“สภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย” เปิดตัวครั้งแรกในเมืองไทยตั้งเป้าสร้างดัชนีความสุข “ผู้ป่วยโรคหืด” เป็นของขวัญปีใหม่

ข่าวทั่วไป Thursday December 21, 2006 08:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--กู๊ด มอร์นิ่ง มันเดย์
“สภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย” เปิดตัวครั้งแรกในเมืองไทยตั้งเป้าสร้างดัชนีความสุข “ผู้ป่วยโรคหืด” เป็นของขวัญปีใหม่เผยเตรียม รณรงค์แพทย์ทั่วไทย ใช้แนวการรักษาใหม่ล่าสุดของโลก
องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโรคหอบหืด ได้ร่วมกันประกาศเปิดตัว “สภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย — Thai Asthma Council”หรือ TAC ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ตั้งเป้าเผยแพร่แนวการรักษาใหม่ ๆ ไปสู่แพทย์ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดใช้ชีวิตอย่างปกติสุข เผยปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยโรคหืดกว่า 4 ล้านคน ชี้โรคหืดรักษาให้ใช้ชีวิตปกติสุขได้ แต่หากไม่ดูแลตัวเองอย่างถูกต้องก็อาจเสียชีวิตได้
ศ.นพ. ประพาฬ ยงใจยุทธ ประธานสภาโรคหอบหืดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของราชวิทยาลัย สมาคม สถาบัน และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยโรคหืดในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้มาตรฐานสากล รวมทั้งกระตุ้นให้มีการตื่นตัวต่อผลกระทบของโรค และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม”
ศ.นพ. ประพาฬ กล่าวต่อไปว่า “การก่อตั้ง TAC จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อบุคลการทางการแพทย์ผู้เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วยโรคหืด และผู้ป่วยหืด โดยเฉพาะในเบื้องต้นนี้ TAC จะนำแนวทางการรักษาโรคหืดใหม่จาก องค์กรด้านสุขอนามัยระดับโลกหรือ GINA (The Global Initiative for Asthma) ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ประกาศกลยุทธ์ระดับโลกในการดูแลรักษาและป้องกันโรคหืดที่มุ่งการควบคุมโรคหืด ออกเผยแพร่ให้กลุ่มแพทย์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดนำไปปฏิบัติ โดยหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้แพทย์และผู้ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดทั้งประเทศจะใช้แนวการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่มีเป้าหมายการรักษา ให้ผู้ป่วยโรคหืดให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยไม่เน้นระดับอาการของผู้ป่วย เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยหืดคือ การสามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติทั่วไปโดยไม่มีอาการของโรคอีกต่อไป”
โดย สภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย หรือ TAC จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางที่มุ่งส่งเสริม พัฒนา แลกเปลี่ยน และเผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับการควบคุมโรคหืดไปสู่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดถึง กลุ่มแพทย์และผู้มีส่วนดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืด หน่วยงานองค์กรด้านโรคหืด ผู้ป่วยโรคหืดและครอบครัว รวมทั้งประชาชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย เพื่อให้มีการดูแลรักษาไปในทิศทางเดียวกันและยกมาตรฐานการรักษาโรคหืดไปสู่แพทย์และผู้เกี่ยวข้องในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้มีการก่อตั้ง สภาองค์กรโรคหืดของชาติขึ้นมาแล้ว อาทิ ออสเตรเลีย และมาเลเชีย
TAC เผยคนไทยร้อยละ 5 เสียชีวิตด้วยโรคหืดทุกปี
ชี้ “โรคหืด” เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ วัย ในทุกช่วงอายุ
ทั้งนี้ จากรายงานการสำรวจควบคุมโรคหืดในประเทศไทย พบว่าผู้ป่วยในไทยได้รับความทรมานจากการเจ็บป่วยมาก รวมทั้งมีอัตราการเข้าพักรักษาในโรงพยาบาล และเข้ารักษาที่ห้องฉุกเฉินมากกว่าเมื่อเทียบกับผลสำรวจในยุโรป และของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีอัตราการป่วยและเสียชีวิตสูง ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากการขาดการรักษาเชิงป้องกัน นอกจากนี้ยังพบว่าในรอบ 1 ปีเด็กวัยเรียนประมาณ 10-13% มีอาการจับหืด โดยร้อยละ 5 ของผู้ป่วยโรคหืดจะเสียชีวิตจากอาการของโรค
ข้อมูลสำคัญอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับโรคหืดคือ โรคหืดไม่ใช่โรคติดต่อแต่อาจจะถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์จากพ่อแม่ไปสู่ลูกหลานได้ ข้อสำคัญคือคนปกติที่ไม่เคยเป็นโรคหืด ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ในภายหลังหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนเอื้อต่อการเป็นโรคหืด
จำนวนผู้ป่วยโรคหืดทั่วโลกมีประมาณ 300 ล้านคน (ที่มา www.ipst.ac.th /Thai Version/publications /in_sci/asthma.html) จำนวนผู้ป่วยในประเทศไทยจากการสำรวจล่าสุด พบว่ามีผู้ใหญ่เป็นโรคหืด (ช่วงอายุ 20-44 ปี) ประมาณร้อยละ 4 - 6 % ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 4 ล้านคน ในบรรดาผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหืด โรคหืดในเด็กในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 เมื่อปี 2530 เป็นร้อยละ 13 ในปี 2540 และเป็นร้อยละ 9.5 ในเด็กอายุ 6 — 12 ปี และ 5% ในเด็กอายุ 12 — 18 ปี จากการสำรวจในปี 2548 - 2549
TAC เตรียมเผยแพร่แนวการรักษาโรคหืดล่าสุดของโลกพร้อมแนะนำ ACT แบบวัดผลการดูแล “โรคหืด”สู่ผู้ป่วย
ศ.นพ. ประพาฬ กล่าวต่อไปว่า “สภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย จะนำกิจกรรมหลากหลายเพื่อให้ความรู้ กระตุ้น และรณรงค์ให้เกิดการควบคุมโรคหืดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามแนวทางการรักษาโรคหืดใหม่ล่าสุดที่ได้รับการยอมรับและเผยแพร่ไปทั่วโลก (GINA guideline) ไปสู่ทั้งหน่วยงานและองค์กรที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืด กลุ่มแพทย์ และผู้ป่วยโรคหืดและครอบครัวทั่วประเทศ และจะเป็นหน่วยงานงานที่เชื่อมโยงและประสานความรู้และความร่วมมือให้กับองค์กรโรคหืดทั้งหมดในประเทศไทย”
โดยในเบื้องต้นเราจะนำเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจวัดผลการควบคุมโรคหืดของผู้ป่วยที่เรียกว่า Asthma Control Test หรือ ACT มาใช้ ซึ่งจะทำให้แพทย์เข้าใจสภาวะของผู้ป่วยโรคหืดได้ทันที และสามารถให้การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยแบบประเมินผลนี้ทั้งแพทย์และผู้ป่วยสามารถหาได้จากเวปไซด์ www.asthmacontrol.com ” ศ.นพ. ประพาฬ กล่าวในท้ายที่สุด
นอกจากนี้ TAC ยังเตรียมแผนกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยทุกคนได้รู้จักโรคหืด และมีวิธีการดูแลตัวเองไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยโรคหืด รวมทั้งกิจกรรมเพื่อผู้ป่วยโรคหืด และครอบครัวของผู้ป่วยโรคหืด เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยหืดสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมทั้งแผนการสัมมนา ประชุม และอบรมแพทย์และผู้เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคหืด เพื่อให้เกิดการดำเนินงานและการรักษาไปในแนวทางเดียวกัน อันจะทำให้การรักษาโรคหืดในประเทศไทยพัฒนาก้าวขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ สมาคมองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนเบื้องต้นจากบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค ในการก่อตั้งองค์กรและการจัดกิจกรรมการสัมมนา ประชุม และอบรมแพทย์ รวมตลอดถึงกิจกรรมเพื่อผู้ป่วยโรคหืดต่าง ๆ โดยสมาคมองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ยังมีเป้าหมายที่จะจัดหาความร่วมมือเพิ่มเติมจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อร่วมสร้างมาตรฐานการรักษาโรคหืดในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น
โรคหืด เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม มีผลทำให้ผนังของหลอดลมผู้ป่วยมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารภูมิแพ้และสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนปกติ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกมาประกาศเตือนแล้วว่า โรคหืดเป็นโรคที่กำลังคุกคามประชากรทั่วโลก และส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต การทำงาน หรือการเรียนของผู้ป่วย และเนื่องจากโรคหืดเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ จึงยิ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกควรรู้จักและให้ความสนใจ
สื่อมวลชนที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ภรณ์ธณัฐ สถิรกุล , ฐิภา จิ๋วแก้ว
ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท กู๊ด มอร์นิ่ง มันเดย์ จำกัด
โทร. 02-953-9625 ต่อ 801 , 806 หรือ 02-953-9905
อีเมล์ gmmonday2020@gmail.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ