คต. จัดสัมมนา “เปิดประตูการค้าแดนมังกร: โอกาสของผู้ประกอบการไทย”

ข่าวทั่วไป Friday February 5, 2010 09:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--คต. นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา ภายใต้กรอบ FTA อาเซียน-จีน สินค้าที่อยู่ในบัญชีสินค้าปกติ (Normal Track) จะปรับลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 และมีการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างกันอย่างเสรี จีนจึงพยายามออกมาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าต่างๆ เช่น ออกข้อกำหนดมาตรฐาน China Compulsory Certification Mark หรือ CCC Mark, มาตรฐาน CQC Mark กำหนดระเบียบ China RoHS (Restriction of certain Hazardous Substances) เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้สินค้าและเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยใช้บังคับกับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สื่อสาร สินค้าไอที อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสินค้าอื่นๆ อีกกว่า 160 รายการ รวมทั้งออกกฎหมายควบคุมความปลอดภัยอาหาร (Food Safety Law) ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552 เพื่อกำกับดูแลการผลิต การจำหน่าย และการนำเข้า ตั้งแต่วัตถุดิบและอาหารจนถึงมือผู้บริโภค นอกจากผลของเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน แล้ว ยังมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนซึ่งจะปรับเปลี่ยนเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) อย่างสมบูรณ์ในปี 2558 ทำให้ภาคการผลิตของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงมากขึ้นทั้งด้านการผลิตในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันและด้านการส่งออกไปจีน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะทำการค้ากับจีนต้องปรับตัวสู้เขตการค้าเสรีดังกล่าวโดยต้องพัฒนาสินค้าตลอดเวลา กรมการค้าต่างประเทศจึงจัดสัมมนาเรื่อง “ เปิดประตูการค้าแดนมังกร: โอกาสของผู้ประกอบการไทย ” ในวันที่ 10 มีนาคม 2553 ณ ห้องริชมอนด์ บอลรูม 1 ชั้น 4 โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจการผลิตและการส่งออกของไทยได้รับทราบกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของจีน เกี่ยวกับมาตรฐาน CCC Mark, CQC Mark ระเบียบ China RoHS และกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยอาหารฉบับใหม่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการเห็นช่องทางและโอกาสการทำการค้าในตลาดจีนได้มากขึ้น รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับผู้ผลิตในอาเซียนด้วยกันซึ่งต่างประเทศอาจใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนเป็นฐานการผลิตส่งออกไปจีนและประเทศอื่น ๆ ที่ไทยมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีด้วย ทั้งนี้ ผู้ประสงค์จะเข้าร่วมสัมมนาสามารถ Download กำหนดการสัมมนาพร้อมแบบตอบรับเข้าร่วมสัมมนาได้ที่ http://www.dft.go.th และจัดส่งมาทางโทรสารหมายเลข 02 547 4736 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หรือส่งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ cdtdft@moc.go.th และสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักมาตรการทางการค้า โทรศัพท์ 02 547 4734, 02 547 5096 หรือ 02 547 4771-86 ต่อ 4714 , 4715 และ 4756 ฟ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ