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท ใช้ประโยชน์จากข้อมูล CGR มากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมให้การสำรวจที่จะมีขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเกิดประโยชน์ในวงกว้าง รวมทั้งจะสนับสนุนให้มีการวัดระดับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในลักษณะนี้ระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันและเป็นมาตรฐานสากล เนื่องจากในปัจจุบันมีองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งที่วัดระดับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนและเปรียบเทียบระหว่างประเทศ แต่มาตรฐานการวัดแตกต่างกันไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงยังคงเดินหน้าพัฒนาและผลักดันการยกระดับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทไทยต่อไป เพื่อให้บริษัทและตลาดทุนไทยมีระดับการกำกับดูแลกิจการที่ทัดเทียมกับมาตรฐานสากลและประเทศชั้นนำในภูมิภาคเดียวกัน อันจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาให้ตลาดทุนไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย คุณวีรวรรณ มันนาภินันท์ โทร. 0-2955-1155 ต่อ 300

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ