รมช.พฤฒิชัยนำทีมธนารักษ์ยินดีตลาดร้อยปีสามชุกรับรางวัลจากยูเนสโก พร้อมสนับสนุนที่ราชพัสดุพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มรดกไทย

ข่าวทั่วไป Monday December 21, 2009 07:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--กรมธนารักษ์ นายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ นำทีมผู้บริหารและธนารักษ์พื้นที่ทั่วประเทศ แสดงความยินดีกับตลาดร้อยปีสามชุกที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมระดับดีจากยูเนสโก พร้อมให้ธนารักษ์สำรวจที่ราชพัสดุซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของชุมชนหรือตลาดเก่าแก่ สนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้คงสภาพพื้นที่และสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของอาคารบ้านเรือนจัดเป็นย่านประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เมื่อวันที่ (18 ธันวาคม 2552) ที่ตลาดร้อยปีสามชุก จ.สุพรรณบุรี นายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นำคณะผู้บริหาร และธนารักษ์พื้นที่ทั่วประเทศของกรมธนารักษ์ จำนวนกว่า 100 คน ร่วมแสดงความยินดีกับผู้แทนชุมชนสามชุกและตลาดร้อยปีสามชุก ที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมระดับดี (Award Merit) ในภูมิภาคเอเชียแปซิปิก ปี 2552 จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) พร้อมศึกษาดูงานเพื่อเป็นแนวทางในการสนับสนุนการพัฒนาที่ราชพัสดุเชิงอนุรักษ์ นายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวว่า รางวัลที่ชุมชนสามชุกและตลาดร้อยปีสามชุกได้รับนั้น แสดงให้เห็นถึงพลังของคนในชุมชนที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีความเข้มแข็งที่เกิดจากการมีส่วนร่วมในการช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างแท้จริง สามารถนำไปเป็นแบบอย่างให้แก่ชุมชนอื่นๆ และยกระดับนโยบายท้องถิ่นขึ้นเป็นนโยบายระดับชาติในเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี นายแพทย์พฤฒิชัย กล่าวต่อไปว่า สถานที่ตั้งของตลาดร้อยปีสามชุก เป็นที่ราชพัสดุซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ เนื้อที่ทั้งแปลงประมาณ 14 ไร่เศษ ปัจจุบันจัดให้เช่า จำนวน 74 ราย อีกส่วนหนึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอสามชุก สำนักงานเทศบาลสามชุก และสวนสาธารณะ กรมธนารักษ์ได้ร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี และเทศบาลตำบลสามชุก โดยมีองค์กรเอกชน เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้าร่วมสนับสนุนจัดทำประชาคมชาวตลาดสามชุก โดยมีแนวคิดที่จะพัฒนาตลาดดังกล่าวในเชิงอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น จึงนับว่าเป็นโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุที่มีความเหมาะสม ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และสอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน โดยให้คงสภาพอาคารเดิมไว้ทั้งรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและคุณค่าทางโบราณคดี เพื่อพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่จัดให้เป็นย่านประวัติศาสตร์ เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม พร้อมผลักดันนโยบายระดับท้องถิ่นสนับสนุนให้เกิดประโยชน์ในระดับชาติต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ