ปภ. แนะวิธีโดยสารรถไฟฟ้าอย่างถูกต้องและปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Thursday January 21, 2010 15:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--ปภ. ปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนเลือกใช้บริการรถไฟฟ้าแทนการเดินทางด้วยรถยนต์บนท้องถนน แต่ถึงแม้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจะสะดวกและรวดเร็ว แต่หากผู้ใช้ขาดความระมัดระวัง ก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ดังเช่นกรณีพนักงานธนาคารพลัดตกลงไปในรางรถไฟฟ้า ระหว่างที่รถไฟฟ้ากำลังเทียบชานชาลา สถานีหมอชิต ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะวิธีการโดยสารรถไฟฟ้าอย่างถูกต้องและปลอดภัย ดังนี้ การยืนรอหรือขึ้น - ลงรถไฟฟ้า - ให้ยืนรอรถไฟฟ้าบริเวณชานชาลาหลังเส้นเหลืองที่กำหนดไว้เท่านั้น ห้ามออกไปยืนเลยหรือล้ำเข้าไปในเส้นที่กำหนด ห้ามยื่นแขนหรือขาออกไปในรางรถไฟขณะที่มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน รวมถึงไม่หยอกล้อเล่นบริเวณชานชาลารถไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงไปในรางรถไฟฟ้า - เมื่อรถไฟฟ้ามาจอดเทียบชานชาลา ให้รอจนกว่ารถไฟฟ้าจะจอดสนิท แล้วจึงเดินขึ้น — ลงรถอย่างเป็นระเบียบ ไม่เบียดแย่งกันขึ้นรถไฟฟ้า ไม่หยอกล้อเล่นกันบริเวณประตูรถไฟฟ้า เพราะอาจพลัดตกหรือโดนประตูรถไฟฟ้าหนีบได้ - หากได้ยินเสียงสัญญาณร้องเตือนประตูรถไฟฟ้ากำลังจะปิดให้รีบเดินเข้าไปในตัวรถทันที แต่ห้ามวิ่งเข้าขบวนรถไฟฟ้า และห้ามยื่นอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไปยังประตูขณะประตูกำลังปิดโดยเด็ดขาด เพราะอาจโดนประตูอัตโนมัติหนีบมือ เสื้อผ้าหรือถูกกระชากไปด้วยความเร็วในขณะที่รถไฟฟ้ากำลังออกตัว ถ้ารถไฟฟ้าขบวนดังกล่าวมีผู้โดยสารหนาแน่นจนไม่สามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้ ให้ก้าวถอยหลังออกมาบริเวณเส้นที่กำหนดไว้ และรอรถไฟฟ้าขบวนถัดไป จะปลอดภัยมากขึ้น - กรณีทำสิ่งของตกหล่นลงไปในรางรถไฟฟ้า ห้ามลงไปเก็บสิ่งของเองอย่างเด็ดขาด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานีให้ช่วยจัดการเก็บของ - กรณีนำรถเข็นเด็กมารอรถไฟฟ้าบริเวณชานชาลา ขณะยืนรอผู้ปกครองควรยึดจับรถเข็นให้แน่น หรือล็อกล้อของรถเข็นเด็กไว้ เพื่อป้องกันรถเข็นเด็กลื่นไถลลงไปในรางรถไฟฟ้า - ห้ามโทรศัพท์ขณะขึ้นหรือลงรถไฟฟ้า เพราะจะทำให้เหลือมือเพียงข้างเดียวในการยึดหรือจับราว ซึ่งอาจทำให้หกล้มหรือพลัดตกจากรถไฟฟ้าได้ - ผู้โดยสารควรสวมใส่เครื่องแต่งกายที่กระชับและรัดกุม ไม่ยาวหรือรุ่มร่ามจนเกินไป เพราะหากมีชิ้นส่วนของเสื้อผ้าไปติดกับประตู ราวเหล็ก หรือส่วนต่างๆบนรถไฟฟ้า อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ การโดยสารรถไฟฟ้า - ให้เดินเข้าไปข้างในตอนกลางของตัวรถไฟฟ้า ไม่ยืนกีดขวาง ไม่วางสิ่งของหรือสัมภาระกีดขวางประตูขึ้น — ลง หรือทางเดินภายในตัวรถ เพื่อเปิดทางให้ผู้โดยสารท่านอื่นสามารถก้าวเข้าสู่ตัวรถได้อย่างรวดเร็ว - หากไม่มีที่นั่งบนรถไฟฟ้า ให้ยืนโดยยึดจับราวหรือห่วงที่มั่นคงแข็งแรง และห้ามยืนพิงประตูรถไฟฟ้าโดยเด็ดขาด เพราะหากประตูอัตโนมัติขัดข้อง อาจจะทำให้พลัดตกรถไฟฟ้าเสียชีวิตได้ - อย่ายึดหรือจับบริเวณยางที่เป็นรอยต่อระหว่างขบวนรถไฟฟ้า เพราะอาจเกิดอันตรายได้ ผู้โดยสารควรยึดหรือจับบริเวณที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้เท่านั้น จะเห็นได้ว่า แม้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง แต่หากผู้โดยสารประมาทหรือขาดความระมัดระวัง ก็จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังนั้น ผู้โดยสารรถไฟฟ้าควรปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการโดยสารรถไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายอีกด้วย
แท็ก รถไฟฟ้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ