ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ ‘BBB+ (tha)’ ของหุ้นกู้มีประกันของ บมจ.วนชัย กรุ๊ป

ข่าวทั่วไป Monday September 4, 2006 15:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของหุ้นกู้มีหลักประกันชนิดทยอยชำระคืนเงินต้นของบริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ VNG ครั้งที่ 1/2546 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2551 ที่ระดับ ‘BBB+(tha)’ หุ้นกู้ดังกล่าวมี ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักรของบริษัทย่อยคือบริษัท วนชัย พาเนล อินดัสทรี่ส์ จำกัดจดจำนองไว้เป็นหลักประกัน
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำทางด้านส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศของ VNG รวมถึงการเพิ่มระดับการผลิตแบบครบวงจรโดยที่บริษัทมีโรงงานผลิตกาวซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลัก และมีการขยายการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์ขั้นต่อเนื่องของแผ่นเอ็มดีเอฟและแผ่นปาร์ติเกิ้ลซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรของบริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงแนวโน้มที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของปริมาณการบริโภคแผ่นเอ็มดีเอฟและแผ่นปาร์ติเกิ้ลทั้งของตลาดในประเทศและในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตาม VNG ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการลดลงของอัตราส่วนกำไรจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่สูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาไม้ยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักและราคาน้ำมันในช่วงสามปีที่ผ่านมา ผลกระทบดังกล่าวทำให้ความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (EBITDAR) ของบริษัทลดลงในช่วงปลายปี 2547 ถึงกลางปี 2549 แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงกลางปี 2547 ก็ตาม VNG มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (EBITDAR margin) ลดลงมาที่ระดับ 26% ในปี 2548 จาก 35% ในปี 2547 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่าลดลงมาที่ระดับ 23% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาเป็นรายไตรมาสอัตราส่วนดังกล่าวมีการปรับตัวดีขึ้นอันเป็นผลจากราคาแผ่นปาร์ติเกิ้ลที่มีทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549
VNG ยังมีความเสี่ยงจากอุปทานส่วนเกินของตลาดแผ่นไม้เพื่อใช้ทดแทนไม้ธรรมชาติ (wood-based panel) ที่สูง ทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นผลให้มีการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรง อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อเงินเหรียญสหรัฐที่มีผลกระทบเชิงลบต่อรายได้จากการส่งออก นอกจากนี้ ภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูง ถ้ายังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออุปสงค์ของแผ่นเอ็มดีเอฟและแผ่นปาร์ติเกิ้ลได้ในระยะปานกลางได้
VNG มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDAR เพิ่มขึ้นเป็น 3.4 เท่า ณ สิ้นครึ่งแรกของปี 2549 จาก 2.8 เท่า ในปี 2548 และ 2.0 เท่าในปี 2547 เป็นผลมาจากกำไรจากการดำเนินงานที่ลดลง การเพิ่มขึ้นของภาระหนี้สินเพื่อใช้ในการขยายโรงงานแผ่นเอ็มดีเอฟแห่งใหม่และการจ่ายเงินปันผลที่สูง ฟิทช์ประเมินว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDAR น่าจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ระดับ 4.0-4.5 เท่าภายในสิ้นปี 2549 แต่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งของ EBITDAR ในอนาคตหลังจากการเดินเครื่องกำลังการผลิตส่วนขยายของแผ่นเอ็มดีเอฟ ณ ปลายปี 2549 รวมถึงแผนการลงทุนใหม่ที่ลดลงอย่างมาก จะช่วยทำให้ระดับอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDAR ลดลงมาในระดับที่เหมาะสมกับอันดับเครดิต ณ ปัจจุบันของ VNG ได้ภายในสิ้นปี 2550
VNG และบริษัทย่อยในกลุ่ม เป็นผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายแผ่นเอ็มดีเอฟและแผ่นปาร์ติเกิ้ลในประเทศ โดยมีกำลังการผลิตแผ่นเอ็มดีเอฟอยู่ที่ 270,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี และแผ่นปาร์ติเกิ้ลอยู่ที่ 900,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ในครึ่งแรกปี 2549 VNG มีรายได้จากการจำหน่ายในประเทศประมาณ 40% ของรายได้รวม ส่วนที่เหลือ 60% เป็นรายได้จากการจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จำหน่ายไปยังประเทศจีน เกาหลีใต้ และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ VNG มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ กลุ่มตระกูลสหวัฒน์ และตระกูลเจริญนวรัตน์ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นในสัดส่วน 58% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ: วสันต์ ผลเจริญ, โสมศิริ ชฎาวัฒน์ม Vincent Milton, + 662 655 4755

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ