บอร์ดบีโอไอไฟเขียวอนุมัติรวด 9 โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ข่าวยานยนต์ Friday August 18, 2006 09:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--บีโอไอ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนแก่โครงการลงทุนขนาดใหญ่รวมทั้งสิ้น 9 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 21,941.9 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
อีซูซุ ขยายการลงทุนผลิตเครื่องยนต์ Common Rail บริษัท อีซูซุ เอ็นยิ่นแมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย)จำกัด (ISUZU ENGINE MANUFACTURING (THANLAND) CO.,LTD) ได้รับส่งเสริมเพื่อขยายการผลิตเครื่องยนต์ Common Rail ขนาดประมาณ 2,500-3,000 ซีซี จำนวน 95,200 เครื่อง/ปี เงินลงทุน 1,465 ล้านบาท โดยจะตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
โครงการนี้ได้รับความร่วมมือทางเทคนิคจากบริษัท อีซูซุมอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่นเพื่อขยายการลงทุนผลิตเครื่องยนต์ Common Rail สำหรับรถยนต์Pick Up ของอีซูซุ เพื่อทดแทนการนำเข้า โดยตามโครงการจะผลิตเพื่อป้อนการผลิตรถยนต์ของบริษัทร้อยละ 80 และส่งออกประมาณร้อยละ 20
บริดจสโตน เมตัลฟา ผลิต Steel tyre Cord บริษัท บริดจสโตน เมตัลฟา (ประเทศไทย) จำกัด ( BRIDGESTONE METALPHA (THAILAND ) CO.,LTD ) ได้รับส่งเสริมเพื่อขยายการผลิต Steel tyre Cord ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ลวดเหล็กใช้เสริมหน้ายางรถยนต์ ประเภทยางเรเดียล โดยมีกำลังการ ผลิต 13,000 ตัน/ปี เงินลงทุน 1623.9 ล้านบาท ตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง
โครงการนี้เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับโรงงานผลิตยางรถยนต์ของบริดจสโตนทั้งหมด โดยมีแผนจัดจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80 และส่งออกร้อยละ 20 ไปยังประเทศไต้หวัน บราซิล และอินโดนีเซียทั้งนี้ ปัจจุบันบริดจสโตน มีส่วนแบ่งยางรถยนต์ในตลาดโลกประมาณ 20%
บริษัท เกลือพิมาย จำกัด ผลิตเกลือบริสุทธิ์ บริษัท เกลือพิมาย จำกัด ( PIMAI SALT CO.,LTD) ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตเกลือบริสุทธิ์ 500,000 ตัน/ปี เงินลงทุน 1,600 ล้านบาท เกลือบริสุทธิ์ (Refined Salt) เป็นโซเดียมคลอไรด์ความบริสุทธิ์ 99% ขึ้นไป ตั้งโรงงานที่จังหวัดนครราชสีมา
เกลือบริสุทธิ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ผู้ใช้รายใหญ่ได้แก่ ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร เคมี ฟอกย้อม โดยปัจจุบัน บริษัท เกลือพิมาย จำกัด เป็นผู้ผลิตเกลือบริสุทธิ์สำหรับอุตสาหกรรมเพียงรายเดียว โดยผลิตจากเกลือหินใต้ดินด้วยระบบปิดที่ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไทยอาซาฮีเคมีภัณฑ์ จำกัด ผลิตก๊าซคลอรีน โซดาไฟและกรดไฮโดรคลอริก บริษัท ไทยอาซาฮี เคมีภัณฑ์ จำกัด (THASCO CHEMICAL CO.,LTD) ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตก๊าซคลอรีน (CHLORINE GAS) 32,600 ตัน/ปี ,โซดาไฟ (SODIUM HYDROXIDE) 45,600 ตัน/ปี และกรดไฮโดรคลอริก (HYDROCHLORIC ACID) 17,780 ตัน/ปี เงินลงทุน 1,080 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก จังหวัดระยอง
โครงการนี้เป็นการผลิตก๊าซคลอรีนและโซดาไฟ รองรับการขยายตัวของความต้องการที่เพิ่มขึ้นและสนับสนุนการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลายและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมพลาสติก โดยผลิตภัณฑ์ทั้งก๊าซคลอรีนและโซดาไฟจะจำหน่ายให้แก่ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก PC เป็นหลัก
ฟินิค พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ผลิตกระดาษพิมพ์เขียนชนิดไม่เคลือบผิว บริษัท ฟินิค พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) (PHOENIX PULP & PAPER PUBLIC CO., LTD) ได้รับส่งเสริมผลิตกระดาษพิมพ์เขียนชนิดไม่เคลือบผิว 200,000 ตัน/ปี เงินลงทุน 7,300 ล้านบาท โดยใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ เช่น เยื่อฟอกใยสั้นที่บริษัทฯผลิตเอง MODIFIED STARCH หินปูนและเคมีภัณฑ์ ตั้งโรงงานที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
โครงการนี้ผลิตเพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมการพิมพ์ภายในประเทศ และเป็นการทดแทนการนำเข้า โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 64 ส่งออกร้อยละ36 ไปยังประเทศต่างๆ เช่น ฮ่องกง
กิจการขนส่งทางท่อ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT PUBLIC CO., LTD ) ได้รับส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางท่อ เงินลงทุน 993 ล้านบาท ตามโครงการจะให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ ปีละประมาณ 123,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต โดยแนวท่อเริ่มจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด (TTM) ที่อำเภอจะนะ จ.สงขลา ไปสิ้นสุดที่โรงไฟฟ้าสงขลา ระยะทางรวมประมาณ 15 กิโลเมตร
โครงการนี้นับเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเป็นกิจการที่ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทน ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ โดยปัจจุบันมีผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนส่งทางท่อทั้งสิ้น 8 บริษัท รวม 22 โครงการ เป็นโครงการของบริษัท ปตท. 7 โครงการ ที่เหลือเป็นของผู้ประกอบการรายอื่น
กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเล ของบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด (LCMT CO., LTD) ได้รับส่งเสริมในกิจการท่าเทียบเรือ เงินลงทุน 3,700 ล้านบาท เพื่อให้บริการขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ปีละประมาณ 1,100,000 ทีอียู ส่งผลให้เกิดการจ้างงานคนไทย 264 คน ตั้งโครงการอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเอศูนย์ (A0) จังหวัดชลบุรี โดยโครงการนี้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัท บางกอกโมเดอร์น เทอร์มินอล จำกัด ZBMT) กับกลุ่ม AP Moller Mersk ของเดนมาร์ค เจ้าของสายเดินเรือ Mersk Line ซึ่งเป็นสายการเดินเรือใหญ่ที่สุดในโลก
ทั้งนี้โครงการดังกล่าว นับว่าเป็นกิจการเสริมระบบการขนส่งของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบังในการรองรับตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบับเป็นท่าเรือที่มีตู้สินค้าผ่านมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก จากการจัดอันดับท่าเรือคอนเทนเนอร์ของโลก อันจะส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในภูมิภาคเอเชียและจีนตอนใต้
ไซม์ แอลซีพี เพาเวอร์ ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ บริษัท ไซม์ แอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (SIME LCP POWER CO., LTD) ได้รับส่งเสริมในการผลิตไฟฟ้าขนาด 60 เมกะวัตต์และไอน้ำ 25 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุน 1,900 ล้านบาท โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ตั้งโรงไฟฟ้าที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ส่งผลให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 20 คน
โครงการนี้จะผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ โดยการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ระบบ Combined Cycle Generation ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง โดยจะจำหน่ายให้โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง
พีทีที ยูทิลิตี้ ผลิตพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำ บริษัท พีทีที ยูทิลิตี้ จำกัด (PTT UTILITY CO., LTD ) ได้รับส่งเสริมในการผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาด 37.6 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 140 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุน 2,280 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) จังหวัดระยอง ส่งผลให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 15 คน
โครงการดังกล่าวจะผลิตไฟฟ้าโดยใช้ระบบ Co-Generation ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง และใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เพื่อจำหน่ายให้แก่ในโรงงานที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมตะวันออก ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะจำหน่ายให้แก่บริษัท ไทยออแกนิก เคมีคัลล์ จำกัด (TOCC), Thai Oleochemicals Co.,Ltd (TOL), Thai Chlorine-Chloride Co., Ltd. (TCC), Thai Ethanol-Amine Co., Ltd และ Thai Ethoxiate Co., Ltd. (TEX)
ปัจจุบันโครงการผลิตไฟฟ้าที่บีโอไอให้การส่งเสริมแล้ว มีจำนวน 107 โครงการ มีกำลังการผลิต รวมทั้งสิ้น 17,099.5 เมกะวัตต์ แยกเป็นไฟฟ้า IPP จำนวน 10 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 12,300 เมกะวัตต์ และ SPP จำนวน 97 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 4,799.5 เมกะวัตต์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ