สป.จัดประชุมหารือการใช้สนามบินดอนเมือง เน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมศึกษาผลกระทบ

ข่าวทั่วไป Friday October 27, 2006 11:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--สป.
สภาที่ปรึกษาฯ (สป.) จัดประชุมหารือเกี่ยวกับการใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยกำหนดประเด็น เพื่อการใช้ประโยชน์จากอาคารสำนักงานที่อยู่ในสนามบินดอนเมือง โดยไม่ปล่อยให้รกร้างและขาดการดูแลรักษา รวมทั้ง การใช้ประโยชน์ในโครงการทางการบินต่าง พร้อมการใช้ประโยชน์จากระบบสาธารณูปโภคเพื่อนำมาใช้อย่างเหมาะสม และผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากการย้ายไปใช้สนามบินสุวรรณภูมิ โดยพิจารณาจากสภาพแวดล้อม ชุมชนรอบสนามบินสุวรรณภูมิ และการคมนาคมขนส่ง
ทั้งนี้ เพื่อกำหนดแผนงานในการศึกษาเพื่อจัดทำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อสภาที่ปรึกษาฯ เพื่อต่อคณะรัฐมนตรี ต่อไป
คณะทำงานโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมและพลังงาน สภาที่ปรึกษาฯ (สป.) จัดประชุมหารือเกี่ยวกับแผนงานการศึกษาเพื่อจัดทำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการประชุมครั้งนี้ คณะทำงานโครงสร้างพื้นฐานฯ สภาที่ปรึกษาฯ ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อาทิ ผู้แทนจากกองทัพอากาศ กรมการขนส่งทางอากาศ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด
นายโอกาส เตพละกุล ประธานคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐานฯ สภาที่ปรึกษาฯ กล่าวถึง วัตถุประสงค์ของหารจัดประชุมหารือในครั้งนี้ว่า คณะทำงานฯ ได้เล็งเห็นว่า ในปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เปิดให้บริการแทนท่าอากาศยายกรุงเทพ (ดอนเมือง) ซึ่งได้ดำเนินการโยกย้ายกิจกรรม ทั้งด้านการพาณิชย์ การบินพาณิชย์เที่ยวพิเศษเช่าเหมาลำ เครื่องบินส่วนบุคคล และเครื่องบินสินค้าอื่นๆ ไปยังสนามบินสุวรรณภูมิหมดแล้วนั้น จึงควรมีการศึกษาการใช้ประโยชน์จากท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
โดยประเด็นในการหารือร่วมกันในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. การใช้ประโยชน์จากอาคารสำนักงานที่อยู่ในสนามบินดอนเมือง โดยไม่ปล่อยให้รกร้างและขาดการดูแลรักษา รวมทั้ง 2. การใช้ประโยชน์ในโครงการทางการบินต่างๆ เช่น หอควบคุมการบิน สนามบิน 3. การใช้ประโยชน์จากระบบสาธารณูปโภคที่มีอยู่ภายในสนามบินดอนเมือง ในการนำมาใช้อย่างเหมาะสม และ 4. ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากการย้ายไปใช้สนามบินสุวรรณภูมิ โดยพิจารณาจากสภาพแวดล้อม ชุมชนรอบสนามบินสุวรรณภูมิ และการคมนาคมขนส่ง
จากประเด็นในการหารือข้างต้น ร้อยตรีอนันต์ คงยืน ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการท่าอากาศยาน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด กล่าวว่า ในขณะนี้ การท่าอากาศยาน ได้ดำเนินการอยู่ 2 ด้าน คือ ด้านกายภาพ โดยมีกิจกรรมด้านการบิน การการบินพาณิชย์ ซึ่งมีหน่วยงานที่รองรับการดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ มีทั้งคลังสินค้าของบริษัทเอกชนและบริษัทของคนไทยดำเนินการอยู่ ส่วนด้านการบิน การท่าอากาศยาน ได้ดำเนินการอยู่ เนื่องจากมีสายการบิน Low Cost มาใช้บริการสนามบินดอนเมืองอยู่ ซึ่งการท่าอากาศยานยังมีเครื่องมือรองรับ รวมทั้ง การรักษาความปลอดภัย ส่วนหน้าที่สำคัญในขณะนี้ คือ โดยการท่าอากาศยานร่วมกับกองทัพอากาศ เพื่อการรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันทรัพย์สินสูญหาย
ด้าน ผู้แทนอธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ กล่าวว่า จากนโยบายที่ต้องการให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการบินแห่งอาเซียน ที่ไม่เพียงรองรับเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการบินเพียงอย่างเดียว ยังต้องรองรับกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการบินอื่นๆ โดยให้ความเห็นอีกว่า ควรมีการพัฒนาสนามบินดอนเมือง ให้เป็นศูนย์กลางของการท่าอากาศยานของไทย รวมทั้ง การเป็นศูนย์กลางการซื้อ — ขาย — สร้าง ทางอากาศยาน นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้มีการผลิตอะไหล่และศูนย์อากาศยานขนาดเล็กในประเทศไทย โดยใช้พื้นที่ด้านทิศใต้ที่เป็นสถานที่เก็บสินค้าเก่า ทั้งนี้ ควรมีแนวทางการพัฒนาสนามบินดอนเมืองที่ชัดเจน ในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการบินภายในประเทศ
ส่วน นายวีรพงศ์ พงศ์ไพฑูรย์ ผอ.ฝ่ายการวางแผนการโดยสาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากสนามบินดอนเมืองให้เกิดประโยชน์ว่า บริษัท การบินไทย จำกัด ได้มีการวางแผนการโดยสารการบินให้เป็นเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ สนามบินดอนเมือง ยังมีหน่วยธุรกิจที่ยังดำเนินการอยู่ ได้แก่ ศูนย์การซ่อมบำรุงการบิน ครัวการบินไทย ที่ผลิตอาหารให้กับสายบินไทย และสายการบินต่างประเทศ รวมทั้ง คลังสินค้าต่างๆ นอกจากนี้ บริษัท การบินไทย ยังมีการวางแผนด้านการผลิตอะไหล่ เพื่อรองรับเครื่องบินที่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นในอนาคต แต่ทั้งนี้ การดำเนินการต่างๆ ของบริษัท การบินไทย ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายการดำเนินงานของรัฐบาล ในการบริหารจัดการสนามบินดอนเมือง
นายสุรศักดิ์ วานิชกิจ สมาชิกคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐานฯ สภาที่ปรึกษาฯ ให้ความเห็นว่า สนามบินดอนเมือง ควรยังต้องดำเนินการต่อไป โดยทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญกับสนามบินดอนเมือง แต่เนื่องจาก ขณะนี้ ยังไม่มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน รวมทั้งเห็นว่า หาสนับสนุนให้สายการบิน Low Cost มาใช้บริการ จะทำให้ได้รับประโยชน์ แต่ควรมีการศึกษาด้านการดำเนินการให้ละเอียดเสียก่อน
ด้านผลกระทบ นายสุรศักดิ์ เห็นว่า ควรมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านธุรกิจ โดยรอบสนามบินดอนเมือง ซึ่งควรมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และด้านธุรกิจ และควรมีการวางแผน การดำเนินการจัดการ และการมีเจ้าภาพในการใช้สนามบินดอนเมืองอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม คณะทำงานโครงสร้างพื้นฐานฯ จะได้ดำเนินการจัดหาข้อมูล รวมทั้งการจัดประชุมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมกำหนดแผนงานในการศึกษาเพื่อจัดทำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อสภาที่ปรึกษาฯ เพื่อต่อคณะรัฐมนตรี ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ