กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--ปภ.
สถานการณ์ภัยแล้งครอบคลุมแล้วทั่วประเทศ 39 จังหวัด เสียหายไม่ต่ำกว่า 180 ล้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบสูงสุด 17 จังหวัด ทางการระดมให้ความช่วยเหลือเต็มที่ทั้งจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร เขิญชวนประชนให้ช่วยกันประหยัดน้ำและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึง สถานการณ์ภัยแล้งว่าขณะนี้ได้เริ่มขยายวงกว้าง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว 39 จังหวัด รวม 235 อำเภอ 27 กิ่งอำเภอ 1,525 ตำบล 14,474 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 1,167,615 ครัวเรือน 4,786,384 คน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุด 17 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ยโสธร มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น อุดรธานี เลย นครพนม ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ และสุรินทร์ (10,418 หมู่บ้าน) ภาคเหนือ จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ลำพูน แพร่ อุทัยธานี เชียงราย กำแพงเพชร ตาก ลำปาง เพชรบูรณ์ น่าน พิจิตร อุตรดิตถ์ และสุโขทัย (2,740 หมู่บ้าน) ภาคตะวันออก จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี (213 หมู่บ้าน) ภาคกลาง จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี และราชบุรี (91 หมู่บ้าน) ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ สตูล (12 หมู่บ้าน) คิดเป็นร้อยละ 31.98, 16.80, 4.42, 0.80 และ 0.14 ของหมู่บ้านทั้งประเทศ ตามลำดับ
พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายแล้ว 918,987 ไร่ แบ่งเป็น นาข้าว 727,761 ไร่ พืชไร่ 182,946 ไร่ พืชสวน 7,980 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 187,258,693 บาท และคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 1,948,788 ไร่ มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 389,433,989 บาท
สำหรับการให้ความช่วยเหลือ สำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย ได้แจ้งให้จังหวัดที่ประกาศให้ภัยแล้งเป็นภัยพิบัติฉุกเฉินแล้ว ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทันที โดยให้ความช่วยเหลือในเรื่องน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก ให้อำเภอและกิ่งอำเภอรับผิดชอบการจัดทำแผนและวงรอบการแจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยใช้สถานที่ของโรงเรียน วัด โบสถ์ มัสยิด หรือสถานที่เหมาะสมเป็นจุดรับและแจกจ่ายน้ำให้เพียงพอและทั่วถึง รวมทั้งให้จัดหาแหล่งน้ำสำรอง ให้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง ด้วยการสร้างทำนบหรือฝายชั่วคราว หากจำเป็นต้องสูบน้ำจากแหล่งน้ำอื่น หรือขุดลอกระบายน้ำเพื่อเปิดทางน้ำ เพื่อผันน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร หากจะเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างแท้จริง ให้สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการดังกล่าว สำหรับผลผลิตที่ได้รับ ความเสียหาย ให้ประสานขอรับความช่วยเหลือไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือมายัง พี่น้องประชาชนให้ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด แนะนำข้อมูลในการแก้ไขภัยแล้งที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนแก่ทางการ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่าง ตรงจุดและยั่งยืน และหากต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในเขตพื้นที่ของท่าน หรือ โทร 1784 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ ตลอด 24 ชั่วโมง--จบ--