"อิคาริเทรดดิ้ง" พัฒนาสารกำจัดลูกน้ำยุงลาย ใช้"ซีโอไลท์" ปรับสภาพน้ำ ใส ปลอดภัย ไร้กลิ่น

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday April 18, 2006 14:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--สวทช.
สวทช. ส่งผู้เชี่ยวชาญถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่"อิคาริเทรดดิ้ง" ในการผลิตอาหารกำจัดลูกน้ำยุงลายสูตรใหม่ด้วยการใช้"ซีโอไลท์"ที่รับรองผลว่าออกฤทธิ์ให้ประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ใช้งานได้ยาวนานกว่า ปัจจุบันถือเป็นรายแรกและรายเดียวในโลก มั่นใจอนาคตสามารถตีตลาดได้แน่นอน หลังผ่านมาตรฐานGMPขณะที่องค์การอนามัยโลกและประเทศคู่ค้าเริ่มหันมาให้ความสนใจยิ่งขึ้น
"ยุงลาย" เป็นพาหะหลักที่นำไปสู่โรค "ไข้เลือดออก"ซึ่งมักพบว่าแพร่ระบาดในประเทศทางเขตร้อนเกือบทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยนั้นประสบปัญหาค่อนข้างมาก ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้จำนวนมาก วิธีการแก้ไขก็คือการควบคุบปริมาณยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรคด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ที่เป็รภาชนะขังน้ำในบ้าน ทั้งนี้วิธีการหนึ่งที่ได้ผลเป็นที่ยอมรับก็คือการใช้สารเคมีในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย แต่ควรระมัดระวังในการใช้และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานผ่านการรับรองทางการแพทย์เพื่อความปลอดภัยในการใช้
นายอรรณพ วงศ์ธิติโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอิคาริ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทฯเริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อปี 2546 ในการผลิตสารลูกน้ำยุงลายภายใต้เครื่องหมายการค้าถึง 5 แบรนด์ ด้วยกัน จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยผ่านตัวแทนจำหน่าย ซึ่งได้รับมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต หรือ GMP ภายใต้นโยบายการบริหารที่ชัดเจนในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน การพัฒนาคุณภาพของสินค้าและศักยภาพของพนักงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสร้างความปลอดภัยให้กับพนักงาน ลูกค้า และสิ่งแวดล้อม
"เนื่องจากสินค้าที่เป็นวัตถุอันตราย จึงต้องเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยอย่างมาก รวมไปถึงเรื่องของการควบคุมคุณภาพโดยจะมีการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอนของการผลิต โดยแบ่งเป็นการตรวจสอบระหว่างกระบวนการผลิต การตรวจสอบผลิตภัณฑ์รอบรรจุ การตรวจสอบระหว่างกระบวนการบรรจุ การตรวจสอบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายก่อนส่งมอบให้ลูกค้า นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีการตรวจสอบภาคสนามเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งดูประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยได้ทำการทดสอบจริงในหมู่บ้านต่าง ๆ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก"
นายอรรณพ กล่าวต่อว่า เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯมีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในตลาดจึงได้มุ่งเน้นการจัดทำระบบคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก 5 ส., Good Manufacturing Practice (GMP)และISO 9001 :2000
"บริษัทฯมีความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยได้ทำการติดตั้งระบบบำบัดอากาศเพื่อกรองกลิ่นที่อาจจะออกสู่ภายนอกโรงงาน การมีระบบทิ้งแบบปิด การจัดการระบบบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะมีการปล่อยสู่ภายนอก การจัดสถานที่สำหรับทิ้งขยะอันตรายอย่างเป็นสัดส่วน การสร้างเตาเผาประสิทธิภาพสูงเพื่อใช้เผาขยะทั่วไป ส่วนขยะที่ปนเปื้อนสารเคมีจะทำการจัดจ้าง
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นของบริษัทฯคือ Azai-ss สารกำจัดลูกน้ำยุงลายชนิดเม็ดเกล็ดซีโอไลท์เคลือบสารสังเคราะห์ในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ที่ผ่านการตรวจสอบประสิทธิผล จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก(WHO)ว่าใช้ในการป้องกันกำจัดยุงลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งซีโอไลท์ที่นำมาใช้นี้คือ Hydrous aluminium silicates ที่พบในหินภูเขาไฟ ปกติใช้บำบัดน้ำเสียเช่นเดียวกับถ่านมีคุณสมบัติพิเศษคือการกำจัดลูกน้ำยุงลายได้นาน 3-6 เดือน ด้วยสูตรผสมและเทคโนโลยีพิเศษ สารออกฤทธิ์มีความปลอดภัยสูงชนิดเดียวกับทรายอะเบท เมื่อใส่ลงไปในน้ำในอัตราส่วนที่เหมาะสมจะไม่มีกลิ่นเหม็น ด้วยสารดูดซับกลิ่นซีโอไลท์จากธรรมชาติ และไม่มีคราบน้ำมันปนเปื้อนบนผิวน้ำ ช่วยให้น้ำไม่ขุ่นและใสขึ้น มีการบรรจุในขนาดต่าง ๆ ตั้งแต่ 20 กรัม-25 กิโลกรัมแต่ที่สำคัญที่สุดคือการนำซีโอไลท์มาใช้ในกรกำจัดลูกน้ำยุงลายนี้บริษัทฯ ถือเป็นรายแรกในประเทศไทยและรายแรกในโลกที่นำมาใช้เพราะส่วนใหญ่จะใช้ทรายเป็นผลิตภัณฑ์แทบทั้งสิ้น
ส่วนผลิตภัณฑ์ในแบรนด์อื่น ๆ ของบริษัทฯ จะเป็นทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย เพราะยังเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งมีฤทธิ์คงทนในการควบคุมลูกน้ำยุงลายได้นานกว่า 3 เดือน เหมาะที่จะใช้ในการป้องกันกำจัดลูกน้ำยุงลายในแหล่งเพาะพันธุ์ตามภาชนะเก็บน้ำต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มีประสิทธิภาพ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่จะสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นและก้าวไปสู่การส่งออกได้ จึงคิดว่าน่าจะต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาเป็นพี่เลี้ยงเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำในการพัฒนาขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ กระทั่งได้รัความช่วยเหลือจาก โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีแนะนำกระบวนการผลิต การปรับปรุงอาคารสถานที่ อุปกรณ์การผลิต การสุขาภิบาล การทำความสะอาด โดยมีผู้เชี่ยวชาญคือ รศ.ดร. ประสาน ธรรมอุปกรณ์ อาจารย์ภาควิชาเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาควบคุมดูแลในฐานะที่ปรึกษา ภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานโรงงานตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (GMP)แก่โรงงานอุตสาหกรรมผลิตสารกำจัดลูกน้ำยุงลาย
"สิ่งที่ได้รับจาก สวทช. ที่เห็นได้ชัดคือการพัฒนาขึ้นมาเป็นบริษัทอุตสาหกรรม SMEsที่มีคุณภาพผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ภายในหนึ่งปีเศษเราก็ได้ GMP ซึ่งถือว่าเร็วเกินความคาดหมายและเราจะม่หยุดนิ่งยังคงพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องต่อไป ปัจจุบันเราขยายกำลังการผลิตจากเดิม 3 ตันต่อวัน 6-10ตันต่อวัน"นายอรรณพ กล่าวและเสริมว่า
ผลิตภัณฑ์จากซีโอไลท์ที่พัฒนาขึ้นนี้ กำลังได้รับความนิยมในระเทศทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และในอนาคตจะขยายตัวไปทางกลุ่มประเทศมุสลิมและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
"ผลิตภัณฑ์จากซีโอไลท์นี้เราต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้มากขึ้น ขณะนี้มีหลายประเทศที่ยื่นความจำนงมาให้บริษัทฯ ช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้แต่ละประเทศไปผลิตเอง แต่จุดนี้ต้องขอดูการตลาดสักระยะหนึ่งก่อนเพราะคิดว่าภายใน 10 ปีนี้น่าจะมีสิ่งที่ย้อนกลับมาในประเทศของเราก่อนที่จะให้คนอื่นไปพัฒนาตัดหน้าเรา"
ทั้งนี้สิ่งที่ บริษัทฯ ได้รับอย่างเป็นรูปธรรมในการเข้าร่วมโครงการยกระดับมาตรฐานดรงงานตามหลักวิธีการที่ดีในการผลิต(GMP)แก่โรงงานอุตสาหกรรมผลิตสารกำจัดลูกน้ำยุงลายของ สวทช. คือส่งผลให้บริษัทฯ ประสบผลสำเร็จด้านการพัฒนาบุคลากรให้เกิดทักษะและความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 85 % มีความรู้ทางเทคนิคเพิ่มขึ้น 88% มีการจ้างวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ และช่างเทคนิคเพิ่มขึ้นขณะเดียวกันผลสำเร็จทางด้านธุรกิจที่เกิดขึ้นคือ ต้นทุนในการผลิตลดลง 10% มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตเครื่องมือเครื่องจักรให้ทันสมัย มีคุณภาพสูงขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการปรับปรุงและพัฒนาห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพเพื่อช่วยลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมเรื่องกลิ่นและฝุ่นละอองอีกด้วย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการสนับสนุนในโครงการ ITAP สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2564-8000 หรือwww.nstda.or.th/itap

แท็ก สวทช.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ