นักวิชาการเร่งก.คลังคลอดภาษีสิ่งแวดล้อมออกมาบังคับใช้

ข่าวทั่วไป Friday February 19, 2010 13:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย “ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด” ยันเครื่องมือในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ใช้อยู่ไม่เพียงพอ จำเป็นที่ต้องมีกลไกใหม่ เก็บภาษีมลพิษจากแหล่งกำเนิด ปล่อยมากเสียมาก ปล่อยน้อยเสียน้อย สร้างจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอเรื่อง เครื่องมือเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม ในเวทีประชุมปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะของคนไทย ครั้งที่ 28 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิทำงานในนามสถาบันเครือข่ายทางปัญญาร่วมรับฟัง ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมว่า เป็นต้นทุนของประเทศมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีส่วนผลักดันการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในปริมาณ มาก ในอดีตประเทศไทยมีการจัดการควบคุมทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ออกมาดูแล เน้นให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมในการจะประกอบกิจการที่ส่งผลกระทบทางด้านสิ่ง แวดล้อม และมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)เป็นผู้เก็บค่าธรรมเนียม แต่ปัญหาของ พ.ร.บ. ดังกล่าว คือไม่สามารถเข้าไปแก้ไขและดูแลสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากการเก็บค่าธรรมเนียมไม่ต่อเนื่อง และเกรงกลัวอิทธิพลท้องถิ่น รวมไปถึงเกรงจะกระทบต่อฐานเสียงการเลือกตั้ง “พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีเครื่องมือสำหรับใช้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมน้อยมาก และ อปท.เองก็ไม่ให้ความร่วมมือเต็มที่ โดยไม่สามารถจัดการหลายอย่างควบคู่ไปได้ แม้ว่า ในตัว พ.ร.บ.ได้จัดตั้งกรมโรงงาน เพื่อจัดการควบคุมการปล่อยมลพิษ แต่ก็ไม่สามารถจัดการด้านมลพิษได้ทั้งหมด เพราะไม่ได้ไปควบคุมดูแลทางด้านของโรงแรม และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ แม้กระทั่งมลพิษที่ออกมาจากครัวเรือน ในส่วนกรมควบคุมมลพิษเองก็ไม่ได้มีอำนาจมากพอในการเข้าไปตรวจสอบและจับแหล่ง กำเนิดมลพิษต่างๆ จะมีหน้าที่ก็แค่เพียงดูแล ออกมาตรฐาน และจัดทำแบบฟอร์ม ควบคุม เรื่องการปล่อยของเสียด้านมลพิษเท่านั้น” ผอ.สถาบันนโยบายสาธารณะ มช. กล่าวต่อว่า ปัจจุบันคนไทยไม่ทราบว่า จะมีอะไรมาควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด หรือจะมีมาตรการจัดการกับการปล่อยมลพิษที่เกินจำกัดของแหล่งต่างๆได้ มีแค่เพียงกฎหมายที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่มีคนทำตามกฎหมาย ประเทศไทยพยายามที่จะสร้างจุดขายว่า เป็นเมืองท่องเที่ยว มีทะเลที่สวยงามมากมาย แต่เราไม่เคยกลับมามองเรื่องของสิ่งแวดล้อม คิดแต่เพียงเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่เรื่องของท้องถิ่น และที่สำคัญ ท้องถิ่นยังขาดในการเข้าไปควบคุมจัดการ และขาดงบประมาณ เพราะงบประมาณส่วนใหญ่มุ่งไปที่การพัฒนา การก่อสร้างมากกว่าการมุ่งดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม สำหรับเครื่องมือในการจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อม ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวว่า ที่เราใช้ยังมีอยู่ไม่เพียงพอ แม้ว่าเราจะมีการออกกฎหมาย ทั้งจากการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ (HIA) หรือ การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) แต่เราไม่สามารถทำตามกฎหมายที่ออกมาได้ ทำให้เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกลไกใหม่ และใช้เครื่องมือใหม่ในการหาทางออกของการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม “การใช้เครื่องมือใหม่เข้ามาช่วยในการจัดการสิ่งแวดล้อม ตอนนี้ได้มีการร่าง พ.ร.บ.เครื่องมือทางด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปอย่างเป็นระบบ โดยใช้เป็นเครื่องมือที่สามารถยืดหยุ่นและใช้จัดการมลพิษได้อย่างหลากหลาย” ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าว และว่า เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่จะนำมาใช้ ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ประกอบไปด้วย ภาษีสิ่งแวดล้อม ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ ภาษีและค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ และระบบรับซื้อคืน การวางประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม การซื้อขายสิทธิ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือสิทธิการปล่อยมลพิษ การให้เงินอุดหนุน มาตรการสนับสนุนและสิทธิพิเศษอื่นๆ ผอ.สถาบันนโยบายสาธารณะ มช. กล่าวว่า แม้การเรียกเก็บภาษีจากมลพิษจะเป็นเรื่องยาก แต่ประโยชน์ที่จะได้รับ คือ จะเป็นการปรับต้นทุนส่วนบุคคลที่ให้ส่วนรวมกลับมาสู่ตัวบุคคลมากขึ้น เพื่อนำมาจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น สร้างพฤติกรรมที่เป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยให้การปล่อยมลพิษที่มีอยู่ในอากาศอยู่ในสัดส่วนที่มีมาตรฐาน โดยจะต้องเรียกเก็บภาษีมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยใช้หลักที่ว่า หากมีการปล่อยมากก็เก็บมาก ปล่อยน้อยก็เก็บน้อย ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้บริษัทมีการปล่อยของเสียออกมาอย่างเป็นมาตรฐาน เพราะบริษัทต่างๆไม่อาจต้องการเสียภาษีในอัตราที่แพง ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวด้วยว่า การใช้เครื่องมือเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในยุคเก่านั้นรัฐบาลใช้เพื่อเก็บเงินนำมาเป็นรายได้เข้ารัฐเท่านั้น เช่น ใบอนุญาตทำการประมง ค่าธรรมเนียมรังนก ซึ่งยังมีการนำมาใช้กับการจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมน้อยมาก ในครั้งนี้หากสามารถทำได้ จะเป็นการนำเงินเข้าสู่กองทุนภาครัฐ และนำเงินที่ได้มาจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี “ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว รวมไปถึง พระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) น้ำเสียและ พ.ร.ฎ. อากาศเสีย ที่มีการร่างไว้เพื่อให้มีกฎหมายครอบคลุมถึง 2 ชั้นนั้น ได้มีการยื่นไปยังกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว แต่ทางกระทรวงการคลังยังไม่ได้พิจารณา ซึ่งเราก็ต้องมีการรอคอยกันต่อไปถึงการเกิด พ.ร.บ ฉบับนี้ในประเทศไทย”
แท็ก จุฬา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ