ปภ. แนะวิธีรับมือและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องปลอดภัยหากเกิดแผ่นดินไหว

ข่าวทั่วไป Thursday January 21, 2010 15:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--ปภ. แม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเฮติ จะมิได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย แต่ก็สร้างความสะเทือนใจให้กับประชาชนชาวไทยไม่น้อย ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้นับเป็นสัญญาณเตือนทางธรรมชาติครั้งสำคัญที่กระตุ้นให้มวลมนุษยชาติเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และจากการตรวจสอบสภาพความเสี่ยงแผ่นดินไหวของไทย พบว่า ประเทศไทยตั้งอยู่บนรอยเลื่อนที่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวจำนวน ๑๓ รอยเลื่อน พาดผ่านพื้นที่ ๒๒ จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันตก โดยจังหวัดที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวมากที่สุด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงราย ส่วนจังหวัดที่เสี่ยงภัยรองลงมา ได้แก่ สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา น่าน ลำปาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะนำวิธีรับมือและการปฏิบัติตนให้ถูกต้องและปลอดภัยจากแผ่นดินไหวให้กับประชาชน ดังนี้ ก่อนเกิดแผ่นดินไหว ตรวจสอบสภาพความปลอดภัยของบ้านและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ทำการยึดอุปกรณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น ตู้ ชั้นหนังสือ ไว้กับพื้นหรือผนังบ้านอย่างแน่นหนา ไม่วางสิ่งของไว้บนหลังตู้หรือที่สูง ศึกษาการใช้อุปกรณ์ดับเพลิง วิธีปิดวาล์วแก๊ส วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น และจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน รวมถึงเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัย เพื่อเตรียมพร้อมรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาระหว่างเกิดแผ่นดินไหว ตั้งสติให้มั่น อย่าตื่นตระหนกตกใจ ให้หาที่หลบกำบังในจุดที่มีโครงสร้างแข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สิ่งของที่มีโอกาสหล่นลงมาหรือวัสดุตกใส่ ถ้าอยู่นอกอาคาร ให้อยู่ห่างจากอาคารสูง เสาไฟฟ้า หรือต้นไม้ใหญ่ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันสิ่งปลูกสร้างล้มทับ หากอยู่บริเวณชายทะเลและได้รับประกาศแจ้งเตือน ให้รีบอพยพขึ้นที่สูงหรืออยู่ห่างจากชายฝั่งให้มากที่สุด เพราอาจเกิดสึนามิได้ ผู้ที่อยู่ในรถให้หยุดรถและอยู่ภายในรถ รอจนกระทั่งแผ่นดินไหวสงบลง ไม่ควรจอดรถใกล้อาคาร สะพาน เสาไฟฟ้า หรือไหล่ถนน เพราะอาจเกิดแผ่นดินถล่ม ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารสูง ให้หลบอยู่บริเวณจุดที่มีโครงสร้างแข็งแรง และอยู่ห่างจากประตู หน้าต่างที่มีลักษณะเป็นกระจก หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟท์และบันไดหนีไฟในการหนีออกจากตึก เนื่องจากโครงสร้างของตึกอาจได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ห้ามจุดเทียน ไม้ขีดไฟ หรือประกอบกิจกรรมที่ทำให้เกิดประกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วไหลอยู่บริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ และควรหาที่หลบให้พ้นจากสิ่งของหล่นทับ เช่น ใต้โต๊ะที่แข็งแรงหรืออยู่ชิดใต้เสา รอจนกว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวสงบลงจึงค่อยออกจากตึก หลังจากแผ่นดินไหวสงบลง ตรวจสอบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ถ้าพบผู้ได้รับบาดเจ็บให้รีบทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบออกจากอาคารที่เสียหายทันที เพราะอาจเกิดอาฟเตอร์ช็อคทำให้อาคารถล่มลงมาได้ ควรสวมรองเท้าหุ้มส้น เพื่อป้องกันเศษแก้ว หรือวัสดุแหลมคมอื่นๆแทงจนได้รับบาดเจ็บ ตรวจสอบสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส หากแก๊สรั่วให้ปิดวาล์วถังแก๊ส และยกสะพานไฟ ห้ามอยู่ใกล้บริเวณที่มีสายไฟขาดหรือวัสดุสายไฟพาด เพราะอาจโดนไฟฟ้าดูด และเปิดวิทยุรับฟังคำแนะนำฉุกเฉิน ตลอดจนหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์โดยไม่จำเป็น ไม่เข้าไปในเขตที่มีความเสียหายสูงหรืออาคารที่เสี่ยงต่อการถล่มลงมา เพราะอาจได้รับอันตรายได้ ที่สำคัญ อย่าหลงเชื่อข่าวลือ ควรติดตามรับฟังประกาศแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น จะเห็นได้ว่า แม้แผ่นดินไหวจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาการเกิด และสถานที่เกิดได้ แต่การเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความรุนแรงและความสูญเสีย ดังนั้น ทุกคนจึงควรศึกษาและเรียนรู้วิธีการป้องกันภัยจากแผ่นดินไหว เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์แผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยต้องตระหนักอยู่เสมอว่าภัยพิบัติเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว ต้องตั้งสติให้มั่น ปฏิบัติตามคำแนะนำในข้างต้นอย่างเคร่งครัดจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้ในระดับหนึ่ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ