ทีมโรงเรียนนครพนมเจ๋ง คว้าแชมป์แผนธุรกิจแห่งชาติฯยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ข่าวทั่วไป Wednesday November 15, 2006 14:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--นิโอ ทาร์เก็ต
ทีมโรงเรียนอุ่มเหม้าประชาสรรค์ จ.นครพนม ไอเดียสุดเจ๋ง ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมเศรษฐกิจพอเพียง ซิวแชมป์แผนธุรกิจยอดเยี่ยมจากการแข่งขันประกวดแผนธุรกิจ ระดับม.ปลาย ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาฯ
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประกวดแผนธุรกิจแห่งชาติระดับ มัธยมปลาย รอบชิงชนะเลิศ ในโครงการ “สร้างเสริมผู้ประกอบการSMEs รุ่นเยาว์” ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยบรรยากาศการประกวดเป็นไปอย่างคึกคัก มีบรรดานักเรียนกว่า 300 คน จากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 60 โรงเรียน พร้อมด้วยผู้ปกครองและประชาชนที่สนใจมาร่วมให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก
โดยผลการตัดสินในวันนั้น ปรากฏว่าทีม “ไผ่เงินไผ่ทอง” ซึ่งประกอบด้วย น.ส.วาสนา คำมุงคุณ น.ส.วิภาดา รูปงาม น.ส.กมลชนก อุ่นชัย น.ส.จริยา มาตราช และน.ส.ดวงฤทัย แสงสุวรรณ จากโรงเรียนอุ่มเหม้าประชาสรรค์ จ.นครพนม คว้ารางวัลชนะเลิศแผนธุรกิจแห่งชาติ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม “ธัญญาหารเสวย” จากโรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา จ.สุโขทัย ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม “น้ำสมุนไพร” จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ทีม “บ้านปลา” จากโรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม จ.สุโขทัย ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท
ทั้งนี้ น.ส.วาสนา คำมุงคุณ นักเรียนชั้น ม.6 หนึ่งในสมาชิกของทีม “ไผ่เงินไผ่ทอง” อธิบายถึงแผนธุรกิจของทีมตนเองว่า สินค้าของพวกตนคือ นกไผ่น้อย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ไผ่รวกที่มีอยู่เป็นจำนวนมากภายในโรงเรียนที่มีเนื้อที่กว่า 20 ไร่ และปลูกทิ้งไว้กว่า 20ปีแล้ว จึงเกิดแนวคิดที่จะนำไม้ไผ่เหล่านี้มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ได้แก่ กล่องใส่ของรูปนก นกใส่ไม้จิ้มฟัน แจกันนก และโคมไฟนก โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากทางโรงเรียนและคณะครู ในการให้คำปรึกษาในการออกแบบ การผลิต ตลอดจนการจำหน่ายในราคาถูกผ่านสหกรณ์ชุมชน ร้านค้า สถานที่ท่องเที่ยวในตำบล
“ในการทำงาน เรามีการแบ่งหน้าที่กันทำตามความถนัดของแต่ละคน มีการทำงานเป็นทีมกระบวนการดำเนินงานทั้งหมดจะมีการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น และวางแผนร่วมกันทุกครั้ง มีการนัดหมายจัดหาวัตถุดิบ แปรรูป ตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพของสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดก่อนส่งออกให้ตัวแทนจำหน่าย และถึงแม้ว่าเราจะมีเพียง 5 คน แต่เราก็ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ปกครอง เพื่อนๆ และคุณครู รวมถึงท่านผู้อำนวยการของโรงเรียนฯ เป็นอย่างดีในการให้คำแนะนำต่างๆ เช่น การวางแผนธุรกิจ แผนการตลาด ช่องทางจัดจำหน่ายทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนตลอดจนให้กำลังใจ” น.ส.วิภาดา รูปงาม นักเรียนชั้น ม.5 กล่าวเสริม
ผศ.ดร.ดนุชา คุณพนิชกิจ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะกรรมการกล่าวว่า แผนธุรกิจของผู้เข้าประกวดในปีนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก หลายๆ ทีมสามารถนำเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น มาผสมผสานกับทักษะของตนเอง พัฒนาจนเป็นสินค้าและบริการเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมในเชิงพาณิชย์ ซึ่งธุรกิจขนาดเล็กจะอยู่รอดได้ต้องความโดดเด่นไม่ใช่เพียงต้นทุนที่ต่ำเพียงอย่างเดียว ดังจะเห็นได้จากแผนธุรกิจของทีมที่ชนะเลิศ และรองทั้ง 3 โรงเรียน จะเป็นแผนธุรกิจที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและหลายทีมก็มีการจำหน่ายจริงไปแล้วในชุมชนของตน ซึ่งในอนาคตสามารถพัฒนาขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นเป็นธุรกิจประจำท้องถิ่นได้”
“โดยส่วนตัวเห็นว่าหากมีการสนับสนุนเรื่องทุนจากรัฐบาล นักธุรกิจรุ่นเยาว์เหล่านี้สามารถพัฒนาแผนธุรกิจของตนเพื่อนำไปประกอบอาชีพและสร้างประโยชน์ให้ชุมชนประเทศชาติต่อไปได้ไม่น้อย” ผศ.ดร.ดนุชา กล่าวเสริม
สำหรับการแข่งขันประกวดแผนธุรกิจธุรกิจฯ ครั้งนี้ อยู่ภายใต้โครงการ “สร้างเสริมผู้ประกอบการ SMEs รุ่นเยาว์” อันเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้เปิดรับสมัครนักเรียนระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่าสายสามัญจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อเข้าร่วมอบรมและฝึกเชิงปฏิบัติการตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีนักเรียนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการนี้กว่า 5,000 คน จาก 119 โรงเรียนทั่วประเทศ และหลังจากการอบรมเสร็จสิ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 มีผู้เข้าแข่งขันส่งแผนธุรกิจเข้าประกวดทั้งสิ้น 232 ทีม โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสสว. และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ได้พิจารณาคัดเลือกแผนธุรกิจที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และความเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยยึดแนวพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงพิจารณาเหลือทั้งสิ้น 60 แผน จากภาคต่างๆ ทั่วประเทศ และตัดสินรอบชิงชนะเลิศจนได้ผู้ชนะทั้ง 4 ทีมดังที่กล่าวขั้นต้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด
อัญ ถังทอง / อภิวรรณ คงวิริยะวศิน
0-2631-2290-5 ต่อ 307/304
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ