นักวิชาการเผยจังหวะชีวิตเด็กไทยยังวิกฤติ

ข่าวทั่วไป Thursday January 28, 2010 15:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล นักวิชาการย้ำเด็กไทยไม่ไร้ศักยภาพแต่สถานการณ์ไม่พ้นวิกฤติ แนะผู้ใหญ่เปิดโอกาสสร้างการเรียนรู้อย่างจริงจัง สภาเด็กฯขานรับเดินหน้าจิตอาสาพัฒนาสังคม ในเวทีนำเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานด้านพัฒนาเยาวชน เพื่อเตรียมจัดงานพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 2 ซึ่ง มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดขึ้นเมื่อ วันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมืองกรุงเทพฯ มีการนำเสนอผล การสังเคราะห์พรมแดนความรู้ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในสังคมไทย : กรณีการขับเคลื่อนงานมหกรรม “พลังเยาวชน พลังสังคม” ครั้งที่ 1 ต่อภาคีจัดงานกว่าร้อยองค์กร โดยการศึกษาดังกล่าวนักวิชาการและนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ จัดทำขึ้นเพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนกับปรากฏการณ์ทางสังคม ซึ่งมีสาระสำคัญว่า เด็กและเยาวชนไทยมีศักยภาพในตัวเอง แต่ยังอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากสังคมขาดการรับรู้และขาดความเข้าใจถึงศักยภาพอันแท้จริงของเยาวชน ทั้งยังไม่มีการสนับสนุนกิจกรรมเยาวชนแบบรวมกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ดร.สมศรี ศิริขวัญชัย คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความเปราะบางที่เด็กได้รับเริ่มตั้งแต่ความสัมพันธ์ที่ห่างเหินในครอบครัว ไปจนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยม การที่ผู้ใหญ่ไม่ไว้วางใจและไม่เชื่อในศักยภาพของเด็กกลายเป็นช่องว่างทางความคิดและปิดกั้นพื้นที่การแสดงออกของเด็กในที่สุด หรือแม้ผู้ใหญ่เปิดโอกาสและสร้างพื้นที่ให้เด็กแล้ว จะเห็นว่ายังขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและไม่ได้เกิดการรวมกลุ่มเด็กอย่างเข้มแข็งมากพอ ที่สำคัญสังคมไทยยังนำเสนอภาพของเด็กในแง่ลบ เช่น ปัญหาการทะเลาะวิวาทหรือปัญหาเรื่องเพศมากกว่าการกล่าวถึงสิ่งที่เด็กคิดดีทำดีอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งปิดกั้นการจุดประกายทางความคิดของเด็ก อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นภายหลังงานมหกรรมเยาวชนฯ ครั้งที่ 1 ได้สร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและห่วงใยเด็กและเยาวชน เห็นได้จากผลการวิจัยที่พบว่า องค์กรร่วมจัดต้องการให้มีมหกรรมพลังเยาวชนฯ อย่างต่อเนื่อง และยินดีเข้าร่วมถึงกว่าร้อยละ 97 สอดคล้องกับแนวคิดการจัดงานที่ต้องการสร้างเครือข่ายพูนพลังเยาวชนเพื่อต่อยอดสิ่งดีๆ ของเด็ก และ ขจัดภาพลบที่มีต่อเด็กและเยาวชนออกจากการรับรู้ของสังคม เช่น กลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์และไร้รัฐที่สังคมนิยามว่าไม่ใช่คนไทย, กลุ่มเยาวชนพิเศษ(พิการและด้อยโอกาส)ที่ถูกมองว่าเป็นภาระทางสังคม หรือแม้แต่กลุ่ม B-Boy ที่ถูกนิยามว่าทำกิจกรรม “มั่วสุม” ไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคม ดังนั้นเมื่อเยาวชนเหล่านี้มาทำกิจกรรมร่วมกันในงานมหกรรมฯ จึงสามารถสร้างการรับรู้และแสดงตัวตนของพวกเขาสู่สังคมได้ เป็นต้น ดร.ไพรัช บวรสมพงษ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ร่วมวิจัย ระบุว่า งานมหกรรม “พลังเยาวชน พลังสังคม” ครั้งที่ 1 สามารถเป็นพื้นที่ของการแสดงออกในเชิงศักยภาพหรือความสามารถของเยาวชนในมิติต่างๆ ซึ่งน่าจะส่งผลให้สังคมเห็นถึงพลังของเยาวชนได้ การจัดงานมหกรรมพลังเยาวชนฯ ครั้งต่อไปควรจัดให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานของเยาวชนในระดับภูมิภาคให้มากขึ้น แล้วค่อยยกระดับมาสู่การสร้างการรับรู้และเรียนรู้แก่สาธารณะชนในระดับประเทศ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช รองประธานมูลนิธิสยามกัมมาจลฯ กล่าวว่า งานมหกรรมพลังเยาวชนฯ ครั้งที่ 1 ถือเป็นประวัติศาสตร์ของการทำงานในรูปแบบเครือข่ายเด็กและเยาวชน เป็นวิธีการนำพลังเชิงบวกของเยาวชนมาแสดงออกสู่สาธารณะชนจนกลายเป็นพลังทางสังคมได้ โดยเฉพาะการสื่อสารเรื่อง จิตอาสาให้เยาวชนรู้จักเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ รวมทั้งการเน้นให้เยาวชนคิดเองทำเองและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน โดยมีผู้ใหญ่ใจดีคอยสนับสนุนจะทำให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้แบบบูรณาการภายใต้ความแตกต่างหลากหลายของแต่ละกลุ่ม ด้าน นายรัชฏะ ศรีบุญรัตน์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า งานมหกรรมพลังเยาวชนฯ ครั้งที่ 1 สร้างความตื่นตัวให้สภาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศจนมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมจิตอาสาของเยาวชนที่ชัดเจนขึ้น ทำให้เด็กได้รู้จักเพื่อนเยาวชนที่ทำกิจกรรมแตกต่างกันออกไป เกิดความมั่นใจมากขึ้นว่าตัวเองก็มีพลังมีความสามารถ เป็นแรงบันดาลใจให้เขานำไปบอกต่อกับกลุ่มเพื่อนในชุมชน อย่างนนทบุรี อุบลราชธานี กับพิษณุโลก ก็ตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายเด็กและเยาวชนขึ้นมา เด็กๆ มารวมตัวทำกิจกรรมอาสาสมัครพัฒนาท้องถิ่น เช่น การทำความสะอาดชุมชน หรือเกิดโครงการเฝ้าระวังเรื่องโรคเอดส์ นอกจากนี้ งานมหกรรมพลังเยาวชนฯ ไม่จำเป็นต้องจัดในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่จะเกิดผลสำเร็จและสร้างการตระหนักรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน ตลอดจนสังคมทั่วไปได้มากยิ่งขึ้น หากกระจายการจัดงานไปตามส่วนภูมิภาค เริ่มจากให้เครือข่ายเด็กและเยาวชนในแต่ละพื้นที่วิเคราะห์ชุมชนของตนเอง แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในระดับตำบล จังหวัดและภูมิภาค ท้ายที่สุดเมื่องานในหน่วยย่อยประสบความสำเร็จจึงมาเปิดพื้นที่ร่วมกันในส่วนกลาง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสอดรับกับข้อเสนอแนะจากทีมงานวิจัย อนึ่ง นอกจากการรายงานผลการวิจัยดังกล่าวแล้ว มูลนิธิสยามกัมมาจลฯ และภาคีเครือข่าย ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อเตรียมจัดงานพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 2 ต่อไปอีกด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ วิภาวี เธียรลีลา (แอมป์) ทีมงานสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล โทร. 02-270-1350 ต่อ 0

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ